ภาวะโลกร้อน และเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์คาร์บอน

Suppawat Boonrach
NanoTutor
Published in
5 min readJan 25, 2022

สามารถอ่านบทความเดียวกันนี้ในรูปแบบภาษาอังกฤษได้ที่ลิ้งค์ด้านล่าง

Global Warming and Carbon Capture and Utilizations | by Suppawat Boonrach | TechNounia | Jan, 2022 | Medium

บทนำ

โดยทั่วไปแล้ว รังสีจากแสงอาทิตย์สามารถออกไปสู่อวกาศได้อย่างง่ายดาย เพราะชั้นบรรยากาศไม่อาจปิดกั้นการเดินทางของพวกมันได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดภาวะโลกร้อนขึ้น ชั้นบรรยากาศของโลกได้กักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์รวมไปถึงสารมลพิษทางอากาศอื่น ๆ ที่ส่งผลให้เกิดการดูดซับแสงอาทิตย์และมีการสะท้อนกลับไปยังพื้นผิวของโลกจากชั้นบรรยากาศ อย่างที่แสดงไว้ในภาพด้านล่าง ซึ่งเป็นแผนผังอย่างง่ายที่แสดงว่าโลกนั้นได้เปลี่ยนรูปแบบของแสงอาทิตย์ไปสู่พลังงานอินฟราเรด

How does carbon dioxide trap heat? (Photo by A loose necktie on Wikimedia Commons)

พลังงานอินฟราเรดนี้เองสามารถถูกดูดซึมโดยแก๊สเรือนกระจกชนิดต่าง ๆ อาทิ คาร์บอนไดออกไซด์และมีเทน หลังจากนั้น แก๊สเหล่านี้ได้ถูกปลดปล่อยออกมาในรูปแบบของพลังงานอินฟราเรดกลับไปสู่โลกและบางส่วนก็หลุดออกสู่อวกาศ ดังนั้นชั้นบบรรยากาศของโลกที่ได้กักเก็บสารมลพิษเหล่านี้ไว้ ก็ได้เพิ่มการดูดซับแสงอาทิตย์และสะท้อนไปยังพื้นผิวของโลกเอง เป็นเหตุให้เกิดภาวะโลกร้อนขึ้นดังที่กล่าวไว้ในข้างต้น หากจะให้อธิบายเพิ่มเติม กล่าวคือมันมีหลายสาเหตุที่ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อนขึ้นตั้งช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรมระหว่างปี ค.ศ. 1850 และ ค.ศ. 1900 ที่เกิดจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ ส่วนใหญ่เกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอซซิล โดยภาพด้านล่างนี้แสดงให้เห็นถึงโรงไฟฟ้า Intermountain ในเมือง Delta มลรัฐ Utah ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้แหล่งพลังงานจากถ่านหิน ดำเนินการโดย Los Angeles Department of Water and Power

The Intermountain Power Plant in Delta, Utah (Photo CC license by Matt Hintsa)

การดักจับคาร์บอน (Carbon Capture) ที่เรียกกันอย่างย่อว่า CCS นั้นเกี่ยวข้องกับการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปลดปล่อยออกมาจากกระบวนการต่าง ๆ ทางอุตสาหกรรม เช่น การผลิตเหล็กกล้า การผลิตซีเมนท์ กระบวนการทางปิโตรเคมี และจากการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยแหล่งพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอซซิล หลังจากนั้นคาร์บอนที่ถูกดักจับได้จะถูกขนส่งจากแหล่งกำเนิดของพวกมันผ่านทางการขนส่งด้วยเรือหรือท่อลำเลียง และนำไปกักเก็บไว้ลึกลงไปในใต้ดินนั่นเอง

แม้ว่าจะมีการใช้งานพลังงานจากแหล่งทางเลือก ที่สามารถลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ควรที่จะมีปริมาณลดลงเพื่อที่จะช่วยบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) ผลสรุปคือ เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์คาร์บอน (Carbon Capture Utilization and Storage หรือ CCUS) จำเป็นต้องถูกนำไปใช้งานจริงนั่นเอง

ความแตกต่างระหว่าง CCUS และ CCS เป็นอย่างไร?

