แนะนำ AI Tools สำหรับ Developer แต่ละตัวเหมาะกับงานอะไร? มีข้อดีข้อเสียอย่างไร?
วันนี้ Muze Innovation เตรียมมาแชร์ความรู้แบบหมดเปลือก กับหัวข้อ แนะนำ AI Tools สำหรับ Developer เราจะชวนเพื่อน ๆ มาล้วงลึกกันว่าที่ Muze มีการใช้ AI ตัวไหนในการทำงานบ้างและ AI แต่ละตัวเหมาะกับงานอะไร? มีข้อดีข้อเสียอย่างไร?
โดยได้ พี่อาร์ม ชิติพัทธ์ Software Development Manager และพี่แบงค์ วสันต์ Head of Software Development Department มาบอกตัวที่ใช้อยู่กับไม่มีกั๊ก เพราะฉะนั้นบอกเลยว่าหัวข้อนี้ห้ามพลาดเด็ดขาด และเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา ไปอ่านกันได้เลย!!
AI Tools คือ เทคโนโลยีที่เป็นตัวช่วยในการทำงานของเราให้รวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งในปัจจุบันที่พี่อาร์มใช้งานอยู่และอยากแนะนำกับทุกคนก็จะมีด้วยกันสองตัว ตัวแรกจะเป็น AI ที่มาแรงอย่างต่อเนื่องอย่าง ChatGPT และอีกตัวจะเป็น Cursor เครื่องมือที่ช่วยนักพัฒนาเขียนโปรแกรมแบบกึ่งอัตโนมัติ แล้วสองตัวนี้มันมีความเจ๋งยังไงถึงกับต้องออกมาแชร์ เรามาฟังพี่อาร์มเล่าให้ฟังกันดีกว่า
เริ่มที่ ChatGPT เรื่องสรรพคุณไม่ต้องพูดถึง เพราะไม่ใช่แค่ในวงการ dev ที่ใช้ แต่ทุกวงการและทุกสาขาอาชีพก็ใช้กัน โดยส่วนตัวพี่อาร์มจะใช้ ChatGPT ช่วยในการหาไอเดียต่าง ๆ ว่าไอเดียที่คิดมานั้นพอจะเป็นไปได้ไหมเวลาเอาไปใช้จริง แล้วพอได้คำตอบจาก ChatGPT ค่อยไปหาข้อมูลเชิงลึกเองอีกที เพราะคำตอบที่เจอมาก็ผิดค่อนข้างเยอะ แต่อย่างน้อย ChatGPT ก็ช่วยให้เห็นความเป็นไปได้ในหลาย ๆ อย่าง แบบที่เราอาจไม่เคยนึกถึงมาก่อน
นอกจากนี้บางครั้งคนเป็น dev เราจะเจอสถานการณ์ที่ว่า เวลาจะหาเรื่องนี้แต่ดันคิดคำไม่ออก หรือโฟลว์นี้คืออะไร เช่น คำที่ specific หรือ technical ของวงการนั้น ๆ เจ้า ChatGPT ก็สามารถช่วยได้ พร้อมพยายามอธิบายมาทั้งหมด ว่าสิ่งที่เรานึกถึงอยู่เรียกว่าอันนี้นะ ซึ่งช่วยให้เราประหยัดเวลาไปได้เยอะเลยทีเดียว ส่วนถ้าถามว่าใช้ ChatGPT generate code เลยไหม สำหรับพี่อาร์มแทบจะไม่ได้ใช้เลย ส่วนมากจะถามทั่วไปมากกว่า ว่าอันนี้ได้หรือเปล่า แต่จะไม่ได้ใช้ในเชิง coding ขนาดนั้น
มาต่อตัวที่สองอย่าง Cursor หรือที่เกริ่นไปตอนต้นว่ามันคือ เครื่องมือที่ช่วยนักพัฒนาเขียนโปรแกรมแบบกึ่งอัตโนมัติ ตัวนี้พี่อาร์มจะใช้เวลาที่จะเขียนโค้ด เพราะความสามารถของ Cursor คือ สามารถช่วย provide โค้ดที่เรากำลังจะพิมพ์ หรือแนะนำโค้ดที่เหมาะขึ้นมาให้ ถ้าพูดง่าย ๆ ก็เหมือนการ auto complete ที่ฉลาดมาก ๆ ซึ่งจะช่วยให้เราประหยัดเวลาไปได้เยอะอีกเช่นกัน
