Tech Talk with CEO ประจำเดือน มิถุนายน 2566

Tanyathorn Khunapinya
Muze Innovation
Published in
2 min readJun 13, 2023

ธุรกิจจะปรับตัวอย่างไร ในยุค AI ครองเมือง?

Peeranat Thoonsaengngam (CEO & Founder of Muze Innovation)

ในปีนี้ ประเด็นในโลกเทคโนโลยีที่เป็นที่พูดถึงกันมากที่สุดคงเป็นอะไรไปไม่ได้ นอกจากเรื่องความสามารถของ AI (Artificial Intelligence) ที่นับวันยิ่งทำงานได้อัจฉริยะเสียจนสั่นสะเทือนกันไปหลายวงการ

เพื่อประเดิมคอลัมน์ Tech Talk with CEO ชิ้นแรกของปี Muze ได้ชวนพี่บี-พีรณัฎฐ์ ทูลแสงงาม (Peeranat Thoonsaengngam) CEO & Founder ของ Muze Innovation มาพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่าพี่บีมีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับ AI และสำหรับภาคธุรกิจแล้ว การเข้ามาของ AI จะกระทบกับทิศทางการสร้างธุรกิจอย่างไรบ้าง

พี่บีได้บอกอยู่ข้อหนึ่งว่า ความก้าวหน้าของ AI ในตอนนี้ กำลังทำให้ความฝันหนึ่งอย่างของพี่บีเป็นจริง นั่นก็คือ… การได้มี J.A.R.V.I.S จากเรื่อง Iron Man เจ้าระบบปฏิบัติการอัจฉริยะเป็นของตัวเอง! เหมือนจะเป็นเรื่องพูดเล่น แต่จริง ๆ แล้ว สิ่งที่พี่บีกำลังจะแนะนำต่อไปเกี่ยวกับธุรกิจและการใช้งาน AI ก็คลับคล้ายคลับคลากับภาพที่เราเห็น Tony Stark หรือ Iron Man ร่วมงานกับ J.A.R.V.I.S สร้างผลงานเจ๋ง ๆ ได้มากมายอย่างที่เราทึ่งกันไปในภาพยนตร์

ขอเริ่มด้วยการเกริ่นถึงเทรนด์ของโลกธุรกิจตอนนี้กันก่อน สิ่งที่พี่บีตั้งไว้เป็นหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจสมัยใหม่คือ “การทำตัวเบา ๆ และเน้นเกมส์เร็ว” พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปเร็วขึ้น เราต้องนำ Product ของเราไปทดสอบกับตลาดให้เร็ว และปรับตัวให้ทัน ซึ่งจุดนี้นี่เองที่เทคโนโลยีจะได้ออกโรงเข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญของเรา

ถ้าเป็นยุคก่อนที่ AI จะพัฒนาขนาดนี้ การจะสร้างเทคโนโลยีมาเสริมธุรกิจไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องสร้างเทคโนโลยีมาใช้เอง ปัญหาของยุคนี้ก็คือยังพัฒนาได้ไม่ทันใจ ต่อมาเริ่มมีการสร้างแพลตฟอร์มเข้ามาแก้ปัญหานี้ ซึ่งในยุคนี้อาจจะมีแพลตฟอร์มที่สามารถใช้งานได้หลากหลายก็จริง แต่ด้วยความที่ต้องพยายามวางกรอบให้รองรับทุกคนมาเข้าใช้งานได้ ทำให้แพลตฟอร์มก็ยังคงมีข้อจำกัดต่าง ๆ ที่นำมาสู่ปัญหาต่อมาคืออาจจะยังพัฒนาได้ไม่ตรงกับความต้องการที่เฉพาะเจาะจงของแต่ละธุรกิจ

ตัดภาพมาที่ปี 2023 นี้ AI คือคำตอบที่จะมอบ Solution ที่ทั้งทันใจและถูกใจให้กับโจทย์ทางธุรกิจ

อีกทั้งการจะทำธุรกิจในสมัยนี้ นอกจากจะต้องคิดตัวธุรกิจให้น่าสนใจแล้ว ก็ต้องมองรูปแบบของธุรกิจทั้งในโลกออฟไลน์และออนไลน์ควบคู่กันไปอย่างแยกขาดกันไม่ได้ และต้องวางกลยุทธ์ว่าเราจะให้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยอย่างไรได้บ้าง

โดยพี่บียกตัวอย่างการใช้เทคโนโลยีกับการผลิตรถยนต์ เราสามารถใช้มันมาช่วยสองอย่าง หนึ่ง เราใช้เทคโนโลยีมาช่วยผลิตรถยนต์ให้เร็วขึ้น และสอง ให้เทคโนโลยีมาสร้างฟังก์ชั่นต่าง ๆ ในรถให้สามารถทำอะไรได้มากกว่าเดิม ฉันใดฉันนั้น การนำ AI มาช่วยเสริมธุรกิจก็มีหลักการไม่ต่างกัน

