Tech Talk with CEO ประจำเดือน กันยายน 2565

Wittaya Sudthinitaed
Muze Innovation
Published in
2 min readSep 16, 2022

ปรับตัวอย่างไร? เมื่อเทคโนโลยีเป็นหัวใจหลักของธุรกิจในยุคการตลาด 5.0

Peeranat Thoonsaengngam (CEO & Founder of Muze Innovation)

กลับมาอีกครั้ง กับคอลัมน์ Tech Talk with CEO ประจำเดือนกันยายน 2565 ที่เราจะมาพูดคุยกับคุณบี-พีรณัฎฐ์ ทูลแสงงาม (Peeranat Thoonsaengngam) CEO & Founder ของ Muze Innovation ถึงการอัปเดตข่าวสารของ Muze Innovation และเรื่องราวสำคัญต่าง ๆ ในวงการเทคโนโลยี

ในเดือนกันยายน 2565 เราจะมาพูดถึงการปรับตัวขององค์กรต่าง ๆ ให้เท่าทันยุคดิจิทัล และยุคการตลาด 5.0 ที่เทคโนโลยีเป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจ

ในโลกธุรกิจ เราได้ก้าวมาสู่ยุค Marketing 5.0 หรือ การตลาด 5.0 แล้ว อ้างอิงจากหนังสือของ ดร.ฟิลิป คอตเลอร์ นักคิดนักการตลาดคนสำคัญของโลก

ซึ่งเขาได้กล่าวไว้ว่า การตลาด 5.0 มุ่งเน้นในการใช้เทคโนโลยีรุ่นใหม่ ที่สามารถเลียนแบบความสามารถของมนุษย์ เช่น ปัญญาประดิษฐ์, NLP, เซ็นเซอร์, หุ่นยนต์, ความเป็นจริงเสริม (AR: Augmented Reality), ความเป็นจริงเสมือน (VR: Virtual Reality), IoT (Internet of Things) หรือ บล็อกเชน (Blockchain) มาใช้สร้าง สื่อสาร ส่งมอบ และเพิ่มมูลค่าตลอด Customer’s Journeyในยุคที่ขับเคลื่อนด้วยคลังข้อมูลมหาศาล (Big Data) โดยเฉพาะการเรียนรู้ข้อมูลผู้บริโภคที่ยังไม่ได้จัดระบบ และการค้นหาข้อมูลเชิงลึกที่เป็นประโยชน์ของนักการตลาดในการเสนอผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมให้ลูกค้าได้ถูกกลุ่ม[1]

ยิ่งไปกว่านั้น โลกของการตลาดเอง ก็กำลังจะก้าวเข้าสู่ยุค Marketing 6.0 ที่ว่าด้วยเรื่องการทำการตลาดโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลของผู้บริโภคเป็นสำคัญอีกด้วย

แต่ไม่ว่าจะเป็นการตลาด 5.0 หรือ 6.0 การพาองค์กรก้าวสู่โลกดิจิทัล เพื่อให้ตอบโจทย์พฤติกรรมการบริโภคของลูกค้า ก็ยังเป็นหัวใจหลัก

“หลักใหญ่ใจความของเทรนด์ Marketing 5.0 หรือ 6.0 เป็นพื้นฐานที่เราใช้นำไปใช้กับลูกค้าที่เป็น Tech Partner ของเราอยู่แล้ว” คุณบีกล่าว “เราต้องไปดูว่า ผู้บริโภคของเขาคือใคร ต้องการอะไร อันนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการคิด หรือพัฒนาเทคโนโลยีที่เราเข้าไปช่วยในฐานะ Tech Partner โดยวิเคราะห์จากข้อมูลของลูกค้า แล้วเราก็จะทราบว่าลูกค้าหลักที่แท้จริงของเขาเป็นคนกลุ่มไหน และเราจะนำเสนอนวัตกรรมแบบไหน ให้ตอบโจทย์เป้าหมายและกลุ่มลูกค้าของเขา

“สมัยก่อน นักธุรกิจมักจะทำธุรกิจตามประสบการณ์ เน้นการทำออฟไลน์เป็นหลัก อย่างเจ้าของห้าง ก็มักจะจัด Display หรือจัดงานเปิดตัวสินค้าในรูปแบบลักษณะเดิมตามที่เคยทำแล้วดี หรือเจ้าของสถานีโทรทัศน์ หากทำละครแบบไหนแล้วดี เขาก็จะคงทำแบบเดิม อาจะมีปรับเปลี่ยนวิธีการบ้าง ซึ่งมันขัดแย้งกับการทำดิจิทัลที่เวิร์ก เพราะไม่ได้เน้นการวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าเป็นสำคัญ ทำให้เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง ธุรกิจเหล่านี้จึงมักได้รับผลกระทบอย่างมาก ”

