ทำไมการเลือกรับ Developer เข้าทีมถึงควรแปรผันตามกาลเวลาและการเติบโตของบริษัท

Akexorcist
Nextzy
Published in
2 min readJun 3, 2018

ยุคทองของ Developer ก็จริง แต่ไม่ใช่สำหรับทุกคนนะจ๊ะ

คำเตือน บทความนี้เป็นหนึ่งในแนวคิดของบุคคลหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้ถูกต้องเสมอไป เพราะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆอย่างในบริษัทด้วย (เช่น ขนาดของบริษัท, วิสัยทัศน์และเป้าหมายของเจ้าของบริษัท, ความเห็นของคนในทีม, เงินทุนในการดำเนินบริษัท หรือสภาพแวดล้อมภายในบริษัท เป็นต้น) อย่าเชื่อบทความนี้ไปซะทั้งหมด ผมอาจจะเล่าเกินจริงก็ได้ ใครจะรู้ ดังนั้นอ่านจบแล้วก็ควรวิเคราะห์ด้วยตัวเองดูนะ จุ๊บๆ

บทความนี้ถึงแม้ว่าจะพูดถึงในบริบทของ Developer ก็จริง แต่คุณสามารถเปลี่ยนคำว่า Developer เป็นอย่างอื่นได้ตามต้องการครับ

ทุกวันนี้โลกของเทคโนโลยีนั้นไปไกลมาก ฝั่ง Development ก็เช่นกัน เครื่องมือต่างๆ Programming Language ก็พัฒนามากขึ้นกว่าเมื่อก่อน จึงทำให้เหล่า Developer สามารถทำอะไรได้มากขึ้น เรียนรู้ได้ไวขึ้น และทำงานได้ดีขึ้น

พอคิดแบบนี้แล้ว มาตรฐานของการรับคนในแต่ละปีก็ควรจะมีเกณฑ์สูงขึ้นเรื่อยๆด้วย และคนที่เคยผ่านเกณฑ์เดิมๆก็อาจจะไม่ผ่านเมื่อมาสมัครในภายหลังใช่มั้ยล่ะ?

ในปัจจุบันแนวโน้มของ Developer Community ก็ไปในทางที่ดีมากขึ้นเรื่อยๆ และไม่ได้จำกัดอยู่แค่กลุ่มคนทำงานแล้วเท่านั้น แต่คนที่สนใจและเรียนรู้ด้วยตัวเองก็เช่นกัน ไม่ว่าจะทำงานสายอื่นหรือจะเป็นนักศึกษาอยู่ก็ตาม เพราะนอกจากมีเครื่องมือดีๆแล้วก็ยังมี Community ช่วยสนับสนุนด้วย ดังนั้นคนที่มีแววอยู่แล้วก็จะเก่งขึ้นไปอีกโดยไม่ได้ผ่านประสบการณ์ในการทำงานมาก่อน และจะเก่งยิ่งขึ้นอีกถ้าได้ลองทำงานจริงมาด้วย

จึงทำให้คนเก่งหรือมีแววเก่งในยุคนี้สามารถพัฒนาและเติบโตได้ง่ายมากขึ้นไปอีก ส่วนคนที่อยู่ต่ำกว่าเกณฑ์ก็ยิ่งต่ำกว่าเดิมเช่นกันถ้าไม่พยายามพัฒนาตัวเองให้เก่งมากขึ้น เพราะว่าความสามารถเท่าเดิม แต่มาตรฐานความสามารถของคนส่วนใหญ่นั้นสูงขึ้น เราก็จะกลายเป็นคนที่ต่ำกว่าเกณฑ์ไปโดยปริยายเช่นกัน

ดังนั้นการปรับเกณฑ์ในการคัดเลือกคนให้สูงขึ้นเรื่อยๆในแต่ละปีจึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด เพราะแปรผันไปตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและการเติบโตของบริษัท

Kungssten photo by Evelina Friman (@evelinafriman) on Unsplash

เป็นเรื่องธรรมดาที่ยุคแรกๆของบริษัทจะต้องการใครก็ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งเพื่อทำให้บริษัทนั้นสามารถเริ่มต้นขับเคลื่อนได้ แต่พอถึงจุดๆหนึ่งที่บริษัทเติบโตและเป็นที่รู้จักมากพอแล้ว การคัดเลือกคนก็ควรจะมีเงื่อนไขมากขึ้น มีมาตรฐานมากขึ้น เพราะโดยธรรมชาติของบริษัทนั้น การเติบโตในช่วงที่มีคนน้อยๆนั้นทำได้ง่ายกว่าตอนที่มีคนเยอะ ดังนั้นในช่วงที่ขยายทีมนั้นสิ่งที่ควรระวังคือการรับคนเพิ่มเข้ามาในทีมโดยไม่ระมัดระวัง

ข้อควรระวัง — เกณฑ์ในการคัดเลือกคนก็ไม่ควรอิงโดยใช้ใครคนใดคนหนึ่งเป็นตัวกำหนด โดยเฉพาะเด็กจบใหม่ที่บังเอิญว่าเป็นตัวท๊อปที่ไม่เคยทำงานมาก่อนก็จริง แต่ฝีมือโหดมาก ถ้าเผลอใช้คนเหล่านั้นเป็นเกณฑ์ในการรับคนช่วงหลังๆ บอกเลยว่า ไม่ต้องไปรับใครเพิ่มแล้วล่ะ คงไม่มีใครผ่านเกณฑ์นั้นหรอก ดังนั้นควรใช้มาตรฐานเฉลี่ยจากหลายๆคนและแนวโน้มของเทคโนโลยีเป็นตัวช่วยกำหนดเกณฑ์ดีกว่านะ

