ใดใดในโลกล้วนโมเลกุลาร์

Ponlawoot Raksat
Molecularism
Published in
1 min readMay 25, 2020

“มีโลกของโมเลกุลาร์ ซ้อนอยู่ในสรรพสิ่งรอบตัวเรา”

นี่เป็นความคิดที่เกิดทุกครั้งเวลามีคนถามผมว่า “โมเลกุลาร์คืออะไร (วะ)”

เวลาพูดถึง ‘โมเลกุลาร์’ หลายคนมักจะนึกถึง อะไรที่มันเล็กๆ นึกถึงโมเลกุล อะตอม นึกถึงไวรัส
ซึ่งนั่นก็ไม่ผิด โมเลกุลาร์นั้นเกี่ยวข้องกับ สิ่งเล็กๆ แน่นอน

แต่แค่ ‘สิ่งเล็กๆ’
แค่ส่องกล้องขยายให้ ‘มองเห็น’ สิ่งเล็กๆ
ยังไม่ใช่ใจความทั้งหมดของ ความเป็นโมเลกุลาร์

โมเลกุลาร์ เหมือนเป็นวิถีในการมองโลกแบบหนึ่ง เป็นแนวทางในการทำความเข้าใจและอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ลงลึกไปถึงระดับโมเลกุล

เมื่อมองอะไรก็ตามผ่านสายตาของโมเลกุลาร์ 👀 เราสามารถเห็นสิ่งเดียวกันในเวอร์ชั่นที่ละเอียดกว่า ซับซ้อนกว่า เห็นกลไกเบื้องลึกเบื้องหลังของสิ่งนั้นจนถึงระดับโมเลกุล

ถ้าเรามองตัวเราด้วยโมเลกุลาร์ เราก็จะเห็นการทำงานของร่างกาย การทำงานของเซลล์ เห็นกลไกต่างๆ ที่ขับเคลื่อนกิจกรรมในระดับโมเลกุล

การกิน จะไม่จบแค่ เอาอาหารใส่ปาก 👄 เคี้ยวๆ กลืน อิ่ม … อาห์
แต่จะมองต่อไปว่าไอ้ที่กินเข้าไป — ถูกย่อยด้วยเอนไซม์อะไร
- เกิดปฏิกิริยาเคมีอะไรบ้าง
- ได้สารเคมีอะไรออกมา
- ร่างกายดูดซึมไปใช้ยังไง
- ตอนที่รู้สึกหิว รู้สึกอิ่ม มีกลไกอะไรควบคุม
ฯลฯ

ในขณะที่บางอย่าง เราไม่สามารถทำความเข้าใจมันได้เลย ถ้าไม่มองด้วยโมเลกุลาร์
เช่น ไวรัส เพราะขนาดตัวของไวรัสมันอยู่ในสเกลระดับโมเลกุล ถ้าไม่มองและทำความเข้าใจกลไกของมันในระดับโมเลกุล
เราก็จะหลงเข้ารกเข้าพง มองเป็นพิษบ้าง เป็นคำสาปบ้าง

เราสามารถมองสิ่งใดๆ ด้วยสายตาของโมเลกุลาร์
เมื่อเรามองชีวิตแบบโมเลกุลาร์ พยายามศึกษาทำความเข้ากลไกของชีวิตในระดับโมเลกุล
จึงเกิดเป็นวิชา Molecular Biology หรือชีววิทยาระดับโมเลกุล
ขอบเขตของมันจึงทั้งกว้างและลึก ขึ้นอยู่กับเรามีปัญญามองลึกลงไปสังเกตได้ละเอียดขนาดไหน

เวลาเราอ่านข่าวหรืองานวิจัยที่เกี่ยวกับ Molecular Biology
จะพบว่ามันเต็มไปด้วยชื่อประหลาด ศัพท์แสงพิสดาร
จนหลายคนคิดว่า มันพูดอะไรของมันวะเนี่ย เหมือนพูดภาษาต่างดาว 👽
หลายคนจึงรู้สึกว่า โมเลกุลาร์เป็นเรื่องโคตรยากเกินจะเข้าใจ ทั้งที่จริงแล้ว…..เอ่อ……มัน.ก็ยากจริงๆ -_-”

เอาเป็นว่า ถ้าแค่ทำความเข้าใจว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้าง มันไม่ได้ยากขนาดนั้น
เพราะส่วนใหญ่มันก็คือปรากฎการณ์ที่อยู่ในตัวเรา รอบๆ ตัวเรา เพียงแค่มันละเอียดขึ้นเท่านั้นเอง

หลักๆ ของ Molecular Biology ก็แค่ทำความเข้าใจว่า
โมเลกุลของร่างกายสิ่งมีชีวิตขยับเขยื้อนยังไง และปฎิสัมพันธ์กับปัจจัยข้างนอกยังไง

แสงแดดส่องไปที่ใบไม้ เกิดอะไรขึ้นข้างในนั้น ไอ้ที่เราเคยเรียกว่าสังเคราะห์ด้วยแสง มันมี [เอนไซม์] อะไร ถูกกระตุ้นบ้าง กว่าจะสังเคราะห์เป็นสารอาหารออกมา

แม้แต่เรื่องเงี่ยนๆ อย่างกระต่ายเอากัน 🐇 ก็ยังมองด้วยมุมมองของโมเลกุลาร์ได้เลย
[โปรตีน] ในหางของอสุจิโบกพริ้วยังไง [ดีเอ็นเอ] ในหัวอสุจิไปหลอมรวมกับดีเอ็นเอในเซลล์ไข่ยังไง

สิ่งที่ดูจะเป็นปัญหาแรกสุดสำหรับคนที่พยายามศึกษาโมเลกุลาร์คือ [ชื่อเฉพาะ]
คือ เวลาที่มีกล่าวถึงชื่อเฉพาะแบบ [โปรตีน] [ดีเอ็นเอ] [เอนไซม์] [คาร์โบไฮเดรต][รีเซปเตอร์] [#$%^&]
ล้วนเป็นชื่อโมเลกุลอะไรซักอย่าง แต่คนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้คุ้นเคยกับศัพท์พวกนี้ จะนึกภาพไม่ออก

พอไม่มีภาพจำที่ถูกต้องของชื่อเฉพาะพวกนี้ การทำความเข้าใจว่าแต่ละสิ่งมันประกอบประสานกันขึ้นมาเป็นกลไกยังไง ก็เลยเป็นเรื่องยาก จินตนาการไม่ออกว่าตกลงมันทำงานยังไงกันแน่

แต่ด้วยความเมามาย…ในโมเลกุลาร์ ทำให้เราอยากจะหยิบเอาเรื่องราวในโลกของโมเลกุลาร์มาเล่า มาถ่ายทอดในแบบเมาๆ
ย่อยเนื้อหาให้เข้าใจได้แม้จะไม่ได้เรียนทางด้านวิทยาศาสตร์มาโดยตรง
ใช้ภาพการ์ตูนเพื่อสื่อสารไอเดียบางอย่างที่จินตนาการได้ยาก

ด้วยความหวังว่าจะมีคนดื่มด่ำกับโมเลกุลาร์ไปกับเรา 🍺

และสุดท้าย
ถึงโมเลกุลาร์จะเล็ก แต่ผมไม่เล็กนะครับ

ภาพจากงานวิจัยต่างๆ

https://www.thinglink.com/scene/884563659567661057

https://phil.cdc.gov//PHIL_Images/23312/23312.tif

https://open.library.ubc.ca/cIRcle/collections/ubctheses/24/items/1.0314322

https://science.sciencemag.org/content/360/6387/eaar1968/tab-figures-data

--

--