สวัสดี IoT ยินดีที่ได้รู้จัก

Panita Pongpaibool
NECTEC
Published in
2 min readJan 5, 2017

Internet of Things หรือเรียกย่อว่า IoT คำศัพท์ยอดฮิตในวงการ IT สมัยใหม่ มันคืออะไรกันแน่ คำศัพท์คำนี้ยังไม่มีนิยามภาษาไทยหรือศัพท์บัญญัติอย่างเป็นทางการ ถ้าแปลตรงตัวเราอาจเรียกว่า อินเทอร์เน็ตของสิ่งของ หรือการเชื่อมต่อของสิ่งของ คำนี้เข้ามาอยู่ในกระแสของวงการ IT ทั่วโลกในช่วง 2–3 ปีมานี้ ถึงขนาดที่พจนานุกรม Oxford Online บรรจุคำนี้ เข้าไปในพจนานุกรมเมื่อเดือนสิงหาคม 2013 โดยให้คำจำกัดความว่า “The interconnection via the Internet of computing devices embedded in everyday objects, enabling them to send and receive data.” แปลได้ว่า การเชื่อมต่อกันผ่านอินเทอร์เน็ตของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ฝังตัวอยู่ในของใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อให้ของเหล่านี้รับส่งข้อมูลได้

หลายท่านคงจะงงตั้งแต่คำว่าคอมพิวเตอร์ที่ฝังตัวอยู่ในของใช้ พูดง่ายๆ ก็คือสิ่งของเครื่องใช้ที่มีความสามารถในการประมวลผล (มีวงจรอิเล็กทรอนิกส์) และมีความสามารถในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตนั่นเอง ของเหล่านี้ความจริงก็อยู่ใกล้ตัวเรามาก เช่น โทรทัศน์สมัยใหม่ที่เราเรียกว่า Smart TV ที่ช่วยให้เราเลือกดูวิดีโอจากยูทูปบนโทรทัศน์ได้โดยตรง บางอย่างก็อยู่กับเรามานานแล้วตั้งแต่ก่อนที่คำว่า IoT จะเป็นกระแสเสียอีก เช่น เครื่องเล่นเกมอย่าง PlayStation ก็สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพื่อเล่นเกมร่วมกันได้มานานแล้ว หรือกล้องวงจรปิดที่แม้ว่าเราจะเรียกมันว่าวงจรปิดอย่างติดปากมาจนปัจจุบันแต่กล้องเหล่านี้เชื่อมต่อและเรียกดูภาพผ่านอินเทอร์เน็ตได้หมดแล้ว ที่ถูกควรเปลี่ยนมาเรียกว่ากล้องวงจรเปิดมากกว่า สิ่งของอีกอย่างที่มีให้เห็นตามท้องถนนทั่วไปแต่ไม่มีใครนึกว่ามันเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตกับเขาด้วย นั่นก็คือตู้ ATM จนกระทั่งเร็วๆ นี้ที่มีข่าวว่าตู้ ATM โดนคนร้ายปล่อยโปรแกรมมัลแวร์ ทำให้ตู้หลายตู้ประสานงานพร้อมใจกันปล่อยเงินออกจากตู้ตามเวลาที่กำหนดได้ นี่คือตัวอย่างของ IoT แบบชัดๆ

คนช่างสงสัยก็คงถามต่อว่าถ้าเทคโนโลยีมันมีมานานแล้วทำไมคำว่า IoT จึงเพิ่งจะมาเป็นกระแสยอดนิยมกันตอนนี้ล่ะ ส่วนตัวคิดว่าคำว่า IoT ก็เหมือนเหล้าเก่าในขวดใหม่ ติดยี่ห้อใหม่แล้วดูน่าสนใจน่าลิ้มลองขึ้นเยอะ แต่เดิมก่อนที่จะเรียกกันว่า IoT หรือ Internet of Things ให้เกร่ออย่างทุกวันนี้ ประมาณสิบปีที่แล้ววงการวิชาการเรียกเทคโนโลยีลักษณะนี้ว่า Ubiquitous Computing หรือ Pervasive Computing (การประมวลผลแบบทุกที่ทุกเวลา) หรือ Machine-to-Machine Communication (การสื่อสารระหว่างเครื่องจักรกับเครื่องจักร)

