เราทำงานไปทำไม?

Dr.Kanapon Phumratprapin
NONFICTION BOOK CLUB
2 min readJan 26, 2020

Why WE Work: Barry Schwartz

Why WE Work: Barry Schwartz

เกริ่น

เมื่อเราได้มีโอกาสได้เจอเพื่อนสมัยเรียน “งาน”เป็นหนึ่งในหัวข้อที่เรามักยกขึ้นมาพูดคุยกันอยู่เสมอๆ

“ตอนนี้ทำอะไรอยู่ว่ะ”

“งาน เป็นไงบ้าง อัพเดทหน่อย”

น้อยครั้งที่อีกฝั่งจะตอบว่า “มีความสุขกับงานที่ทำมาก” แน่นอนส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะวัฒนธรรมความเกรงใจ และถ่อมตัวของคนไทยเราด้วย

จากสถิติของ Gallup ได้บอกว่ามีคนงานเพียง 13% เท่านั้นที่รู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับงานของตน ถ้ามองเป็นภาพใหญ่ๆ คนเกือบ 90% บนโลกใช้เวลาครึ่งหนึ่งของชีวิตไปกับสิ่งที่ตนไม่อยากทำ ในที่ที่ตนไม่อยากอยู่

เราทำงานเพื่อ “เงิน”

นี่น่าจะเป็นความเชื่อใหญ่ ที่มีอิทธิพลต่องานมากกว่าที่เราคิด โดยต้นตอของความเชื่อชุดนี้มาจาก Adam Smith ในหนังสือ The Wealth of Nations (ปี1776)

“มนุษย์ทุกคนต่างต้องการใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบายสูงสุดโดยสัญชาติญาณ หากผลตอบแทนในทุกสถานการณ์คงที่ไม่ว่าจะปฏิบัติงานนั้นด้วยความลำบากหรือไม่ มุนษย์ก็ย่อมเลือกทางสบายเสมอ เขาทำงานอย่างขอไปทีประมาทและเลินเล่ออย่างที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”

หรือถ้าพูดอีกอย่างคือ “คนเราทำงานเพื่อเงิน” แท้จริงมุมมองของสมิทมีความแยบยลกว่านี้ เพียงแต่ในยุคต่อๆมาเรากลับค่อยๆละทิ้งไป สมการแรงจูงใจในการทำงานเหลือเพียง เราทำงานเพื่อเงิน

เมื่อเราเชื่อ เราจึงเป็นเช่นนั้น

หากเราเชื่อว่าคนทำงานเพื่อเงิน เราก็จะออกแบบระบบการทำงานเพื่อเงิน เช่น เราพยายามใช้แรงจูงใจคือเงินเป็นตัวผลักดันหลัก เราให้ผลตอบแทนตามชิ้นงานตามที่คนงานสามารถทำได้ เราพยายามทำระบบให้คนงานคิดน้อยที่สุด ตัดสินใจน้อยที่สุดเพราะเราเชื่อว่าคนงานไม่มีแรงจูงใจอื่น นอกจากเงินเท่านั้น

ผลของมันก็คือ เมื่อระบบเป็นแบบนี้ คนงานที่ทำงานก็ถูกหล่อหลอมให้มีความคิดแบบนั้นเช่นกัน

สุดท้ายเมื่อเราเห็นว่าคนงานทำเพื่อ “เงิน”จริงๆ มันยิ่งยืนยันความเชื่อของเราแล้วก็วนลูปอยู่เรื่อยไป

วงจรที่เริ่มต้นจากความเชื่อ แล้วแผ่ขยายออกไป

Unfinished Animal: มุนษย์เป็น “สัตว์ที่ยังสร้างไม่เสร็จ”

Photo by h heyerlein on Unsplash

Clifford Geertz นักมานุษวิทยาคนสำคัญกล่าวว่า มุนษย์เป็น “สัตว์ที่ยังสร้างไม่เสร็จ” (Unfinished animals) คือธรรมชาติของมนุษย์ถูกสร้างขึ้นมากกว่าถูกค้นพบ

เราออกแบบธรรมชาติมนุษย์ด้วยการออกแบบสถาบันรอบตัวมุนษย์

นี่คือส่วนที่ผมชอบที่สุดในหนังสือเล่มนี้ เพราะมันให้ความหวังกับเราว่า มนุษย์ไม่ได้ทำงานเพื่อเงิน งานไม่จำเป็นต้องหดหู่ และไร้ความหมายขนาดนั้น

งานที่มีความหมายคืออะไร?