เมื่อเทียบกับ CCS แล้ว สำหรับ CCUS จะมีการนำคาร์บอนไดออกไซด์กลับไปใช้ประโยชน์ในกระบวนการต่าง ๆ ทางอุตสาหกรรม ด้วยการแปลงพวกมันไปเป็นพลาสติก คอนกรีต หรือพลังงานชีวภาพ แทนที่จะกักเก็บมันไว้เฉย ๆ

ภาวะโลกร้อน (Global Warming)

อิทธิพลของคาร์บอนไดออกไซด์ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โดยคารบอนไดออกไซด์ได้ดูดซับพลังงานอินฟราเรดที่มีความยาวคลื่นอยู่ระหว่าง 2,000 และ 15,000 นาโนเมตร หลังจากนั้นมันก็เกิดการสั่นและปลดปล่อยพลังงานอินฟราเรดเหล่านี้ไปทุกทิศทาง ซึ่งนำไปสู่ภาวะเรือนกระจก โดยแผนผังที่แสดงไว้ด้านล่างนี้ พลังงานจากดวงอาทิตย์ที่เดินทางมายังโลกนั้นจะอยู่ในรูปแบบของแสงที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า (Visible Light) แล้วโลกก็ทำการสะท้อนแสงเหล่านี้กลับไปเป็นพลังงานอินฟราเรดที่มีความยาวคลื่นที่ทั้งสั้นและช้ากว่า ขณะเดียวกันแก๊สออกซิเจนและไนโตรเจนไม่ตอบสนองต่อพลังงานอินฟราเรด แต่แก๊สเรือนกระจกอย่างคาร์บอนไดออกไซด์ตอบสนองต่อพลังงานเหล่านี้ด้วย

An electromagnetic spectrum diagram showing the wavelengths of different types of energy (Photo by NASA on Wikimedia Commons)

คาร์บอนไดออกไซด์อยู่ในชั้นบรรยากาศเพียงแค่ร้อยละ 0.04 ของชั้นบรรยากาศ ซึ่งจัดได้ว่ามีอยู่ถึงหลายพันล้านตัน โดยในปี ค.ศ. 2019 คาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศมีปริมาณมากถึง 36.44 พันล้านตัน ที่เปรียบเป็นตัวดักจับความร้อนทั่วทั้งชั้นบรรยากาศ เมื่ออ้างอิงกราฟด้านล่างนี้ ปริมาณของคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ (เส้นสีราสป์เบอร์รี่) มีปริมาณเพิ่มขึ้นตามการปลดปล่อยของมนุษย์ (เส้นสีน้ำเงิน) นับตั้งแต่การเริ่มต้นของการปฏิวัติอุตสาหกรรมในปี ค.ศ. 1750 เป็นต้นมา

CO2 emissions between 1751 and 2019 (Photo by NOAA Climate.gov)

การดักจับ การใช้ประโยชน์คาร์บอน (Carbon Capture and Utilization)

การดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Dioxide Capture)

สำหรับการดักคาร์บอนไดออกไซด์นั้น การเร่งใช้งานเทคโนโลยีการดักจับคาร์บอนนั้นจำเป็นต่อการลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากโรงไฟฟ้าและจากโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ อย่างโรงงานผลิตปูนซีเมนต์และเหล็กกล้า รวมไปถึงโรงงานปิโตรเคมีต่าง ๆ โดยเทคโนโลยีนี้มีด้วยกัน 2 แนวทาง แนวทางแรกคือ Bioenergy with Carbon Capture and Storage (BECCS) และแนวทางต่อมาคือ Direct Air Capture (DAC)

1.Bioenergy with Carbon Capture and Storage (BECCS)

Bioenergy with Carbon Capture and Storage เป็นเทคโนโลยี Carbon-negative ที่มีการรวมเอาการแปลงพลังงานชีวภาพอย่างยั่งยืนเข้ากับการดักจับและกักเก็บคาร์บอนไว้ในอันเดียวกัน

