มาตรฐานและปัญญาประดิษฐ์ ตอนที่ 0

Apivadee Piyatumrong
NECTEC
Published in
3 min readFeb 14, 2023

ตอนที่ 1 เล่าไปแล้วว่าได้มีโอกาสไปศึกษามาตรฐานเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ โอกาสนั้นก็คือการทำโครงการศึกษา AI Standard Landscape ของประเทศไทย ซึ่งทำให้ได้มีโอกาสศึกษาจริงจัง และได้พูดคุยกับ Stakeholders ซึ่งเราก็ตั้งต้นทำการสัมภาษณ์เชิงลึกด้วยกลุ่มเป้าหมาย 10 อุตสาหกรรมตามแผนปฏิบัติการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย รวมถึงอุตสาหกรรมบริการดิจิทัลและซอฟต์แวร์ ผู้ซึ่งน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องตรง ๆ กับมาตรฐาน AI ในฐานะผู้ผลิตและควบรวมชุดซอฟแวร์ต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้งาน

ต้องขอบอกว่า ด้วยสถานการณ์ที่ร้อนแรงของการร่าง พรฎ. ที่จะมาควบคุมปัญญาประดิษฐ์ในไทย ที่กำลังจัดเวทีประชาพิจารณ์ รวมถึงมีเวทีหารือวงกว้างกันอยู่ในช่วงนั้น ทำให้ 80% ของการพูดคุยเรื่อง “มาตรฐานปัญญาประดิษฐ์” ช่วงนั้นเหมือน

เปล่งเสียงให้เธอฟังเท่าไร เธอก็ไม่ได้ยิน

เพราะเธอ-เธอ หูดับไปแล้วกับคำว่ากฎหมาย และความรับผิดหากกระทำอะไรที่ขัดแย้งกับกฎหมาย… ดังนั้นส่วนหนึ่งของการพูดคุย จะกลายเป็นเรื่องของความเห็น (แย้ง) เกี่ยวกับ “การกำกับดูแลและการออกกฎหมาย” เพื่อบังคับอะไรบางอย่างที่เกี่ยวกับ AI ซึ่งแน่นอนว่าทีมวิจัยก็ใช้เวลาไปอีกส่วนหนึ่งเพื่อการอธิบายความแตกต่าง ระหว่างกฎหมาย การกำกับดูแล และมาตรฐานปัญญาประดิษฐ์

ตอนที่ 0 นี้เลยอยากกลับมา recap สิ่งที่ได้จากโครงการศึกษา AI Standard Landscape ในส่วนที่อาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัวมาตรฐานโดยตรง แต่เป็นผลกระทบ คำถามที่ห่วงใยหลัก ๆ เกี่ยวกับมาตรฐานปัญญาประดิษฐ์จากการสัมภาษณ์เชิงลึกมากกว่า

ประกอบกับการไปร่วมเสวนาเวที AI Governance Webinar 2023 : EP 1 รู้จักมาตรฐาน ISO ด้าน AI เข้าใจหลักการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ของ สพธอ. หรือ ETDA เลยทำให้ต้องกลับไปรวบยอดความคิดตัวเองกลับมาอีกครั้งนึงก่อนเสวนา

ps. เรื่องความสัมพันธ์ของหน่วยงานรัฐใน AI Ecosystem ของไทยนี่ก็น่านำมาขยายมาก ๆ ว่าใครเป็นใครทำอะไรนะ DE, ETDA, สพธอ., สดช. ฯลฯ (ขอเก็บไว้ก่อนนะจ๊ะ)