ลักษณะงานที่มีความหมายมักมีลักษณะร่วมดังนี้

  • งานเปิดโอกาสให้คุณใช้และพัฒนาทักษะความสามารถ
  • มีอำนาจในการตัดสินใจ
  • รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของทีม
  • มีเพื่อนร่วมงานที่เชื่อใจ
  • งานมีเป้าหมายที่สูงค่า (และข้อนี้คือส่วนที่สำคัญที่สุด)

เมื่ออ่านถึงตรงนี้ ผมก็คิดถึงบทสนทนาที่เคยได้คุยกับพี่เตา คุณบรรยง พงษ์พานิช ที่ได้พูดถึงหลักการบริหารทีมงานในบริษัท ภัทร ซึ่งได้สรุปไว้สั้นๆ 5 อย่าง

#ได้เรียน

#ได้ทำ

#ได้มันส์

#ได้ตังค์

#ได้ภูมิใจ

ผมเองชอบหลักการห้าข้อนี้บ้าง และก็ได้ปรับเอามาใช้ในบริษัทอีกด้วย ผมคิดว่ามันเข้าใจได้ และครบถ้วนดี

หากทฤษฎี Unfinished Animal นั้นเป็นความจริง ก็หมายความว่าเราไม่ได้สิ้นหวังซะทีเดียว เราสามารถสร้างงานที่มีความหมายได้จริง และมันก็อาจเกิดวงจรใหม่

ตัวอย่าง: Interface-ยอมสละกำไรเพื่อผลลัพท์ทางสังคม

20 ปีก่อน Ray Anderson ผู้บริหารอินเตอร์เฟซ โรงงานผลิตพรมที่ประสบความสำเร็จ ได้ค้นพบว่าเงินที่เขาได้มีมากมาย ส่งต่อให้ลูกหลานก็ยังเหลือเฟือ แต่ไอ้โรงงานที่เขาทำมันส่งผลทำลายสิ่งแวดล้อม จะมีเงินไว้ให้ลูกหลานในโลกที่อยู่ไม่ได้จะมีประโยชน์อะไร เขาจึงได้ตั้งเป้าจะเปลี่ยนกระบวนการผลิตเพื่อให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นศูนย์ในปี 2020

แน่นอนความโลกสวยมีราคา การคิดกระบวนการใหม่และการควบคุมมลพิษมีค่าใช้จ่ายสูงลิบ แต่เขาก็ยอมสละกำไรเพื่อผลลัพท์ทางสังคม

ผลก็คือในปี 2013 อินเตอร์เฟซลดพลังงานที่ใช้ได้ถึงครึ่งหนึ่ง และลดของเสียได้ 1 ใน 10 ส่วนผลกำไร…. ไม่ได้ลดลงเลยซักนิด เพราะพนักงานทุกคนรู้สึก “อิน”กับวิสัยทัศน์นี้ทุกคนรู้สึกท้าทายในการค้นหานวัตกรรม ทำให้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพิ่มขึ้นนั่นเอง

ผลประกอบการก็ดูไม่เลวนัก

เมื่อเราสร้างงานที่มีความหมาย และพนักงานทำงานเพื่อความหมายนั้น ผลผลิตในบรรทัดสุดท้ายจริงๆจะสูงขึ้น เป็นวิน-วิน อย่างแท้จริง

แล้วไงต่อ

เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จนจบ สิ่งที่กระทบใจที่สุดคือ เรายังมีความหวัง มนุษย์ไม่ได้เป็นมีธรรมชาติทำงานเพื่อเงินอย่างที่เรา(เคย)เชื่อ จริงอยู่เงินเป็นส่วนหนึ่งของสมการ แรงจูงใจ เพียงแต่มันไม่ใช่ทั้งหมด

หากคุณเป็นคนทำบริษัท ขอให้คุณมั่นใจว่าคุณสามารถสร้างงานที่มีความหมายได้ เพราะสุดท้ายแล้ว สิ่งที่คุณสร้าง สิ่งที่คุณเชื่อ จะกำหนดตัวทีมงานของคุณเอง (คุณไม่ได้โลกสวยอยู่คนเดียวหรอก…..ยังไงมีผมอีกหนี่งคนที่เชื่อเหมือนคุณ)

หากคุณเป็นคนทำงาน คุณรู้สึกว่างานที่ทำมันไม่ใช่ คุณไม่ใช่มนุษย์ที่ทำงานเพื่อเงินอย่างเดียว… ขอให้คุณเชื่อในความรู้สึกลึกๆว่านั่นคือความรู้สึกที่ถูกต้อง จงกล้าเดินออกไปบอกเจ้านายของคุณ บริษัทของคุณ ว่าคุณต้องการอะไรที่มากกว่า​ “เงิน”

แต่ถ้าคุณอยากทำงานที่มีความหมาย และคุณไม่สามารถเปลี่ยนบริษัทที่คุณอยู่ได้ มาสมัครงานกับเราได้นะครับ contact@healthathome.in.th บางทีเราอาจจะเป็นที่ทำงานที่คุณตามหาก็ได้

ด้วยรักและเคารพ

:->m’26

--

--