BECCS เป็นกระบวนการที่นำเอาชีวมวล (Biomass) ซึ่งเป็นสารอินทรีย์ โดยส่วนใหญ่มักจะนำเอาไม้หรือปุ๋ยมาแปลงผ่านการเผาจนกลายเป็นพลังงานชีวภาพ ทั้งพลังงานไฟฟ้าหรือแก๊สในสถานะของเหลวและแก๊ส โดยสามารถนับได้ว่าเป็นพลังงานหมุนเวียน ขณะที่มีการเผาไหม้ชีวมวลก็ได้มีการดักจับและกักเก็บคาร์บอน จึงนับได้ว่า BECCS เป็นกระบวนการที่คาร์บอนเป็นลบ (Carbon negative) ได้ กล่าวคือคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถูกกักเก็บไว้ในผลิตภัณฑ์เป็นเวลานาน อาทิ ป่าและหลุมฝังกลบขยะ

BECCS process (Photo by Liam McGill)

วิธีนี้เป็นแนวทางแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนเนื่องจากมีราคาที่ต่ำ โดยคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกดักจับผ่าน BECCS จะมีราคาอยู่ที่ระหว่าง $20 และ $100 เท่านั้น ในปัจจุบัน BECCS ได้ถูกรวมเข้ากับแนวทางการประเมินสำหรับการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เป็นเหตุให้ Paris Agreement ได้ตัดสินว่า BECCS นี้เป็นเทคโนโลยีสำคัญต่อการช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเลยทีเดียว

2.Direct Air Capture (DAC)

สำหรับเทคนิคการดักจับอากาศโดยตรง หรือ Direct Air Capture (DAC) จะมีเทคโนโลยีย่อย ๆ สองแนวทางที่ถูกใช้งานในการดับจับคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศในปัจจุบัน ดังนี้

  • ระบบของเหลว นำอากาศผ่านเข้าไปยังสารเคมี อย่างเช่น สารไฮดรอกไซด์ ที่จะกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากอากาศที่นำเข้ามา โดยระบบนี้จะนำเอาสารเคมีกลับเข้าสู่กระบวนการอีกครั้งด้วยการให้ความร้อน ณ อุณหภูมิ พร้อมทั้งเอาอากาศที่เหลือกลับคืนสู่สิ่งแวดล้อม
  • เทคโนโลยี DAC แบบของแข็ง เป็นการใช้งานตัวกรองแบบของแข็งที่จะผูกเข้ากับคาร์บอนออกไซด์ด้วยเชิงเคมี เมื่อตัวกรองได้รับความร้อนและอยู่ในสภาวะสุญญากาศ มันจะปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีความเข้มข้นสูงออกมา ซึ่งจะถูกดักจับเพื่อนำไปใช้หรือกักเก็บต่อไป

โดยกระบวนการ DAC จะเริ่มที่โครงสร้างขนาดใหญ่ที่มีรูปแบบเหมือนกับหอหล่อเย็นทางอุตสาหกรรม มีชื่อเรียกว่า Air contactor ซึ่งจะมีพัดลมขนาดใหญ่ที่ดูดอากาศผ่านเข้าไปในผิวพลาสติกบาง ๆ ที่มีโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ไหลเวียนอยู่ในนั้น โดยสารดังกล่าวจะผูกติดเข้ากับโมเลกุลของคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยเชิงเคมี พร้อมทั้งนำคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาจากอากาศและจับพวกมันให้อยู่ในรูปแบบของเกลือคาร์บอเนต ที่ต้องไปผ่านกระบวนการทางเคมีต่าง ๆ เพื่อเพิ่มความเข้มข้น ความบริสุทธิ์ รวมทั้งบีบอัดให้กับคาร์บอนไดออกไซด์จนพร้อมต่อการนำไปใช้งานหรือกักเก็บ ซึงกระบวนการนี้จะเกี่ยวจ้องกับการแยกด้วยเตาปฏิกรณ์แบบ Pellet (Pellet reactor) ซึ่งถูกประยุกต์มาจากเทคโนโลยีบำบัดน้ำเสีย ที่จะกรองโดยเอาเกลือออกจาก Pellet เหล่านี้ และให้ความร้อนกับ Pellet ในขั้นตอนที่สามแล้ว Calciner จะปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาในรูปแบบของแก๊สบริสุทธิ์ หลังจากนั้น Pellet จะถูกทำให้แห้งใน Slaker และถูกนำกลับไปใช้ใหม่ในกระบวนการดักจับคาร์บอนต่อไป