เอาล่ะ

นั่นล่ะฮะ กลับมาสรุปใจความกันอีกรอบ ทำเป็นสไลด์เก็บไว้นั่นแหละ
เราทำการสัมภาษณ์ครบทุกกลุ่มเป้าหมาย แต่อาจจะยังไม่ใช่วงกว้างมากนัก เรื่องนี้ยังต้องถูกพูดคุยฟังความเห็นทุกฝ่ายอย่างต่อเนื่องนะ เพราะ use cases หรือ scenario การใช้งานน่าจะแตกต่างกันมากพอสมควร
ซึ่งจากการทำแบบสอบถาม และคอนเฟิร์มด้วยการสัมภาษณ์ เราพบว่า กลุ่มผู้เข้าร่วมการสัมฯ แบ่งได้เป็นสามกลุ่มหลักนั่นคือ กลุ่มผู้ใช้งาน กลุ่มผู้พัฒนาและใช้งาน และกลุ่มผู้ตรวจสอบ/ประเมิน/รับรองระบบ
สำหรับกลุ่มผู้ใช้งานจะมีความคาดหวังที่ชัดเจนว่า อยากให้มีมาตรฐานปัญญาประดิษฐ์มาช่วยการจัดซื้อจัดจ้าง ช่วยทำให้เกิดการพูดคุยและเซ็ตความคาดหวังร่วมกับผู้พัฒนาได้ดียิ่งขึ้น เห็นได้ว่าเจ็บตัวกันมามากพอสมควร และอยากให้มาตรฐานมาเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ให้

ที่จริงประเด็นเรื่องความคาดหวังจากฝั่งผู้ใช้งานระบบปัญญาประดิษฐ์ และสิ่งที่เป็นไปได้จากความสามารถของปัญญาประดิษฐ์ในปัจจุบัน เป็นเรื่องที่พวกเราต้องช่วยกันอธิบาย ให้ความรู้ หรือที่เรียกว่า AI Literacy ยิ่งผู้คนในสังคม สามารถที่จะเข้าใจ อ่านออกเขียนได้เกี่ยวกับ AI ได้มากเท่าใด การนำ AI ไปใช้งาน และสร้างสรรค์นวัตกรรม ยิ่งเป็นไปได้รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากเท่านั้น เพราะถ้าเราสังเกตให้ดี นวัตกรรมหลาย ๆ อย่างที่เกิดขึ้นได้บนโลกนั้นนำหน้าเทคโนโลยี เราดูจากหนังภาพยนตร์ Sci-fi ก็ได้นะ ไอเดียหลาย ๆ อย่างถูกแสดงให้เห็นและชักนำให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมก่อนหน้าที่เทคโนโลยีที่เป็นหัวใจสำคัญจะสามารถทำได้ และเป็นอย่างนี้มานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น :-) (ตัวอย่างง่าย ๆ ก็ Star wars หรือ gadget ของ 007)

หน้านี้อาจจะไม่ได้ capture รายละเอียดทั้งหมด แต่ก็เป็นส่วนหลัก ๆ ที่เราจับประเด็นมาให้ รายละเอียดจะอยู่ในรายงานการศึกษาของโครงการฯ

ขอเริ่มด้วยมุมมองของผู้ตรวจสอบ ประเมิน และรับรองระบบงาน เวลาที่หน่วยงานต้องการที่จะแน่ใจว่าสามารถดำเนินการได้สอดคล้องกับมาตรฐานหนึ่ง ๆ ก็จะมีการ audit โดยกลุ่มผู้ตรวจสอบประเมินนี้นี่เอง มุมมองของกลุ่มผู้ถูกสัมภาษณ์นี้น่าสนใจ และเปิดโลกมาก ๆ เพราะสิ่งที่ท่านเหล่านี้เป็นห่วงเป็นเรื่องเกี่ยวกับการรักษาผลประโยชน์ให้กับประเทศ โดยเน้นแนวคิดที่ว่าเทคโนโลยีที่เกิดการนำเข้า หรือพัฒนาขึ้นนั้น หากจะใช้งานในประเทศไทย ย่อมต้องเหมาะสมกับบริบทประเทศไทย ซึ่งแน่นอนว่ารวมถึง กฎหมาย วัฒนธรรม สภาพแวดล้อม ความเป็นอยู่ เพื่อให้เกิดความปลอดภัย และความเข้ากันได้กับระบบอื่น ๆ ในประเทศเป็นสำคัญ