ขอยกตัวอย่างเช่น บางครั้งต้องเขียนโค้ด 30–40 บรรทัด ที่เป็น condition เหมือนเขียนโค้ดตัดเกรด คะแนนมากกว่า 80 จะออก A ส่วน 70–60 จะออก B ซึ่งต้องเขียนโค้ดเยอะ ก็เลยลองใช้จากที่ตัวเองต้องเขียนโค้ด เลยเปลี่ยนไปเป็นเขียนคอมเมนต์เอาว่า ต้องการให้ Cursor คำนวณคะแนนเกรด โดย condition เป็นแบบนี้นะ แล้วก็ enter ไป และ GitHub จะเอาข้อมูลที่เราเขียนข้างบนว่าต้องการแบบนี้ เจนโค้ดออกมา 30 บรรทัด ซึ่งจะย่นระยะเวลาไปได้มาก บางทีถ้าเจนมาแบบผิดนิดหน่อย เราก็สามารถเขียนคอมเมนต์เพิ่มให้แก้ได้ด้วย
คราวนี้มาฝั่งพี่แบงค์กันบ้าง AI Tools ที่พี่แบงค์เตรียมมาแนะนำทุกคนจะมี Gemini และ Codium ครับ 2 tools นี้จะช่วยในการทำงานได้อย่างไรบ้าง เริ่มที่ Gemini ก่อนเลย เจ้าตัวนี้คือ โมเดลภาษาขนาดใหญ่ ที่พัฒนาโดย Google AI มีความสามารถในการเรียนรู้และอัปเดตข้อมูลใหม่ ๆ ในโลกยุคปัจจุบันได้อย่างรวดเร็ว
ส่วนการใช้งานพี่แบงค์จะเน้นไปที่การถามเรื่องที่เฉพาะเจาะจง ที่หาคำตอบจาก Google ไม่ได้ แต่สามารถให้เจ้า Gemini ช่วยได้ โดยการเขียนสิ่งที่ต้องการเข้าไป แล้วสโคปโจทย์ให้ได้คำตอบที่ต้องการ ซึ่งก็จะได้ไอเดียกลับมาที่หลากหลายมาก มีทั้งที่ใช้ได้และไม่ได้ ซึ่งเราก็ต้องเอามาวิเคราะห์ต่อ แต่หลัก ๆ ก็ช่วยลดระยะเวลาทำงานไปได้เยอะ
ต่อมาเป็น Codium ตัวนี้จะมีความคล้ายกับ Cursor ซึ่งพี่อาร์มใช้ในการทำงานอย่าง generate code ให้ รวมถึงการคอมเมนต์คำสั่งลงไป แล้วให้ระบบ suggest โค้ดออกมา ซึ่ง Codium สามารถทำได้ไว และก็มีความแม่นยำในระดับใช้งานได้ โดยส่วนที่ช่วยลดเวลาได้ดีจะเป็นการ generate code ที่มีปริมาณเยอะๆ แต่มีความคล้ายคลึงกัน เช่น พวกโครง if else ที่มีเงื่อนไขเยอะๆ เป็นต้น แต่ทุกครั้งก็ควรจะตรวจเช็กอีกที อย่าหยิบมาใช้ทั้งหมดโดยไม่ดูให้ดีเด็ดขาด
อีกส่วนนึงที่พี่อาร์มใช้ก็คือ ฟีเจอร์ Explain Code อันนี้เอามาประยุกต์ใช้ช่วงที่ต้องทำโปรเจกต์ เกี่ยวกับการแก้โค้ดเก่าของลูกค้า โดนข้อดีของเจ้าตัวนี้คือช่วยลดระยะเวลาในการอ่านโค้ด พร้อมสรุปให้เลยว่าฟังก์ชันนี้ทำอะไร และยังใช้ฟรีอีกด้วย ใครที่ทำงานเกี่ยวกับแบบนี้ แนะนำให้ไปลองใช้กันดู
และนี่คือ 4 AI Tools ที่ พี่อาร์มและพี่แบงค์ เคยใช้งานมาในโปรเจกต์ต่าง ๆ แต่นอกเหนือจากนี้ ก็ยังมี AI Tools อีก 2 ตัว ที่อยากแนะนำเพื่อน ๆ dev ทุกคนให้ได้รู้จัก เผื่อจะเอาไปประยุกต์ใช้ในการทำงานได้เพิ่มขึ้น โดย 2 ตัวที่ว่านี้คือ Amazon Q และ Eraser AI
ความเจ๋งของ Amazon Q Command Line (รองรับเฉพาะ MacOS) เป็นเครื่องมือ AI บน Command Line (CLI) โดยฟีเจอร์ที่อยากแนะนำจะเป็นส่วน auto complete ที่ช่วยประหยัดเวลาในการพิมพ์ไปได้เยอะ เช่น การ navigate ไปยัง folder ต่างๆ ถ้าเราพิมพ์ cd ปั๊บ ก็จะแสดงรายการ folder ที่สามารถไปต่อได้ขึ้นมาให้เลือกเลย หรือ command อื่นๆ อย่างเช่น git ก็จะแสดง option ที่สามารถเลือกใช้ต่อได้ เช่น pull, push หรือ clone เป็นต้น นอกจากนั้น Amazon Q ยังมี chat ที่สามารถใช้ถามวิธีการใช้งาน CLI จากตัว CLI ได้เลย
