ถ้าไม่มี App Store เมื่อ 15 ปีก่อน ก็ไม่มี Muze Innovation ในวันนี้…

Tanyathorn Khunapinya
Muze Innovation
Published in
2 min readJul 26, 2023

แชร์ประสบการณ์การสร้างแอปฮิตติดอันดับ 1 ใน App Store ก้าวแรกของการเป็น Tech Partner โดย พี่บี-พีรณัฏฐ์ CEO ของ Muze

Peeranat Thoonsaengngam (CEO & Founder of Muze Innovation)

เนื่องในโอกาสที่เดือนนี้ เป็นเดือนครบรอบ 15 ปีของ App Store ที่เปิดตัวออกมาครั้งแรกในวันที่ 10 กรกฎาคม ปี 2008 Muze เลยอดไม่ได้ ชวนพี่บี CEO (Peeranat Thoonsaengngam) ของเรามาเล่าถึงแอปพลิเคชั่นที่สร้างชื่อให้กับ Muze เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้วให้กลายเป็นแอปที่คนฮิตไปทั่วโลก

ซึ่งแอปที่ว่า คือ Muze Music Player ที่ขอเล่าหยอดไว้สั้น ๆ ว่า จะเรียกว่าเป็นแอปที่มาก่อนกาลของเหล่าแอปสตรีมมิ่งเพลงที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้เลยก็ว่าได้!

เล่าย้อนกลับไปสมัย Y2K หรือปี 2000 ต้น ๆ ในยุคที่แวดวง Software Development ยังมีแต่ยักษ์ใหญ่เพียงไม่กี่เจ้า ส่วนอุตสาหกรรมเทคในไทยก็ยังผูกติดอยู่กับการทำ Software ให้กับภาครัฐ หรือภาคเอกชนใหญ่ ๆ เสียเป็นส่วนมาก ส่วนเทคในชีวิตประจำวัน ถ้าใครพอจะจำได้ ก็มีมือถือรุ่นฮิตอย่าง Nokia ตามมาด้วย Blackberry ที่มีแอปแบบ Built-in ล็อกไว้ในเครื่อง หรือพวก Google, Facebook และ YouTube ก็มีเข้ามาแล้ว ซึ่งทุกอย่างยังต้องเข้าผ่านคอมพิวเตอร์ทั้งหมด

ณ ตอนนั้น พี่บีเป็น Developer คนหนึ่ง ที่มีความฝันอยากทำ Product ที่เป็นของตัวเอง และเป็น Product ที่ User รัก แต่สมัยนั้นไม่ง่ายเลยในการจะคิดขึ้นมาสัก Product สำหรับคอมพิวเตอร์ที่คนจะอยากเปิดมาใช้ ไหนจะต้องทำให้เป็นที่รู้จักมากพออีก ความฝันที่ว่าจึงยังไม่สามารถเกิดขึ้นจริงได้ ด้วยความที่ยังไม่มีโอกาส เวลา และที่สำคัญ “พื้นที่” ให้ลงมือทำ

จนกระทั่งการเข้ามาของ App Store ในปี 2008 เหมือนเป็นใบเบิกทางให้กับ Developer ทุกคน ไม่ว่าจะรายใหญ่ รายย่อยได้เข้ามาปล่อยของกัน พี่บีเล่าว่าความพิเศษของ App Store ในตอนนั้น ไม่ใช่ว่าเจ้าอื่นที่ทำ Smart Phone ไม่เคยพยายามจะทำอะไรแบบนี้ แต่ Apple เป็นเจ้าแรกที่สามารถพัฒนา Hardware อย่าง Multiple Touchscreen ในมือถือได้ออกมาเนี้ยบกริบ ทำให้สามารถรองรับการสร้างแอปดีกว่าเจ้าอื่นจนทิ้งห่างแบบไม่เห็นฝุ่น แล้วเป็นเจ้าแรกที่ให้ App Store เป็น “พื้นที่ของใครก็ได้” ที่อยากเขียนแอปและนำเสนอ Product ตัวเองสู่ User จำนวนมหาศาล

แน่นอนว่าพี่บีอยากทำแอปตั้งแต่วันแรกที่เห็น Steve Job ออกมาเปิดตัว App Store แต่แอปแรกของพี่บีนั้นใช้เวลากว่า 5 ปีถึงจะพัฒนาออกมาได้ เพราะไหนจะต้องรอเครื่อง Apple เข้าไทยอย่างเป็นทางการ และไหนจะต้องฝึกเขียนแอปในโปรแกรมของ App Store ระหว่างที่ทำงานตัวเองไปด้วย ช่วงนั้นพี่บีเล่าว่า Launch ออกไปเยอะมาก นับไปนับมาสรุปอยู่ที่ 20 กว่าแอป!!!

โดยหลักการเดียวในการสร้างแอปของพี่บี คือ “อะไรที่เราเจอว่าเป็นปัญหาในชีวิต เราลองเขียนแอปแก้หมด” ตัวอย่างผลงานที่เจ้าตัวเรียกว่าเขียนแบบสากกะเบือยันเรือรบ ก็เลยมีตั้งแต่แอปที่ช่วยสร้าง Tab เวลาเปิด Safari ใน iPad (ใช่ครับ สมัยนั้น Safari ของ iPad ยังไม่มี Tab) แอป Security สำหรับส่งรูปให้ปลอดภัย ยันแอปใช้สุ่มเลือกคนจะมาเป็นโกลเวลาเตะฟุตบอล!