นอกจากแนวคิดความสอดคล้องของเทคโนโลยีกับบริบทประเทศไทยแล้ว เรื่องความพร้อมในเชิง ecosystem หรือระบบนิเวศน์มาตรฐานของประเทศก็เป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง โดยเฉพาะกระบวนการดำเนินกิจกรรมให้เกิดการรับรองระบบงานที่ได้มาตรฐาน จะต้องประกอบไปด้วยผู้ให้ความรู้ ให้คำแนะนำ ดำเนินการตรวจสอบ และประเมินเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล หากเรากำลังมุ่งไปในทิศทางที่มี Startup ด้านปัญญาประดิษฐ์จำนวนมากเกิดขึ้นในประเทศ แต่ระบบนิเวศน์มาตรฐานไม่สามารถรองรับจำนวนระบบงานที่ต้องการได้รับการตรวจประเมิน ก็อาจจะส่งผลต่อ “การเสียโอกาส” ในการเกิดขึ้นของนวัตกรรมก็เป็นได้ สำหรับแนวคิดนี้ยังรวมไปถึงระยะเวลาที่ต้องเสียไปในระหว่างกระบวนการตรวจประเมินที่อาจส่งผลกระทบต่อ time-to-market ของนวัตกรรมได้

นอกจากนี้ประเด็นความชัดเจนของนโยบายจากภาครัฐ ก็เป็นหนึ่งประเด็นที่กลุ่มผู้ตรวจสอบให้ความสนใจ เช่นเดียวกันกับกลุ่มนักพัฒนา ที่ยกให้เรื่องนี้เป็นประเด็นข้อกังวลหลัก

“ความชัดเจน” ของแนวทาง หรือรูปแบบการกำกับดูแล หรือ ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยี ภาครัฐกำลังโน้มเอียงไปในทิศทางใด เหนืออื่นใด ทุกคนกังวลเพราะการพัฒนาเทคโนโลยีต้นน้ำในประเทศไทย ที่ผ่านมาก็ปรากฏหลักฐานให้เห็นอยู่เนือง ๆ ว่าเป็นไปได้ยากหากขาดการสนับสนุนที่แข็งแรงร่วมกันจากทุกภาคส่วน ดังนั้นความกังวลเกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในไทยยิ่งทวีคูณเมื่อเห็นแนวโน้มการตั้งข้อจำกัดขึ้นมาผ่าน พรฎ. หรือกฎหมายอื่น ๆ รวมถึงการกำกับดูแลผ่านมาตรการอื่น ๆ ที่ไม่ว่าจะเป็น Self-regulate หรือ นโยบายการกำกับดูแลการใช้เทคโนโลยีภายในหน่วยงานภาครัฐก็ตาม เพราะนั่นหมายถึงขั้นตอนการทำงานที่ต้องเพิ่มขึ้น การใช้เวลาทำความเข้าใจร่วมกันที่มากขึ้น และอาจหมายถึงการกีดกันทางการค้าในที่สุด ซึ่งเกิดจากการมีข้อกำหนดที่เข้มงวด และอาจจะไม่เป็นกลางทำให้บางหน่วยงานไม่สามารถเข้าเสนอผลงานเพื่อทำการซื้อขายได้ เป็นต้น

สิ่งที่หน่วยงานภาคเอกชนพูดถึงอย่างมาก นอกจากการไม่สร้างกฎเกณฑ์ขึ้นมาขวางกั้นโอกาสในการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์แล้ว รัฐควรช่วยสนับสนุน ส่งเสริมเพื่อสร้างโอกาสที่เท่าเทียมให้กับหน่วยงานที่มีกำลังต่างกัน ให้สามารถเข้าถึงความเป็นมาตรฐานได้อย่างเท่าเทียม ซึ่งนั่นต้องพึ่งพานโยบาย และการลงทุนโดยรัฐ เช่น ค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปในกระบวนการตรวจสอบรับรอง หรือค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปกับทรัพยากรการคำนวณในการทำการทดสอบระบบเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐาน ซึ่งมีราคาสูง เป็นต้น

