Muze ถอดรหัสร่วมพัฒนาแพลตฟอร์ม 3PLUS

Phitchayathida Dechakulkamjorn
Muze Innovation
Published in
2 min readJul 9, 2024

[Exclusive] พี่เก๋ Head of Product Owner เล่าประสบการณ์ร่วมพัฒนาแพลตฟอร์ม 3PLUS กับ BECI แบบเจาะลึก

วันนี้เราจะมาเล่าเรื่องราวของอีกหนึ่งโปรเจกต์ใหญ่ ในการทำงานร่วมกับ BECI หรือทาง 3PLUS ว่า Muze ได้เข้าไปมีส่วนช่วยพัฒนา หรือสร้างฟีเจอร์ที่น่าสนใจอะไรบ้าง ระหว่างทางพบอุปสรรคแบบใด Muze จะมีวิธีแก้ไขปัญหาได้หรือไม่ และตอนจบโปรเจกต์จะสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีหรือเปล่า?

ถ้าเพื่อน ๆ อยากทราบคำตอบ เดี๋ยววันนี้พี่เก๋-นภาศรี Head of Product Owner จะมาตอบทุกเรื่องราวที่เราเกริ่นไปข้างต้น ให้ทุกคนฟังแบบเจาะลึก ตรงประเด็น และอัดแน่นไปด้วยสาระความรู้อีกเช่นเคย ว่าแล้วก็มาเริ่มกันเลยดีกว่า!!

สำหรับโปรเจกต์การทำงานกับ 3PLUS ใช้เวลาไปทั้งหมด 3 ปี โจทย์คือให้ Muze เข้าไปพัฒนาฟีเจอร์ในส่วนของ Fandom ทั้งหมด โดยในฟีเจอร์ Fandom จะมีหน้าที่หลายอย่างที่ Muze ต้องดูแลและพัฒนาขึ้นมา เช่น เรื่องแพ็คเกจ, subscription, โปรดักต์ต่าง ๆ, พอยท์, เหรียญ, หัวใจ หรือการโหวตดาราประจำเดือน หรือประจำปี เป็นต้น

3PLUS Premium

โดยที่มาของโปรเจกต์นี้เกิดจาก ทาง 3PLUS มองว่า นอกจากละคร หรือคอนเทนต์ต่าง ๆ ที่ได้รับความนิยมแล้ว ตัวศิลปินของช่องเองก็เป็นที่รู้จักในวงกว้าง และมีแฟนคลับติดตามจำนวนมาก จึงอยากสร้างกิจกรรมที่ให้ศิลปินและแฟนคลับได้มาสนุกด้วยกัน จึงเกิดเป็นที่มาของโปรเจกต์ Fandom ที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อนนั่นเอง

แต่ด้วยความที่การทำโปรเจกต์ Fandom นั้น มีสเกลค่อนข้างใหญ่มาก ๆ ทำให้รูปแบบการทำงานจะแตกต่างออกไปจากโปรเจกต์อื่น ๆ และถือเป็นครั้งแรกของพี่เก๋เหมือนกัน นั่นคือการทำงานแบบร่วมมือกันของทั้ง Muze และ 3PLUS เช่น ทีม dev ทีม PO ทีม QA จะมีทั้งของ 3PLUS และของ Muze ทำงานด้วยกัน ไม่ได้แบ่งเป็นสองทีม แต่ทำเป็นทีมเดียวกันไปเลย

อ่านมาถึงตรงนี้เพื่อน ๆ น่าจะรู้ข้อมูลคร่าว ๆ และชักตื่นเต้นขึ้นมาแล้วใช่ไหม งั้นเรามาฟังในมุมของพี่เก๋กันบ้าง ว่าเมื่อสองบริษัทมีรูปแบบการทำงานแบบนี้ ผลลัพธ์ที่ออกมาเป็นอย่างไร ซึ่งคำตอบของพี่เก๋คือ ช่วงเริ่มต้นยากมาก ทำอะไรก็ไม่ราบรื่น ต่างคนต่างบริษัทต้องปรับจูนกันเยอะมาก แต่พอเวลาผ่านไปนานขึ้น ได้คุยกันมากขึ้น ทุกคนก็ค่อย ๆ ปรับตัวได้ และทำงานร่วมกันได้อย่างลงตัว

