Digital Twin

Panita Pongpaibool
NECTEC
Published in
1 min readOct 16, 2017

เมื่อ Internet of Things (IoT) เข้ามาสู่สื่อกระแสหลักและกลายเป็นคำที่ใช้กันกว้างขวางทั้งในและนอกวงการไอที หลายคนคงจินตนาการได้ถึงอนาคตที่รอบตัวเราจะมีเซนเซอร์หลายร้อยหลายพันตัว Gartner ถึงขนาดพยากรณ์ว่าจะมีเซนเซอร์มากกว่า 500 ตัวในบ้าน 1 หลังในปี 2022

หลังจากที่ IoT เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสภาพแวดล้อมแล้ว ชีวิตเราจะเป็นอย่างไรต่อ

คำศัพท์ใหม่ที่เริ่มเป็นที่กล่าวถึงในปีที่ผ่านมาคือ Digital Twin ซึ่งหมายถึงการเก็บสำเนาของทรัพย์สิน สิ่งของ อาคารหรือเครื่องจักรในรูปแบบดิจิทัล Digital Twin ไม่ได้หมายถึงแค่การสร้างโมเดลจำลองของสิ่งของในแบบ 3 มิติ แต่รวมถึงการบันทึกข้อมูลสถานะทุกอย่างของของชิ้นนั้น เพื่อตรวจสอบการทำงาน เพื่อคาดการณ์ความผิดปกติล่วงหน้า เพื่อหาต้นตอของปัญหาและหลีกเลี่ยงปัญหาในอนาคต ฯลฯ

Digital Twin ต้องอาศัยการติดเซนเซอร์จำนวนมากเพื่อให้ได้สำเนาที่ใกล้เคียงความจริงในปัจจุบันที่สุด ข้อมูลมหาศาลจากเซนเซอร์จะถูกส่งขึ้นคลาวด์เพื่อจัดเก็บและประมวลผลตามบริบทของการใช้งาน เช่น ถ้าจะสร้าง Digital Twin ของสะพานก็ต้องมีข้อมูลการสั่นสะเทือน แรงกดในทุกจุดบนสะพาน ใต้สะพาน บนเสา เพื่อประเมินสภาพ หรือคาดการณ์การร้าวหรือทรุดตัวของสะพาน เป็นต้น

อาจกล่าวได้ว่า Digital Twin จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยหลายเทคโนโลยีที่เป็น buzzword ของยุคนี้ไม่ว่าจะเป็น IoT, Cloud, Big Data, Machine Learning รวมถึง 3D modeling Digital Twin จึงได้รับการคาดหวังสูงและติดโผเป็น 1 ใน 10 เทคโนโลยีที่น่าจับตามองของปี 2017

ความจริงแล้วการสร้างระบบเสมือนหรือสำเนาของระบบหรือเครื่องจักรมีมาตั้งแต่ยุคก่อนอินเทอร์เน็ต ผู้บุกเบิกก็คือองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ NASA ในภารกิจส่งยานอวกาศออกไปนอกโลก NASA จำเป็นต้องควบคุมหรือซ่อมบำรุงยานให้ได้จากทางไกล เมื่อเกิดเหตุขัดข้องอย่างกรณีของ Apollo 13 ระบบเสมือนที่อยู่บนโลกช่วยให้วิศวกรวิเคราะห์ปัญหาและกู้ระบบคืนได้จากระยะไกล

ปัจจุบันเริ่มมีการประยุกต์ใช้ Digital Twin ในหลายด้านแล้ว เช่น ในการผลิตและซ่อมบำรุงเครื่องยนต์เจ็ต ที่ใช้บนเครื่องบิน บริษัท General Electric ติดตั้งเซนเซอร์กว่า 100 จุดบนเครื่องยนต์เพื่อสร้างระบบจำลองของเครื่องยนต์เจ็ตทุกตัวที่บริษัทขาย เพื่อตรวจสอบสถานะระหว่างการบิน

คงไม่ยากที่จะจินตนาการว่าอีกหน่อยรถยนต์ทุกคันก็จะมี Digital Twin ศูนย์บริการจะรู้ว่ารถคันไหนใช้งานมากน้อยแค่ไหน สถานะของแบตเตอรี่ ลมยาง น้ำมันหล่อลื่น ผ้าเบรคเป็นอย่างไร เจ้าของรถเพียงแค่รอศูนย์โทรมาเรียกให้นำรถเข้าไปซ่อมบำรุงแทนการนัดหมายทุก 6 เดือน ผู้ที่ใช้ประโยชน์อาจไม่ใช่แค่ศูนย์บริการหากรถนั้นเป็นรถสาธารณะ ผู้ใช้บริการสามารถตรวจสอบสภาพของรถก่อนเลือกใช้บริการได้

ไม่เพียงแค่เครื่องจักร อีกหน่อยคงมีสำเนาดิจิทัลของคน สัตว์ และสิ่งของรอบตัว เผลอๆ โรงพยาบาลอาจโทรมาเรียกเราไปหาหมอก่อนที่ตัวเราจะรู้สึกตัวว่าป่วยก็ได้

สักวาฝาแฝดดิจิทัล
ทุกสิ่งสรรพ์มีสำเนาบนโลกเสมือน
ทุกพฤติกรรมบันทึกไว้ไม่บิดเบือน
หลักฐานเตือนให้ตั้งมั่นหมั่นทำดี
พูดคิดดีมีสติมิให้ขาด
เพียงเผลอพลาดพลั้งผิดมิตรหลีกหนี
โลภโกรธหลงประสงค์ร้ายคุมให้ดี
อย่าให้มีสำเนาสีเทาเอย

บทความนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 12 ตุลาคม 2560
และ
https://blog.netpie.io/archives/2594

--

--

Panita Pongpaibool
NECTEC
Writer for

Deputy Director at National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC), and member of NETPIE, the leading IoT cloud platform in Thailand.