หลักการทั้งสองอย่างนี้ สามารถนำไป Plug-in กับการทำธุรกิจได้ตลอดตั้งแต่ต้นจนครบกระบวนการ ซึ่งสรุปออกมาเป็น 3 ขั้นตอนง่าย ๆ ว่า AI จะเข้ามาช่วยเราในแต่ละขั้นตอนได้อย่างไรบ้าง ดังนี้

  1. Initiation: ในช่วงวางแผนธุรกิจ ให้นำความสามารถด้านการวิเคราะห์ Data มาช่วยรีเสิร์ช ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการวิเคราะห์คู่แข่ง ตั้งแต่การหาว่าคือใครบ้าง รูปแบบของเขาเป็นอย่างไร เพื่อนำมาหาจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และความเสี่ยงในธุรกิจของเรา ยกตัวอย่าง AI ที่มาแรงที่สุดในตอนนี้อย่าง ChatGPT พี่บีก็ได้แชร์ว่า มันสามารถช่วยวิเคราะห์ข้อมูลได้หลายอย่างมาก เช่น เคยลองนำงบการเงินแปลงเป็น CSV แล้วก็ให้มันวิเคราะห์สถานการณ์บริษัทให้ หรือจะวางแผนการตลาด ช่วยวิเคราะห์ Data หลังบ้านก็ทำได้เช่นกัน
  2. Execution: เมื่อมาถึงช่วงที่ต้องเริ่มลงมือปั้นธุรกิจ ให้เน้นใช้ความสามารถ AI เพื่อช่วยทุ่นแรงและลดค่าใช้จ่าย อย่างเช่น การใช้ AI มาช่วยเราตัดสินเรื่องงานออกแบบต่าง ๆ ก็จะช่วยลดเวลาและงบในการคุยกับนักออกแบบ หรือใช้ AI เป็น Tools ในการตั้งต้นให้เรา อีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจ คือ การนำ AI มาทำ Knowledge Management ขององค์กร เพื่อช่วยให้พนักงานใหม่เข้าใจขั้นตอนการทำงานในองค์กรนั้น ๆ ทำให้พนักงานทำงานง่ายขึ้น เป็นต้น
  3. Operation: สุดท้ายหลังตั้งต้นธุรกิจขึ้นมาได้แล้ว การบริหาร Operation ให้ราบรื่นก็เป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้เช่นกัน ณ จุดนี้ ให้ลองหาว่า AI จะเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงานได้อย่างไร และ AI จะเข้ามาช่วยปรับปรุง Product หรือ Service ของเราให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้อย่างไร อย่างเช่นร้านกาแฟหรือร้านอาหารที่เริ่มใช้หุ่นยนต์เข้ามาช่วยบริการ หรือตู้กาแฟอัตโนมัติ ที่ใช้ AI ช่วยคำนวนการเติม Stock ตามสถิติที่ลูกค้าเข้ามากดใช้บริการ ทำให้การเติม Stock เป็นไปได้อย่างแม่นยำ ลดค่าใช้จ่ายด้าน Logistic รวมถึงทำให้เห็นแนวโน้มของลูกค้าว่าควรพัฒนาเมนูอย่างไร

เล่ามาจนถึงจุดนี้ เราอาจจะรู้สึกว่า ถ้า AI ทำงานได้มากมายขนาดนี้ แล้วยังเหลืออะไรให้คนทำอยู่บ้าง?

พี่บีก็ได้บอกว่าหากเราดูที่คุณค่าของธุรกิจที่เข้ามาตอบโจทย์ของลูกค้า จะมีอยู่สองส่วนหลัก ๆ ด้วยกัน คือ Functional Value และ Emotional Value อย่างแรก คือ การตอบโจทย์เรื่องการใช้งานต่าง ๆ และอย่างที่สอง คือ การตอบโจทย์ด้านอารมณ์ ความรู้สึกของผู้ใช้ ที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละแบรนด์ที่ทำให้เขาติดใจ Product หรือ Service ของเรา สิ่งที่ AI เข้ามาช่วยหรือทดแทนคือส่วน Functional Value เสียส่วนมาก ในขณะที่ Emotional Value นั้น ยังคงเป็นงานที่ต้องอาศัยคนเป็นหลักอยู่เหมือนเดิม

และสุดท้าย AI ไม่ใช่สิ่งที่จะเข้ามาทดแทน แต่เข้ามาทุ่นแรง พี่บีเชื่อว่า ไม่ว่าที่ไหนก็ตามที่มีข้อมูล มีการทำซ้ำจนเกิดรูปแบบบางอย่าง AI จะสามารถเข้ามาช่วยเสริมธุรกิจได้หมด โดยให้วาง AI เป็นอีกเครื่องมือที่เข้ามาช่วยสร้าง Solution ที่จะพาธุรกิจพัฒนาไปได้เร็วและไกลขึ้นกว่าเดิม

--

--