ฟังดูแล้วเหมือนง่าย พี่เก๋จึงแชร์วิธีที่ใช้ให้เราฟังเพิ่ม นั่นคือการแสดงความจริงใจต่อกัน หรือถ้างานตรงไหนมีปัญหาก็พูดกันตรง ๆ เพื่อแก้ไขทันที จะไม่มีการแบ่งว่าปัญหาเกิดที่ทีม 3PLUS หรือทีม Muze เพราะเวลาทำงานเราจะแบ่งทีมที่ฟังก์ชันว่าใครเป็น lead ใครต้องดูแลน้องในทีมคนไหน จะไม่ได้แบ่งว่า Muze ทำกับทีมตัวเอง 3PLUS ทำกับทีมตัวเอง เราจะทำงานกันเป็นเลเวล ๆ ลงไป เพื่อให้งานออกมาดีที่สุด ซึ่ง goal ของทุกคนเป็น goal เดียวกัน คือส่งงานให้มีคุณภาพ และตรงตามเวลาที่กำหนด

แม้จะแก้ปัญหาเรื่องการทำงานกันมาได้แล้ว แต่ระหว่างทางพี่เก๋ก็ต้องเจออีกหนึ่งปัญหาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นคือ การระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้การทำงานต้องเปลี่ยนเป็นออนไลน์ 100% ต้องปรับรูปแบบการทำงาน และบริหารงานในส่วนต่าง ๆ ใหม่หมด จนเกิดเป็นเครื่องหมายคำถามจากทาง 3PLUS ว่าจะทำงานกันได้จริงเหรอ? แล้วทุกคนจะทำงานกันจริงหรือเปล่าระหว่างที่อยู่บ้าน?

ซึ่งปัญหานี้พี่เก๋มองว่า ด้วยความที่ทาง 3PLUS เป็นบริษัทใหญ่ และทำงานกันที่ออฟฟิศ ไม่แปลกเลยที่จะเกิดคำถามตรงนี้ จึงทำให้ทาง Muze ต้องสร้างความไว้วางใจระหว่างสองบริษัทขึ้นมา ให้เห็นว่าการทำงานผ่านออนไลน์นั้นทำได้จริง และทำอย่างมีคุณภาพได้ด้วย นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการซัพพอร์ตเรื่องต่าง ๆ ที่ Muze ค่อนข้างจะตรงเวลาเสมอแม้จะทำงานผ่านออนไลน์

ทีนี้เรามาฟังความท้าทายของโปรเจกต์นี้กันบ้าง ซึ่งพี่เก๋เล่าว่ามันคือ การ deploy งานแต่ละครั้งจะค่อนข้างใช้เวลานานมาก เพราะ 3PLUS มี Policy ว่าเวลาเทสต้องเทสเป็น Dev environment, UAT environment, P production แล้วก็ Production คือต้องผ่านทุกสเต็ป หากเกิดไปตายตรง production ถ้าจะแก้บั๊กแล้ว deploy ใหม่ ต้องเริ่มเทสตั้งแต่ UAT environment, Pre PROD แล้วก็ PROD จึงค่อนข้างที่จะต้องเป๊ะมาก ๆ

เพราะว่าเป็นแอปพลิเคชันที่จะต้องใช้งานได้ 24 ชั่วโมง ทุกครั้งที่มีการ deploy จะเริ่มประมาณ 5 ทุ่ม เสร็จประมาณตี 2 กว่าจะผ่านไปแต่ละเซิร์ฟเวอร์ต้องใช้เวลา แต่ถ้าวันนั้นเกิดการบั๊กขึ้นมา เช่น ตรงเซิร์ฟเวอร์สุดท้าย ที่ production การเริ่มใหม่คือไม่ใช่ยิงตรงขึ้นไปที่ production ได้เลย จะต้องเริ่มกันใหม่ที่ UAT, Pre PROD, PROD ก็อาจจะใช้เวลาไปถึงเช้าได้ คือถ้ามีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นมาจริง ๆ ทาง PO จะต้องคุยกันแล้วว่าจะไปต่อหรือจะถอยเพราะใช้เวลาเยอะมาก

หากตัดสินใจแล้วว่าเราจะถอย วันถัดไปก็ต้องเข้าที่ประชุมไปอธิบายว่าเราเจออะไร เหตุผลมีอะไรบ้างแล้วเราจะแก้ได้เมื่อไหร่ จะ deploy ได้เมื่อไหร่ ต้องรอรอบหน้าเลยไหม หรือว่าเป็น hot fix ได้ ต้องมี solution plan B เอาไปคุยกับทางผู้บริหารให้เข้าใจด้วย

นอกจากนี้พี่เก๋ยังเน้นย้ำให้เราฟังอีกว่า ที่ปัญหานี้ค่อนข้างสำคัญมาก เพราะเป็นแอปที่ลูกค้าเสียเงินเข้ามาดู ถ้าหากแอปใช้ไม่ได้หรือมีฟีเจอร์ที่วันนี้จะต้องมีอีเวนท์กับศิลปิน ปรากฏลูกค้าเข้ามาแล้วติดขัดจะกลายเป็นเรื่องใหญ่เหมือนไม่โปร่งใส จึงต้องหาคำอธิบายและหลักฐานมาแสดงให้ได้ เพื่อชี้แจงแฟนคลับว่าปัญหาเกิดจากอะไร