CE’s Direct Air Capture process (Photo by Carbon Engineering)

มีโรงงานดักจับคาร์บอนจากอากาศโดยตรงกว่า 19 โรงงานทั่วโลก ที่ได้ดักจับไปได้ในปริมาณมากกว่า 0.01 เมกะตันของคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี โดยในแผนการปลดปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ในปี ค.ศ. 2050 นั้น DAC จะถูกยกระดับให้สามารถดักจับได้มากกว่า 0.085 เมกะตันของคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี ภายในปี ค.ศ. 2030 และ 0.98 เมกะตันของคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี ภายในปี ค.ศ. 2050 ซึ่งในระดับการใช้งานขนาดนี้ต้องอาศัยการนำเสนอเทคโนโลยีใหม่ ๆ รวมทั้งต้องลดต้นทุนในการดักจับด้วย

CO2 capture by direct air capture in the Net Zero Scenario, 2020–2030 (Photo by International Energy Agency)

แนวทางการใช้ประโยชน์คาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Dioxide Utilization Pathways)

การดักจับและการใช้ประโยชน์คาร์บอนไดออกไซด์เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่านั่นอาจช่วยลดต้นทุนสุทธิของการลดการปลดปล่อยหรือกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศได้ โดยการใช้ประโยชน์คาร์บอนไดออกไซด์ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นเรื่อยมาในแวดวงด้านวิทยาศาสตร์ ส่วนหนึ่งเป็นเหตุมาจากการตัดสินใจต่าง ๆ เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และส่วนที่เหลือก็คือการใช้งานคาร์บอนไดออกไซด์เป็นวัตถุดิบในการผลิตนั้นมีราคาถูกหรือมีกระบวนการผลิตที่สะอาดกว่าการใช้งานสารไฮโดรคาร์บอนดั้งเดิม

