IoT Platform ในหลากหลายมุมมอง

Panita Pongpaibool
NECTEC
Published in
1 min readSep 14, 2017

ปัจจุบันมีบริการนับร้อยที่เรียกตัวเองว่าเป็น IoT Platform อย่างไรก็ตามแต่ละบริการมีคุณลักษณะ และมุมมองการให้บริการที่แตกต่างกันมาก ดังนั้นจึงเป็นการยากที่จะเปรียบเทียบว่าแพลตฟอร์มใดดีกว่าเจ๋งกว่ากัน เพราะมันจะกลายเป็นการเปรียบเทียบแอปเปิ้ลกับส้ม แล้วถ้าหากเราต้องการเลือกใช้แพลตฟอร์มเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ IoT ต้องทำอย่างไร จะเลือกอย่างไร บทความนี้ขอแนะนำปัจจัยเบื้องต้นในการพิจารณาเลือกใช้ IoT Platform

สาธารณะ หรือ ส่วนตัว

แพลตฟอร์มสาธารณะ คือแพลตฟอร์มที่ผู้ใช้ทุกคนใช้ทรัพยากรของคลาวด์หรือเซิฟเวอร์ร่วมกัน โดยเบื้องหลังผู้ให้บริการแพลตฟอร์มเป็นผู้จัดการขอบเขตสิทธิ์ไม่ให้การใช้บริการของผู้ใช้รายหนึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ใช้รายอื่น บริการลักษณะนี้มีค่าบริการที่ต่ำและส่วนใหญ่คิดค่าบริการตามการใช้งานจริง (pay-per-user)

แพลตฟอร์มส่วนตัวหมายถึงแพลตฟอร์มที่มีการกำหนดของเขตทรัพยากรของผู้ใช้แต่ละรายออกจากกัน เช่น แยกเซิฟเวอร์ แยกพื้นที่ดิสก์ แยกแบนด์วิดท์ที่ให้บริการลูกค้าแต่ละราย โดยอาจให้บริการบนเครื่องเซิฟเวอร์ภายในองค์กรของลูกค้า เรียกว่าบริการแบบ On-Premise หรือให้บริการบนเครื่องเซิฟเวอร์ที่ผู้ให้บริการดูแลให้ เรียกว่าบริการแบบ Off-Premise บริการแพลตฟอร์มส่วนตัวต้องจัดสรรและดูแลทรัพยากรแยกออกมา จึงมีต้นทุนการให้บริการสูงกว่าบริการแพลตฟอร์มสาธารณะ

เฉพาะด้าน หรือ เอนกประสงค์

IoT Platform มีทั้งแบบที่เป็นแพลตฟอร์มที่รองรับการใช้งานเฉพาะด้านที่ถูกออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์แต่ละเรื่องอย่างสมบูรณ์ เรียกได้ว่าเป็นแพลตฟอร์มสำเร็จรูปพร้อมใช้ เช่น Smart Home Platform, Smart City Platform, Industrial IoT Platform กับแพลตฟอร์มเอนกประสงค์ที่รองรับการใช้งานทั่วไป มีฟังก์ชั่นพื้นฐาน เช่น รับส่งเก็บข้อมูล มีความยืดหยุ่นสูง มีเครื่องมือพัฒนา (API หรือ SDK) ให้เรียกใช้เพื่อให้นักพัฒนานำไปปรับแต่งต่อเพื่อพัฒนาแอปพลิเคชั่นเฉพาะด้านเอง

คุณลักษณะที่จำเป็น

นักพัฒนาส่วนใหญ่เลือกแพลตฟอร์มโดยพิจารณาจากสิ่งที่ต้องการใช้ ฟังก์ชั่นพื้นฐาน ของ IoT Platform ได้แก่ การจัดการการเชื่อมต่อ (Connectivity Management) การจัดการอุปกรณ์ (Device Management) การเก็บข้อมูล (Data Historian) การแสดงผลข้อมูลแบบกราฟฟิก (Visualization) การวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) ในบางแพลตฟอร์มอาจมีความสามารถอื่นเพิ่มเติม เช่น การสร้างรายงาน การอัพโหลดเฟิร์มแวร์เข้าอุปกรณ์ IoT ผ่านเครือข่าย (over-the-air update) หรือแม้กระทั่งเครื่องมือช่วยสร้างโมบายแอปพลิเคชั่น สำหรับแพลตฟอร์มรายใหญ่มักจะมีคุณสมบัติที่ครบถ้วนสมบูรณ์ แต่มักแลกมาด้วยขั้นตอนการใช้งานที่ยุ่งยาก และรูปแบบค่าบริการที่ซับซ้อน

สำหรับมือใหม่หัดเล่น IoT ขอแนะนำให้ใช้ IoT Platform แบบสาธารณะที่รองรับการใช้งานเอนกประสงค์ เพราะจะมีค่าบริการต่ำและส่วนมากมีบริการขั้นต่ำที่ใช้ได้ฟรีโดยไม่จำกัดระยะเวลา ตัวเลือกในกลุ่มนี้ได้แก่ NETPIE ของเนคเทค ThingSpeak ของ MathWorks และ Azure IoT Suite ของไมโครซอฟต์

Originally published at blog.netpie.io on September 14, 2017.
บทความตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 14 กันยายน 2560

--

--

Panita Pongpaibool
NECTEC
Writer for

Deputy Director at National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC), and member of NETPIE, the leading IoT cloud platform in Thailand.