และด้วยความที่โปรเจกต์นี้ ทำกันมานานถึง 3 ปี พี่เก๋ยังแชร์มุมการทำงานที่ประทับใจ และรู้สึกฟีดกู๊ดมาก ๆ กับทาง 3PLUS ให้เราฟังด้วย เช่น ในช่วงที่ทีมไหนงาน overload สามารถแบ่งงานให้กันได้ หรือ 3PLUS ถนัดงานนี้ Muze ถนัดงานนี้ สามารถสลับกันทำได้ ซึ่งเป็นการทำงานที่เกื้อกูลกันมาก ทำงานด้วยแล้วสบายใจมาก สนุกมาก มีอะไรก็คุยกันได้ตรง ๆ เลย เหมือนเป็นบริษัทเดียวกันจริง ๆ

ส่วนฟีดแบ็คจากทาง 3PLUS ที่ให้ Muze คือแฮปปี้ไม่ต่างกัน พี่เก๋เล่าว่า เขาค่อนข้างฟีดแบ็กให้เราดีมาก ประทับใจในการซัพพอร์ตเต็มที่ไม่ว่าจะดึกแค่ไหน หรือบางเรื่องที่ technical ที่เขาไม่รู้ บางทีฝั่ง Muze ก็ไม่รู้ แต่เราไปรีเสิร์ชมาให้ คือไม่ใช่ว่าไม่รู้แล้วจบไป เราไม่รู้แต่เราไปลองทำลองดูให้ เพื่อหาคำตอบมาบอก ทาง 3PLUS ก็ชมว่าเราเทคแคร์ลูกค้าดีมาก

มาถึงคำถามที่เราอยากรู้มาก ๆ ว่าโปรเจกต์นี้หลังทำไปแล้วผลลัพธ์เป็นอย่างไร ประสบความสำเร็จไหม? พี่เก๋ยิ้มพร้อมเล่าให้เราฟังอย่างภูมิใจว่า ครั้งแรกที่ launch ตัวแอปออกไปทาง 3PLUS มียอด subscribe เพิ่มขึ้นมาหลักล้านกันเลยทีเดียว ยอด user ที่เข้ามาในเว็บไซต์ หรือตัวแอปพลิเคชัน ก็เพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว โดยที่เซิร์ฟเวอร์ไม่ล่มเลย ภาพรวมทุกอย่างคือพอใจมาก ทั้งทีมของ Muze แล้วก็ทีมของ 3PLUS

สุดท้ายพี่เก๋ได้แชร์ประสบการณ์ และบอกเล่าถึงสิ่งที่เรียนรู้จากโปรเจกต์นี้กับเราว่า “ทุกงานต้องใช้เวลา ไม่มีอะไรที่สำเร็จใน day 1 เหมือนเมื่อก่อนแรก ๆ แนะนำอะไรไป ทาง 3Plus ก็อาจไม่ได้ฟังมาก แต่พอเวลาผ่านไปทำงานไปด้วยกันระยะนึง งานเริ่มมี release ออกมาให้เห็นเป็นชิ้นเป็นอัน เขาก็เริ่มมีความมั่นใจในตัวเรามากขึ้น หลังจากนั้นเวลาเราแนะนำอะไรไปเขาก็จะฟังเรามากขึ้น เพราะฉะนั้นคือความไว้ใจมันต้องพิสูจน์แล้วก็ใช้เวลา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคุณภาพ เรื่องความตรงเวลา เรื่องความใส่ใจ กว่าจะได้ตรงนั้นมามันก็ค่อนข้างที่จะต้องทุ่มเทและให้ความสำคัญ”

ก็จบไปเป็นที่เรียบร้อยกับโปรเจกต์การทำงานกับ 3PLUS ในการพัฒนาฟีเจอร์ในส่วนของ Fandom พวกเราเชื่อว่าหลาย ๆ เรื่องที่พี่เก๋ได้เล่าให้ฟัง นั้นมีประโยชน์มาก ๆ สามารถเอาไปประยุกต์ใช้ในชีวิตการทำงานของเพื่อน ๆ ได้แน่นอน และสำหรับใครที่ชอบเรื่องราวเบื้องหลังการทำงานโปรเจกต์ต่าง ๆ ของ Muze กับทางลูกค้าแบบนี้ เดี๋ยวมีมาให้อ่านกันอีกเพียบแน่นอน รอติดตามกันได้เลยครับ :)

--

--