แต่… แนวคิดแบบนี้จะเหมาะกับ…

  • บริษัทที่ไม่รีบขยายทีม เพราะรู้ว่าการขยายทีมที่เร็วเกินไปแต่ไม่ได้คุณภาพ จะทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี
  • บริษัทที่ต้องการสร้างทีม Development ที่มี Quality ไม่ใช่แค่ Quantity
  • บริษัทที่อยากจะรักษา Productivity ในช่วงขยายทีมไม่ให้ลดลงจนเกินไป และกลับมาเท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้นในเวลาไม่นาน

สิ่งที่ต้องทำควบคู่กัน

  • บริษัทควรปรับฐานเงินเดือนของพนักงานใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆทุกปี ไม่ว่าจบใหม่หรือเคยมีประสบการณ์มาแล้วก็ตาม (ก็แหงสิ จะเอาคนเก่งขึ้นเรื่อยๆในทุกปีด้วยเรทเงินเดือนเท่าเดิมได้ยังไงล่ะ ได้คนที่มีคุณภาพดีขึ้น ก็ควรจะทุ่มเงินเพิ่มด้วยสิ)
  • บริษัทต้องประเมินคนที่ความสามารถ หาใช่อายุงาน (อาจจะฟังดูใจร้ายไปหน่อย แต่ถ้ามีคนสมัครเข้ามา 2 คน คนนึงเป็นเด็กเพิ่งจบใหม่ที่มีความสามารถมากกว่าอีกคนที่มีประสบการณ์ในการทำงานมานานกว่า 3 ปี ควรให้ความสำคัญกับคนไหนมากกว่ากันล่ะ? ตามนั้นแหละครับ)
  • บริษัทควรสนับสนุนกิจกรรมต่างๆที่ทำให้ Developer ในทีมพัฒนามากขึ้น ยอมให้เขียนบทความแชร์ความรู้ในเวลางานได้ (ถือว่าเป็นผลงานอย่างหนึ่งของบริษัทละกัน) ช่วยออกค่าใช้จ่ายเมื่อมีคอร์สหรืองานสัมมนาที่น่าสนใจ (อาจจะไม่ Cover ให้ทั้งหมด แค่บางส่วนก็ยังดี) เพราะการกระทำของพวกเขาเหล่านี้จะช่วยให้บริษัทเป็นที่น่าดึงดูดสำหรับ Developer ภายนอก
Quiet meeting room photo by Breather (@breather) on Unsplash

ทำยังไงถ้ามีคนลาออก?

อันนี้คิดเผื่อให้เลย เคยมีคนถามอยู่เหมือนกัน

ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป การเข้างานเช้าเลิกงานเย็นแล้วกลับบ้านนอน ทำงานไปเรื่อยๆเพื่อไต้เต้าตำแหน่ง ยกระดับเงินเดือนให้ฐานะมั่นคงนั้นไม่ใช่ Lifestyle สำหรับคนรุ่นใหม่อีกต่อไปแล้ว

สิ่งที่คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่นั้นมองหาคือความท้าทาย การใช้ชีวิตผสมผสานไปกับการทำงานที่สนุก และผลตอบแทนที่พึงพอใจ

เงิน + ความรู้สึกในการทำงาน + การเติบโต + โอกาส = ความพึงพอใจ

นั่นหมายความว่าเงินเดือนที่สูงลิบลิ่วอาจจะไม่จำเป็นเสมอไปถ้าเราให้อย่างอื่นที่มากพอด้วย เพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นผลพลอยได้ทางอ้อมที่ดึงดูดคนรุ่นใหม่ (แต่อย่าลืมว่าเงินก็ยังเป็นปัจจัยหลักนะ) โดยแลกกับ Productivity ที่เท่าเทียมให้กับบริษัท

ถึงจะฟังดูดีแต่สุดท้ายก็มีคนลาออกอยู่ดีแหละ แต่ด้วยแนวคิดแบบนี้ คนที่ลาออกจะลาออกด้วยเหตุผลอื่นๆซะมากกว่า (เช่น Productivity ไม่ถึงเกณฑ์ เพราะไม่ Active มากพอ หรือ ปัญหาชีวิตที่จำเป็นต้องลาออกจากงาน เป็นต้น)

และถ้าถามผมนะ คนจากที่อื่นๆต่างหากที่จะออกจากที่เก่ามายื่นใบสมัครเข้าบริษัทเยอะมากจนไม่มีเวลามานั่งกังวลว่าคนในทีมจะลาออกมากกว่าน่ะสิ

สรุป

อาจจะฟังดูสวยหรู เป็นแนวคิดที่น่าสนใจ แต่เบื้องหลังของแนวคิดนี้ประกอบไปด้วยปัจจัยหลายๆอย่างมากมายที่ไม่ได้บอกแค่ว่าจะต้องรับคนยากขึ้นกว่าเดิมเท่านั้น และอย่างที่บอกไปในตอนแรกว่าแนวคิดแบบนี้ไม่ได้เหมาะกับทุกบริษัทและทุกคนเสมอไปครับ แต่ละคนมีความต้องการและมีเป้าหมายที่ต่างกัน ซึ่งแนวคิดแบบนี้จะช่วยรวบรวมเหล่าคนที่มีความต้องการและเป้าหมายที่เหมือนกันมาทำงานอยู่ด้วยกันเท่านั้นเองครับ

สุดท้ายแล้ว คุณก็จะได้ทีม Development ที่มีคุณภาพนั่นเองงงงง
.
.
.
ถ้าบริษัทไม่เจ๊งซะก่อนนะ (แค่จะรับคนเข้าทีม ทำไมเรื่องมากชะมัด 😂)
.
.

--

--

Akexorcist
Nextzy

Lovely android developer who enjoys learning in android technology, habitual article writer about Android development for Android community in Thailand.