คุณบีได้เสริมอีกว่าการทำธุรกิจในโลกดิจิทัล จำเป็นต้องวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าแต่ละกลุ่ม เพื่อหาลูกค้าที่ใช่ และนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตรงใจแต่ละกลุ่มให้ได้ หมดยุคของ One-way communication marketing แล้ว

“ไม่ว่าจะเป็นออนไลน์แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งด้านความบันเทิงอย่าง Netflix, Youtube หรือแพลตฟอร์มด้านการท่องเที่ยว Agoda หรือแม้กระทั่งแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ก็แล้วแต่ เขาจะเน้นวิเคราะห์เกี่ยวกับข้อมูล (data) เป็นหลักว่าลูกค้าแต่ละกลุ่มมี pain point อะไร พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงอย่างไร สามารถนำข้อมูลที่มี มาสร้างและพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมทางดิจิทัล ให้ตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างไร”

ซึ่งในฐานะบริษัท Tech Partner อย่าง Muze ก็มีส่วนเข้าไปแนะนำองค์กรที่เป็น Tech Partner ในเรื่องนี้ด้วย

“เราจำเป็นต้องเข้าไปชี้ให้เขาเห็นว่า วิธีคิดของแต่ละองค์กร ควรจะไปโฟกัสที่ data กับ user เป็นหลัก แล้วเอาเทคโนโลยี ที่พัฒนาไปแก้ pain point เหล่านั้น เริ่มจากตรงนั้นก่อน เราต้องเข้าไปช่วยองค์กรปรับกระบวนความคิด (Mindset) อย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล (Digital Transformation) นั้นมาอย่างฉับพลัน และหลาย ๆ องค์กรใหญ่ คุ้นชินกับการทำธุรกิจแบบเดิมมากว่า 20–30 ปี จึงยากที่จะเปลี่ยนในทันที”

หมายความว่าการจะเข้าสู่ยุค Marketing 5.0 แต่ละองค์กรควรผลักดันให้ธุรกิจเกิดการทำ Digital Transformation ก่อน หลายองค์กรที่ยังไม่เข้าสู่กระบวนการดังกล่าว อาจสงสัยว่าถ้าอยากจะทำ Digital Transformation ตอนนี้จะทันหรือไม่ คุณบีก็มีคำตอบให้กับเราว่า

ถ้ายังไม่ทำตอนนี้ ยังไงอนาคตก็ต้องทำอยู่ดี ต่อให้ทันหรือไม่ทัน แต่ต้องไปหากระบวนการว่า แล้วจะทำยังไงให้ทันมากกว่า เพราะการทำ digital transformation ในหลาย ๆ องค์กร อาจจะไม่เหมือนกัน

“ส่วนใหญ่คนจะคิดว่าเอาดิจิทัล เข้าไปช่วยทำให้ธุรกิจให้ดีขึ้นได้อย่างไร แต่คำว่าช่วยธุรกิจ มันไม่ได้หมายความว่าเข้าไปช่วย insight ข้างใน มันควรจะต้องเป็นการไปช่วย drive เข้าหาผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปมากกว่า ดังนั้น ถ้าเขาเริ่มทำตอนนี้ ผมว่าไม่มีที่ไหนสายไปนะ แต่ต้องเข้าไปเริ่มทำกับ insight ของลูกค้าจริง ๆ ว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีมาทุกวันนี้ ลูกค้าต้องการอะไรที่สุด แล้วผลิตออกมาให้เร็ว เพื่อจะตอบโจทย์ลูกค้าที่มากที่สุด อันนี้มันถึงจะเป็นจุดที่เปลี่ยนแปลงที่เหมาะสม ไม่ใช่แบบ ฉันจะยิงแอดอย่างไรให้ฉันขายโปรดักต์ให้ดีขึ้น ถ้าคิดแบบนั้น มันไม่ใช่ digital transformation”

สุดท้ายนี้ คุณบีได้ฝากทิ้งท้ายไว้ว่า “โลกธุรกิจ การตลาด และเทคโนโลยี มันขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ เราก็มักจะมีความคิดว่าอยากจะกระโดดขึ้นทุกขบวนให้ทัน โดยอาจไม่รู้เลยว่าเทรนด์เหล่านั้น เหมาะสมกับธุรกิจของตัวเองหรือเปล่า

มันใช่ ที่เราต้องปรับตัวเพื่อการอยู่รอดจากการเปลี่ยนแปลง แต่เราต้องมุ่งหน้าไปตามทิศทางลมของเทรนด์เหล่านี้อย่างระมัดระวัง

เพื่อให้ดำเนินธุรกิจในยุคดิจิทัลได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยไม่สะดุดขาตัวเอง”

แล้วพบกับ Tech Talk with CEO เดือนหน้าครับ :)

--

--