ทำความรู้จักกับ IoT Platform

Panita Pongpaibool
NECTEC
Published in
2 min readSep 7, 2017

IoT Platform กลายเป็นกระแสใหม่ในวงการ IoT เมื่อสองปีที่แล้วแทบไม่มีใครรู้จักว่า IoT Platform คืออะไร มาปีนี้คนที่สนใจ IoT ต่างเคยได้ยิน เคยใช้ IoT Platform กันแล้ว

บริษัท Gartner ขาประจำนักจัดอันดับเทคโนโลยี พูดถึง IoT Platform เป็นครั้งแรกในปี 2559 โดยจัดให้ IoT Platform อยู่ใน Hype Cycle for Emerging Technologies ที่คาดว่าจะเข้าสู่การยอมรับใช้งานจริงภายใน 5–10 ปี ในเดือนสิงหาคม 2560 Gartner ประกาศ Hype Cycle รอบใหม่ซึ่ง IoT Platform ก็ยังติดโผแถมยังไต่ระดับความคาดหวังขึ้นและช่วงเวลาแห่งการยอมรับได้ถูกขยับสั้นลงเป็น 2–5 ปี แสดงให้เห็นถึงการเติบโตอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี IoT Platform ที่ดูจะไม่ใช่แค่กระแสอีกต่อไป

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาผู้ให้บริการคลาวด์สาธารณะรายใหญ่ ต่างเปิดตัวบริการคลาวด์สำหรับ IoT เช่น Amazon เปิดบริการ AWS IoT ปลายปี 2558 Microsoft เปิดบริการ Azure IoT Hub ต้นปี 2559 IBM Bluemix IoT เปลี่ยนชื่อเป็น Watson IoT Platform ในปี 2559 ล่าสุด Google ก็กระโดดมาร่วมวงด้วยโดยส่ง Google Cloud IoT มาลองสนามแบบ Private Beta ก่อน

IoT Analytics ประเมินว่าทั่วโลกมีผู้ให้บริการ IoT Platform ระดับชั้นนำประมาณ 15 ราย และผู้ให้บริการรายย่อยรวมถึงสตาร์ทอัพอีกมากกว่า 450 ราย และวิเคราะห์ว่าธุรกิจแพลตฟอร์ม IoT ทั่วโลกมีมูลค่าซื้อขาย 298 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2015 และมีแนวโน้มเติบโตในอัตรา 33% ต่อปีไปจนถึงปี 2021 ที่คาดว่ามูลค่าตลาดจะขึ้นไปสูงถึง 1.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ

IoT Platform แต่ละแห่งมีองค์ประกอบพื้นฐานที่คล้ายกัน นั่นคือการจัดการการเชื่อมต่อ (Connectivity Management) การจัดการอุปกรณ์ (Device Management) การเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล และการแสดงผลข้อมูลแบบกราฟฟิก (Dashboard) ความแตกต่างของแต่ละบริการอยู่ที่การชูจุดเด่น เช่นออกแบบมาเพื่อรองรับฮาร์ดแวร์บางยี่ห้อเป็นพิเศษ หรือเน้นความสามารถประมวลผลข้อมูลบางประเภท หรือเน้นการใช้งานง่าย เขียนโปรแกรมน้อย ฯลฯ การศึกษาจุดเด่นและข้อจำกัดของแต่ละบริการ IoT Platform จึงเป็นสิ่งจำเป็น สำหรับนักพัฒนาที่จะเลือกใช้บริการได้เหมาะสมกับงานของตน

อีกประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาในการเลือก IoT Platform คือ ตำแหน่งที่ตั้งของบริการ ในฐานะนักพัฒนาไทยเราไม่ต้องการให้คำสั่งควบคุมจากโทรศัพท์มือถือไปยังหุ่นยนต์ดูดฝุ่นที่บ้านต้องเดินทางผ่านคลาวด์ที่อเมริกาหรือยุโรป เพราะเสี่ยงกับปัญหาความเสถียรของเครือข่าย ข้อมูลสูญหาย และเวลาในการรับส่งข้อมูล (delay) ที่นานเกินจำเป็น ซึ่งบริการ IoT Platform ในไทยจะช่วยตอบโจทย์นี้ได้ หากท่านกำลังพัฒนาผลิตภัณฑ์ IoT สำหรับตลาดในประเทศ ขอแนะนำให้ใช้ NETPIE ซึ่งเป็น IoT Platform ที่พัฒนาและให้บริการโดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค)

โดยสรุป IoT Platform เป็นบริการที่อำนวยความสะดวกให้กับนักพัฒนาหรือผู้ประกอบธุรกิจ IoT ไม่ต้องจัดซื้อ ไม่ต้องติดตั้งระบบ ไม่ต้องดูแลเรื่องเซิฟเวอร์หลังบ้านเอง IoT Platform จึงช่วยลดขั้นตอนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ IoT และลดภาระให้กับบริษัทผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ IoT

เอกสารอ้างอิง

  1. IoT Analytics, “IoT Platforms: Market Report 2015–2021,” Market report excerpt, January 2016. Accessible from https://www.ptc.com/en/internet-of-things/analyst-reports. Last accessed August 15, 2017.
  2. IoT Analytics, “IoT Platform Comparison: How the 450 providers stack up,” July 2017. Accessible from https://iot-analytics.com/iot-platform-comparison-how-providers-stack-up/. Last accessed August 16, 2017.
  3. Gartner, “Gartner’s 2016 Hype Cycle for Emerging Technologies Identifies Three Key Trends That Organizations Must Track to Gain Competitive Advantage,” August 2016. Accessible from http://www.gartner.com/newsroom/id/3412017. Last accessed August 16, 2017.
  4. Gartner, “Top Trends in the Gartner Hype Cycle for Emerging Technologies, 2017,” August 2017. Accessible from http://www.gartner.com/smarterwithgartner/top-trends-in-the-gartner-hype-cycle-for-emerging-technologies-2017/. Last accessed August 16, 2017.

Originally published at blog.netpie.io on September 7, 2017.
บทความตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 7 กันยายน 2560

--

--

Panita Pongpaibool
NECTEC
Writer for

Deputy Director at National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC), and member of NETPIE, the leading IoT cloud platform in Thailand.