อย่างไรก็ตามก็ต้องยอมรับว่ากระแส IoT ในปัจจุบันไม่ได้เป็นแค่ชื่อเรียกที่เปลี่ยนไปเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของพัฒนาการทางเทคโนโลยีด้วย ทั้งเทคโนโลยีที่ทำให้การใช้งานอินเทอร์เน็ตเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่ว่าจะเป็นการเข้ามาของอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ในรูปแบบของ ADSL Fiber 3G 4G หรือ WiFi และการใช้อุปกรณ์สื่อสารแบบพกพา (สมาร์ตโฟน แท็บเล็ต แล็ปท็อป) ที่ทำให้ผู้คนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ตลอดเวลา รวมถึงเทคโนโลยีที่ทำให้ฮาร์ดแวร์สำหรับประมวลผลและสื่อสาร มีกำลังในการประมวลผลสูงเทียบเท่าคอมพิวเตอร์ ในขณะที่มีขนาดเล็กลงมากพอที่จะไปฝังอยู่กับข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันได้

บริษัทซิสโก้ ซิสเต็มส์ คาดการณ์ไว้ว่าภายในปีค.ศ.2020 จะมีสิ่งของเครื่องใช้ที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้จำนวน 5 หมื่นล้านชิ้น ไม่มีใครรู้ว่าตัวเลขนี้ถูกต้องหรือไม่เพราะเป็นเพียงการคาดการณ์ แต่ที่แน่ๆ ประชากรบนโลกเราทั้งหมดมีประมาณ 7 พันล้านคน แปลว่าเฉลี่ยแล้วแต่ละคนจะมีอุปกรณ์หรือสิ่งของที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ถึงคนละ 7 ชิ้น

ข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันในสไตล์ IoT เริ่มมีวางขายกันแล้วในต่างประเทศ ได้แก่กลุ่มของใช้ในบ้าน เช่น หลอดไฟ สวิตช์ไฟ ล็อคประตู ตู้เย็น หม้อต้มกาแฟ เครื่องซักผ้า เครื่องอบผ้า เครื่องปรับอากาศ ที่เจ้าของบ้านสามารถควบคุมได้จากนอกบ้าน (ถูกใจคุณแม่บ้านที่ทำงานนอกบ้านล่ะทีนี้) กลุ่มอุปกรณ์สวมใส่ เช่น นาฬิกา สายรัดข้อมือตรวจวัดสุขภาพ ที่ส่งสัญญาณชีพกลับไปให้แพทย์ในโรงพยาบาล กลุ่มอุปกรณ์หรือระบบเพื่อใช้ในการเกษตร เช่นเซนเซอร์ความชื้นในดิน เซนเซอร์แสงสว่าง อุปกรณ์ให้น้ำให้ปุ๋ยอัตโนมัติ หรือแม้แต่กลุ่มเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรมที่สามารถแจ้งเตือนการซ่อมบำรุงหรือบอกสถานะปริมาณการผลิต เป็นต้น

จริงๆ แล้ว อุปกรณ์หรือระบบ IoT ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในอีกหลากหลายด้าน ทั้งนี้สุดแท้แต่จินตนาการของเราทุกคน ก่อนจากกัน ขอฝากกลอนไว้ให้ท่านผู้อ่านได้นำไปคิดต่อว่าจะเอา IoT ไปตอบโจทย์อะไรให้กับชีวิตดี

IoT มิใช่เรื่องไกลตัว
จงอย่ากลัวเปิดใจทดลองใช้
เมื่อข้าวของคุยกันทันสมัย
ตรวจสถานะควบคุมได้เร็วทันใจ
ลดต้นทุนลดเวลาลดค่าแรง
เพิ่มศักยภาพการแข่งเพิ่มรายได้
เพิ่มผลผลิตเพิ่มมูลค่าสินค้าใหม่
ชีวิตสบายในสไตล์ IoT

Originally published at blog.netpie.io on January 5, 2017.
ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 5 มกราคม 2560

--

--

Panita Pongpaibool
NECTEC
Writer for

Deputy Director at National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC), and member of NETPIE, the leading IoT cloud platform in Thailand.