ข้อดีของการนำมาตรฐานมาช่วยประเมินกระบวนการ R&D โดยเฉพาะส่วน development คือการที่มี checklist ให้เรา explicitly tick ว่าฉันทำแล้วนะเรื่องนี้ ทั้ง ๆ ที่เดิมก็ทำอยู่แล้วแหละ แต่มันไม่ถูก highlight

ทั้งนี้ ทีมวิจัยเองก็ได้มีโอกาสทดลองแนวคิดที่จะนำมาตรฐานปัญญาประดิษฐ์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการพัฒนางานวิจัยไปสู่ผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะสำหรับทีมที่มีงานวิจัยที่ผ่านร้อนผ่านหนาวทางวิศวกรรม จนสามารถผ่านหุบเหวมรณะออกใช้ได้จริงในตลาดได้ แน่นอนว่ามุมมองต่อมาตรฐานย่อมต่างจากงานวิจัยที่ยังเป็น state-of-the-art จุดที่เด่นที่สุดคือการร่วมรับผิดชอบต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้ในการใช้งานจริง ประเด็นที่สองคือหลังจากที่เราผ่านอะไรมามากมายในแง่การผลิตซึ่งต้องแก้ปัญหาเชิงวิศวกรรม เราพบว่ามาตรฐานเป็นเสมือนผู้ช่วยให้เกิดการประเมินที่ครบถ้วน ดึงจุดที่เราได้ประเมินความเสี่ยงและแก้ปัญหาแล้วขึ้นมาอยู่บนกระดานได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น ทำให้ทีมวิจัยมั่นใจมากขึ้นตลอดกระบวนการวิจัยและพัฒนาว่าเราได้มาตรฐาน

ซึ่งจากความพยายามสัมภาษณ์ตัวแทนจากกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในระบบนิเวศน์ ไม่ว่าจะเป็นผู้ตรวจสอบประเมิน กลุ่มนักพัฒนา AI และระบบงาน AI ทั้งจากภาคธุรกิจ และภาควิจัย เราพบว่าอย่างแรก ๆ ที่ต้องให้ความรู้กับสังคมคือความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานปัญญาประดิษฐ์ ว่ามีความแตกต่างจาก “กฎหมาย” หรือ “การกำกับดูแล” อย่างไร มาตรฐานมีเป้าหมายที่เป็นสากลมาอย่างยาวนานที่จะเป็นเครื่องมือในการยกระดับคุณภาพของอุตสาหกรรม ปกป้องความปลอดภัยต่อผู้บริโภค และเพิ่มประสิทธิภาพในการเชื่อมต่อระหว่างระบบ หรือแม้กระทั่งการสร้างความเข้าใจร่วมกันที่เป็นสากลเกี่ยวกับเรื่องที่มาตรฐานนั้น ๆ กล่าวถึง

ประเด็นถัดมาคือการพูดคุยเกี่ยวกับมาตรฐานต้องเข้าถึงคนทุกกลุ่มที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อแสดงความเห็นที่อาจจะมี special use case หรือรูปแบบการใช้งานที่จำเพาะเจาะจง แต่มีประเด็นใหญ่พอที่จะต้องคำนึงถึงในมาตรฐานก็เป็นได้ อย่างไรก็ดี การสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนามาตรฐานมักเป็นเรื่องปกติที่จะต้องกระทำอยู่แล้ว ขึ้นกับผู้จัดการเวที ว่าจะสามารถดึงกลุ่มผู้คนที่หลากหลายได้มากน้อยแค่ไหน ดังนั้น ถ้าพวกเราอ่านมาถึงตรงนี้ และได้ยินว่าเขามีเวทีที่รับฟัง ปรึกษา หรือหารือ ก็อยากชวนให้เข้าไปร่วม ก็พยายามพาตัวเองเข้าไป เพื่อช่วยผู้จัดฯเองด้วยอีกทางหนึ่งให้สามารถเข้าถึงกลุ่มคนที่หลากหลาย และมีคุณค่าต่อการพัฒนามาตรฐานไทยด้วย