โดยมีแนวทางการใช้ประโยชน์คาร์บอนไดออกไซด์ 10 แนวทาง ดังนี้

  1. Carbon dioxide-based chemicals —คาร์บอนไดออกไซด์สามารถถูกเปลี่ยนรูปแบบไปเป็นสารเคมีชนิดต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่มีเพียงไม่กี่เทคโนโลยีเท่านั้นที่ใช้งานและขยายขนาดได้ในเชิงเศรษฐศาสตร์ โดยีเพียงไม่กี่อย่างเท่านั้นที่ถูกใช้งานจริงในเชิงพาณิชย์ เช่น การผลิต Urea, Polycarbonate รวมทั้ง Polyols สำหรับศักยภาพในการใช้งานคาร์บอนไดออกไซด์ในแนวทางนี้ ได้ถูกประเมินไว้ที่ประมาณ 0.3 ไปจนถึง 0.6 กิกะตันของคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี ภายในปี ค.ศ. 2050
  2. Carbon dioxide-based Fuels —เชื้อเพลิงที่ได้จากคาร์บอนไดออกไซด์เป็นตัวเลือกที่น่าดึงดูดต่อกระบวนการลดคาร์บอนไดออกไซด์เนื่องจากความสามารถในการใช้งานในระบบโครงสร้างพื้นฐานของการขนส่งที่มีอยู่แล้วได้ สำหรับศักยภาพในการใช้งานคาร์บอนไดออกไซด์ไปเป็นเชื้อเพลิง ได้ถูกประเมินไว้อย่างกว้าง ๆ ตั้งแต่ 1 ถึง 4.2 กิกะตันของคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี
  3. Microalgae Fuels and Products —แนวทางที่ใช้งานสาหร่ายต้องการเตาปฏิกรณ์ชีวภาพเชิงแสง และการสังเคราะห์เชื้อเพลิงนั้นต้องการใช้งานอิเล็กโตรไลเซอร์ ประสิทธิภาพในการตรึงคาร์บอนไดออกไซด์ที่สูงของสาหร่ายเซลล์เดียวนั้นได้รับความสนใจเป็นหัวข้องานวิจัยมากมาย เช่นเดียวกันกับศักยภาพในการผลิตผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้หลากหลาย สำหรับศักยภาพในการใช้งานคาร์บอนไดออกไซด์สำหรับสาหร่ายเซลล์เดียว ได้ถูกประเมินไว้ที่ช่วงตั้งแต่ 0.2 ไปจนถึง 0.9 กิกะตันของคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี
  4. Concrete Building Materials — คาร์บอนไดออกไซด์ถูกใช้เป็นตัวบ่มปูนซีเมนต์ (Cement curing agent) ในตลาดคอนกรีตแบบหล่อสำเร็จ (Precast concrete) และกว่าร้อยละ 70 ของตลาดปูนซีเมนต์แบบเท สำหรับแนวทาง Concrete building materials ได้ถูกประเมินไว้ในการกำจัด ใช้งาน และกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ระหว่าง 0.1 และ1.4 กิกะตันของคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี
  5. Carbon Dioxide Enhanced Oil Recovery (CO2-EOR) — โดยทั่วไป ผู้ปฏิบัติงานในงานปิโตรเลียมได้มุ่งเน้นไปยังการนำน้ำมันและคาร์บอนไดออกไซด์กลับมาในปริมาณมากที่สุด อยู่ระหว่าง 1.1 และ 3.3 บาร์เรลของน้ำมันที่ผลิตได้ต่อ 1 ตันของคาร์บอนไดออกไซด์ โดยการประเมินอัตราการใช้ประโยชน์ของแนวทางนี้ในปี ค.ศ. 2050 คือ 0.1 ไปถึง 1.8 กิกะตันของคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี
  6. Bio-energy with Carbon Capture and Storage (BECCS) —เป็นเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการดักจับคาร์บอนจากชั้นบรรยากาศเชิงชีวภาพผ่านกระบวนการสังเคราะห์แสง และผลิตกระแสไฟฟ้าหรือเชื้อเพลิงด้วยชีวมวล โดย BECCS ได้ถูกประเมินไว้ในการกำจัด ใช้งาน และกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ระหว่าง 0.5 และ 5.0 กิกะตันของคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี
  7. Enhanced Weathering — เป็นการใช้การตากลมฝนของพื้นที่เพาะปลูกที่สามารถเพิ่ม Crop yield ได้ โดยการเพิ่มขึ้นของ Yield นี้มาจากแร่ธาตุสารอาหารภายในดินที่เป็นผลมาจากค่า pH อย่างไรก็ดี ยังไม่มีการประเมินอัตราการใช้ประโยชน์ของแนวทางนี้
  8. Forestry Techniques — คาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศได้ถูกกำจัดผ่านทางการสังเคราะห์แสง และถูกกักเก็บไว้ในต้นไม้ โดยการประเมินอัตราการใช้ประโยชน์ของแนวทางนี้ภายในปี ค.ศ. 2050 อยู่ที่ 0.01 ถึง 1.1 กิกะตันของคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี
  9. Land Management — คาร์บอนไดออกไซด์ที่อยู่ในดินได้ถือว่าถูกใช้หรือถูกกักเก็บ อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยแนวทางนี้ได้ถูกประเมินไว้ในการกำจัด ใช้งาน และกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ระหว่าง 0.9 และ 1.9 กิกะตันของคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี
  10. Biochar — เป็นวัสดุเชิงชีวภาพที่อุดมไปด้วยคาร์บอน ที่ถูกสร้างจากการสันดาปของชีวมวลผ่านกระบวนการที่เรียกว่าการไพโรไลซิส (Pyrolysis) โดยการประเมินอัตราการใช้ประโยชน์ของแนวทางนี้ภายในปี ค.ศ. 2050 อยู่ที่ 0.17 ถึง 1.0 กิกะตันของคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี
Stocks and net flows of CO2 including potential utilization and removal pathways (Photo from The technological and economic prospects for CO2 utilization and removal)