เช่น เราอยากใช้คำสั่งค้นหาไฟล์แบบ fuzzy แต่เราไม่รู้ว่าใช้ Command อะไร ก็สามารถพิมพ์ถามฟีเจอร์นี้ได้เลย จาก CLI โดยที่ไม่ต้องไปเสิร์ช Google หรือถาม ChatGPT พอพิมพ์เสร็จระบบก็จะบอกว่าคุณต้องการทำแบบนี้ใช่ไหม ก็จะขึ้น option มาให้ แล้วถ้าตรวจสอบดูแล้วมี option ที่สามารถใช้ได้เลย ก็สามารถสั่งรันได้ทันที สามารถช่วยคนทำงานที่ใช้ command line บ่อย ๆ ได้ดีทีเดียวเลย
ต่อมาคือ Eraser AI ตัวนี้จะเอาไว้ generate diagram ยกตัวอย่างเช่น ปกติงาน dev จะมีจังหวะที่ต้องสื่อสาร เหมือนเราเป็นหัวหน้าทีมทีมนึง กำลังจะบอกให้น้องทำงานบางอย่าง แล้วบอกด้วยการพูดหรือเขียนแค่ card ไปบางทีก็เข้าใจยาก อาจจะต้องเขียน diagram บางอย่างเพื่อบอกว่าการทำงานมี component อยู่กี่ตัว คุยกันยังไง โฟลว์เป็นยังไง อาจจะเป็น sequence diagram หรือ database diagram ซึ่ง Eraser เป็น AI ที่สามารถ prompt แล้วก็ generate diagram ออกมาให้ได้เลย
พอแนะนำ AI Tools เยอะ ๆ แบบนี้ ก็อยากเตือนเพื่อน ๆ ทุกคนว่าอย่าใช้เพลินจนลืมดูข้อเสียของ AI กันด้วยนะ ใช้งานอย่างเดียว โดยไม่ผ่านความคิดตัวเองไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น มีคนที่ใช้อยู่ 2 รูปแบบ คือ ใช้เพื่อเอาข้อมูลมาแล้วก็ compact ความคิดตัวเอง เหมือนคุยกับ AI เพื่อให้ได้ข้อมูลเอามาวิเคราะห์และเอาไปต่อยอด
แต่จะมีอีกหลาย ๆ คนที่นำ AI ไปใช้แบบผิด ๆ อยู่อย่างการ copy paste โดยที่ไม่ตรวจสอบเลย ซึ่งอันนี้จะมีความเสี่ยงสูงมาก ซึ่งในมุมของ developer แล้ว การใช้เครื่องมืออย่าง AI นั้นจะใช้เพื่อช่วยให้เราเรียนรู้มากกว่าการที่จะให้มาทำงานแทนเรา เพราะต้องยอมรับตรงนี้เลยว่าการหาข้อมูล AI จะช่วยทำเราทำงานได้ง่ายขึ้น access ข้อมูลได้เร็วขึ้น แล้วก็เป็นภาษาที่เราเข้าใจได้ง่าย ซึ่งส่วนนี้จะทำให้ลดเวลาลงได้ แต่การใช้งานหลัก ๆ ก็อยากให้ทำการเรียนรู้จากที่มันแนะนำมาด้วยครับ
สุดท้ายก็อยากให้เพื่อน ๆ ทุกคนลองไปใช้กัน อย่าไปติดกับดักที่ว่าไม่เกี่ยวกับงานไม่จำเป็นต้องใช้ แต่ลองใช้ไปเถอะไม่เสียหายอะไร เผลอ ๆ อาจได้ความรู้ใหม่กลับมาไว้ใช้ในอนาคตก็ได้ แล้วยิ่งตอนนี้เป็นช่วงบูมของ AI ทำให้ tools อะไรต่าง ๆ ออกมาค่อนข้างเยอะมาก ลองไปเล่นกันดูนะครับ
และนี่คือความรู้แบบไม่มีกั๊ก จาก พี่อาร์ม และพี่แบงค์ ที่มาเล่าเรื่อง AI Tools ที่เคยใช้จากประสบการณ์จริง หวังว่าเพื่อน ๆ Developer ทุกคน จะสามารถเอาไปปรับใช้ได้ไม่มากก็น้อยนะครับ
แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้า ใครชอบอย่าลืมกดไลก์ ส่วนใครมีคำถามอยากถามเพิ่ม หรือสงสัยตรงจุดไหน ก็พิมพ์คอมเมนต์เข้ามาพูดคุย กับพวกเรา Muze Innovation กันได้เลยครับ :)