ซึ่งก็ไม่มีชิ้นไหนติดเทรนด์ จนกระทั่ง… พี่บีเจอปัญหาจากการฟังเพลงในสมัยนั้น ว่าดาวน์โหลดลงมือถือยาก ถ้าใครพอจำได้ กว่าจะได้เพลงมาฟังในมือถือ เราต้องไปโหลดเพลงจากอินเทอร์เน็ตมาลงคอมก่อน แล้วก็ค่อยถ่ายเข้ามือถืออีกที เทียบกันแล้วสมัยนี้ถือเป็นสวรรค์ของคนชอบฟังเพลงเลยล่ะครับ

สิ่งที่พี่บีคิดในตอนนั้นก็คือ อยากให้ตัวเองได้ฟังเพลงแบบง่าย ๆ สบาย ๆ ก็เลยสร้างแอปให้คนดาวน์โหลดเพลงลง Dropbox แล้วแค่ล็อกอินเข้า Dropbox ในมือถือ ก็กดฟังเพลงที่โหลดไว้ได้เรียบร้อย สักพักเริ่มพัฒนาให้สามารถโหลดจาก YouTube ได้ง่าย ๆ กลายเป็น Muze Music Player แอปหน้าตามินิมอล และใช้งานสะดวก ใครนึกภาพไม่ออกว่าง่ายขนาดไหน ขอบอกเลยว่ารูปแบบการใช้งานใกล้กับ Spotify ในสมัยนี้สุด ๆ

แล้วจู่ ๆ ยอดดาวน์โหลดแอปก็ทะยานแบบติดจรวด! พี่บีสืบไปสืบมาก็ได้รู้ว่าแอปตัวเองได้ไปเข้าตาบล็อกเกอร์ชาวฝรั่งเศส แล้วก็เกิดการรีวิวต่อกันเรื่อย ๆ แบบที่พี่บีแทบไม่ต้องโฆษณาอะไรทั้งนั้น! ทำให้แอปทะยานขึ้นไปเป็นอันดับ 1 อยู่ช่วงหนึ่งเลย

มาถึงจุดนี้ ขอตัดกลับมาปัจจุบันด้วยคำถามว่า จากประสบการณ์ในวันนั้นพี่บีถอดบทเรียนอะไรได้บ้าง และเพราะอะไร Muze Music Player ถึงได้ประสบความสำเร็จ จากบรรดาแอปที่สร้างมาทั้งหมด

  1. บทเรียนจาก Steve Jobs ในการสร้าง Product ของ Apple คือ ความคิดสร้างสรรค์ไม่ใช่การคิดแค่ครั้งเดียวแล้วได้เลย ความคิดสร้างสรรค์คือการพยายามแก้ปัญหา แก้แล้วแก้อีก ไม่ยอมปล่อยผ่านให้ได้สิ่งที่ยังไม่ได้คุณภาพที่ใช่ออกมา
  2. Product ควรเข้ามาแก้ปัญหาที่ Pain ใหญ่พอ ใหญ่ในที่นี้หมายถึงว่า มีจำนวนคนที่เจอปัญหานี้เยอะ และมันเป็นปัญหาสำหรับคนเหล่านี้จริง ๆ พี่บีลองเทียบง่าย ๆ ว่าระหว่างคนเตะฟุตบอลแล้วหาโกลไม่ได้ กับจำนวนคนฟังเพลงจากมือถือ แน่นอนว่าคนฟังเพลงย่อมเยอะกว่าอยู่แล้ว การที่จะมองว่าแอปหรือธุรกิจหนึ่งจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ให้ดูที่ Pain ดูสมดุลว่าสิ่งนี้เป็นปัญหาจริง ๆ และปัญหานี้คนประสบเยอะจริง ๆ
  3. พอจับปัญหาที่ใช่ ที่คนประสบเยอะแล้ว อย่าพลาดโอกาสที่จะใช้ Product ของเราแก้ปัญหานั้น “อย่างสวยงาม” สร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับ User ทั้งเรื่องวิธีการที่ Product เข้าไปแก้ปัญหา รวมไปถึงหน้าตา ก็ต้องสร้างความประทับใจให้กับ User ด้วย

แล้ว Muze Music Player เป็นอย่างไรต่อ? สุดท้ายพี่บีก็ได้ตัดสินใจไม่ไปต่อกับแอปฟังเพลงตัวนี้ เมื่ออุตสาหกรรมเพลงได้รู้จักกับนวัตกรรมใหม่อย่างแอปสตรีมมิ่ง เมื่อบอกลาแอปไปแล้ว สิ่งที่ยังเหลือคือ Muze Innovation ที่ ณ จุดนี้ผ่านประสบการณ์และได้เรียนรู้แล้วว่าการสร้าง Product ที่ดีควรทำอย่างไร

และจากจุดนี้นี่เอง ที่จุดประกายให้ก้าวต่อไปของพี่บี คือ การตัดสินใจขยับขยายความฝันของตัวเอง

แทนที่จะสร้าง Product ของตัวเอง เราออกไปหาคนเก่ง ๆ คนที่เป็นตัวจริงในวงการของเขา คนที่รู้ว่า Pain ของคนในวงการเขาคืออะไร แล้วเราก็เข้าไปจับมือสร้าง Product ที่ดีในการช่วยทั้งตัวธุรกิจ และตัวผู้บริโภค ให้ทั้งสองฝั่งได้รับประสบการณ์ที่ดีผ่านเทคโนโลยีที่เราพัฒนาในฐานะ Tech Partner อย่างที่ Muze Innovation ทำมาจนถึงทุกวันนี้เป็นเวลากว่า 9 ปีนั่นเอง

--

--