บทสรุป

ประการแรก การใช้ประโยชน์คาร์บอนไดออกไซด์มีความสม่ำเสมออย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับการดักจับและการกักเก็บคาร์บอน

ประการที่สอง แนวทางการใช้ประโยชน์คาร์บอนไดออกไซด์ต่าง ๆ อาจลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ยังมีศักยภาพที่จำกัดในการกำจัด ขณะเดียวกันมีบางแนวทางที่สามารถกำจัดและใช้งานคาร์บอนไดออกไซด์ได้ในที่เดียว

ประการสุดท้าย กลยุทธ์ต่าง ๆ ในปัจจุบันเพื่อที่จะลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์นั้นจำเป็น แต่อาจจะไม่เพียงพอ

เอกสารอ้างอิง

Alper, E., Orhan, O., CO2 Utilization: Developments In Conversion Processes, Petroleum, Volume 3, Issue 1, 2017, Pages 109–126, ISSN 2405–6561, https://doi.org/10.1016/j.petlm.2016.11.003.

American Institute of Chemical Engineers, What is CCUS?, Source: https://www.aiche.org/ccusnetwork/what-ccus, Retrieved 14 January 2022.

CO2 Sciences and The Global CO2 Initiative, Global Roadmap for Implementing CO2 Utilization, Source: https://deepblue.lib.umich.edu/bitstream/handle/2027.42/150624/CO2U_Roadmap_FINAL_2016_12_07%28GCI%29.pdf?sequence=1&isAllowed=y, Retrieved 12 January 2022.

Fecht, S., Columbia Climate School, How Exactly Does Carbon Dioxide Cause Global Warming?, Source: https://news.climate.columbia.edu/2021/02/25/carbon-dioxide-cause-global-warming/, Retrieved 13 January 2022.

Hepburn, C., Adlen, E., Beddington, J. et al., The technological and economic prospects for CO2 utilization and removal, Nature, Volume 575, 2019, Pages 87–97, https://doi.org/10.1038/s41586-019-1681-6.

International Energy Agency, Direct Air Capture, Source: https://www.iea.org/reports/direct-air-capture, Retrieved 14 January 2022.

International Energy Agency, Global Energy Review: CO2 Emissions in 2020, Source: https://www.iea.org/articles/global-energy-review-co2-emissions-in-2020, Retrieved 12 January 2022.

M.A. Quader, S. Ahmed, Chapter Four — Bioenergy With Carbon Capture and Storage (BECCS): Future Prospects of Carbon-Negative Technologies,, Clean Energy for Sustainable Development, Academic Press, 2017, Pages 91–140, ISBN 9780128054239, https://doi.org/10.1016/B978-0-12-805423-9.00004-1.

Meylan, F., Moreau, V., Erkman, S., CO2 Utilization In The Perspective Of Industrial Ecology, An Overview, Journal of CO2 Utilization, Volume 12, 2015, Pages 101–108, ISSN 2212–9820, https://doi.org/10.1016/j.jcou.2015.05.003.

NASA’s Jet Propulsion Laboratory, Overview: Weather, Global Warming and Climate Change, Source: https://climate.nasa.gov/resources/global-warming-vs-climate-change/, Retrieved 12 January 2022.

Steen, M., Joint Research Centre (European Commission), Greenhouse Gas Emissions From Fossil Fuel Fired Power Generation Systems, Source: https://op.europa.eu/en/publication-detail/-/publication/221658dd-9556-4591-86ea-51544346a8f7, Retrieved 12 January 2022.

Vandermal, J., Preventing Climate Change With BECCS: Bioenergy With Carbon Capture And Storage, Source: https://psci.princeton.edu/tips/2020/11/15/preventing-climate-change-with-beccs-bioenergy-with-carbon-capture-and-storage, Retrieved 17 January 2022.

--

--

Suppawat Boonrach
NanoTutor

A hybrid Robotic/Chemical Engineer with Nano Engineering Degree