ประเด็นที่ 3 ที่ทีมร่วมโครงการศึกษาฯ เห็นปัญหาได้อย่างชัดเจนคือความพร้อมของ AI Standard ecosystem ของบ้านเรา… ใครล่ะ จะเป็นผู้ตรวจสอบ มีจำนวนมากพอที่จะรองรับงานได้กี่ชิ้นต่อปี ใครล่ะ จะเป็นผู้ให้ความรู้เชิงเทคนิค ส่วนเรื่องกระบวนการอันนี้น่าจะมีเยอะพอสมควรตามผู้เชี่ยวชาญ และที่ปรึกษาด้านมาตรฐาน ISO และอื่น ๆ นอกจากนี้การผลักดันมาตรฐานปัญญาประดิษฐ์ให้เกิดขึ้นในสังคมยังอาจรวมไปถึงการเกิดขึ้นของเครื่องมือที่จะมาช่วย jump start ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ที่อาจจะมีความพร้อมไม่เท่ากันอีก เช่น การมี sandbox ให้ได้ทดลองแบบผิดพลาดได้ ทำซ้ำได้ มี marketplace ให้หน่วยงานต่าง ๆ มาแลกเปลี่ยนเทคนิค หรือขั้นตอนการทำงานที่มีความจำเพาะเจาะจงออกไปตามธุรกิจ หรือ use case ของ AI เพื่อให้เกิดการต่อยอดการเรียนรู้ มี community ที่เกิดการพูดคุย ปรึกษา หารือกันได้ในเรื่องมาตรฐาน เป็นต้น

ประเด็นที่ 4 ก็ต่อเนื่องจากข้างต้นรัว ๆ โดยเฉพาะประเด็นนโยบายของประเทศที่จะสร้างให้เกิดการส่งเสริม และสนับสนุนการใช้งานมาตรฐานเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการพัฒนาซอฟต์แวร์ หรือระบบที่มี AI เป็นส่วนหนึ่งอยู่ด้วย โดยคำนึงถึงเรื่อง Equity หรือการช่วยเหลือคนที่มีความพร้อมไม่เท่ากัน ให้ได้รับโอกาส และสามารถไปต่อได้อย่างเท่าเทียม

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ถ้าเราตั้งเป้าว่าเรากำลังยกระดับมาตรฐานอุตฯ ทั้งประเทศ ทุกคนมีส่วนร่วมในการช่วยกัน contribute เป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริม สนับสนุนได้แน่นอน นับตั้งแต่วินาทีนี้เลย ใครรู้อะไร แชร์อะไรได้แชร์ เครื่องมือใครมีพร้อม แชร์ ใครพร้อม regulate ตัวเองด้วย AI Ethics ตามแนวทางจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ที่คณะรัฐมนตรี endorse ให้เกิดการใช้งานได้ ก็ทำ หรือจะตามแนวทางมาตรฐาน IEEE 7000 series ก็ได้ เพราะสุดท้ายทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้ ผู้พัฒนา AI หรือคนในสังคมต่างอยากได้ระบบปัญญาประดิษฐ์ที่ใช้งานได้ มีความปลอดภัย และก่อให้เกิดประโยชน์มากกว่าเป็นเสือกระดาษที่ไม่ได้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจหรือสังคมใด ๆ

— จบตอน —

บทความที่เกี่ยวข้อง

“มาตรฐาน AI” สำคัญอย่างไร จำเป็นแค่ไหน กับวงการ AI ประเทศไทย https://ai.in.th/ai-standard/

มาตรฐานและปัญญาประดิษฐ์ ตอนที่ 1 https://medium.com/nectec/%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%90%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8D%E0%B8%B2%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%A9%E0%B8%90%E0%B9%8C-%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88-1-bb5ddbeb84cc

--

--