วัดคุณภาพ code ของชุดการทดสอบด้วย Mutation testing

Raksit MANTANACHARU
NonTechCompany
Published in
3 min readJan 11, 2022
Brittle from MonkeyUser

ชุดการทดสอบของเรามันดีพอหรือยัง

เมื่อพูดถึงการพัฒนา software ในปัจจุบัน เรื่องของการทดสอบแบบอัตโนมัติกลายเป็นเรื่องที่ปกติไปแล้ว เพราะมันถือเป็นสิ่งที่เพิ่มความมั่นใจได้ในระดับนึงเลยว่า ระบบงานของเรายังทำงานได้อย่างถูกต้อง ซึ่งการทดสอบก็มีได้หลายหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับระบบงานไป อย่างตัวยอดนิยมก็จะเป็นในรูปแบบของ Test Pyramid

Test Pyramid by Martin Fowler

แต่ในเมื่อชุดการทดสอบของเราก็เป็น code เหมือนกัน แล้วเราจะมั่นใจได้ยังไงว่าชุดการทดสอบของเรามันดีพอหรือยัง ซึ่งคำว่า “ดีพอ” มันก็หมายถึงว่าชุดการทดสอบมันครอบคลุมทุกกรณีหรือเงื่อนไขของ logic ใน code ของเรานั่นเอง

หนึ่งในเครื่องมือที่สามารถนำมาใช้ได้คือ “test coverage” ซึ่งมันสามารถวัดได้ว่ามี code ส่วนไหนที่ถูก execute โดยชุดการทดสอบของเรา ดังนั้นถ้ามันมี code ที่ไม่ได้ execute เราก็ไปเพิ่มชุดการทดสอบให้มันครอบคลุมซะ

ปัญหาของ test coverage คือมันแค่ดูว่า code ส่วนไหนที่ถูก execute ไม่ใช่ถูก test ดังนั้นเราสามารถ “โกง” โดยการเขียนชุดการทดสอบที่ไม่มีการทดสอบอะไรเลยก็ได้

ตัวอย่าง

เรามี class MaxCalculator ที่ใช้สำหรับการคำนวณเลขที่มีค่ามากที่สุด

จะเห็นได้ว่า test coverage ของเราก็ดีหมด

MaxCalculator test coverage

แต่ชุดการทดสอบของเราไม่มีการ check ว่าผลลัพธ์จาก method findMax มันถูกต้องหรือไม่ ถ้าเกิด developer สักคนมาแก้ไข code ส่วนนี้ แน่นอนว่าชุดการทดสอบของเราก็ผ่านฉลุย ทางแก้คือเราก็ตรวจสอบผลลัพธ์สิ

เพิ่ม assertion ลงไปใน MaxCalculatorTest เพื่อตรวจสอบผลลัพธ์

จบปัญหาไปหนึ่งอย่าง…

วันต่อมา พบว่า MaxCalculator ของเรามีปัญหา สืบไปสืบมาพบว่ามีการแก้ไข code 1 บรรทัด

แต่ชุดการทดสอบของเราดันผ่าน แสดงว่าชุดการทดสอบของเรายังไม่ครอบคลุมพอ เพราะเราตกไป 1 กรณี ก็คือถ้า numbers มี element แค่อันเดียวที่มีค่ามากกว่า Integer.MIN_VALUE เมื่อรู้ปัญหาแล้วทำการแก้ไข code พร้อมกับเพิ่มชุดการทดสอบลงไป

เราสามารถลดความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหานี้ในอนาคตได้อย่างไร

code review / peer review ก็เป็นอีกหนึ่งทางที่ช่วยได้ เพราะเราได้ feedback จาก developer คนอื่นๆ แต่ถ้า review ไม่ดีก็มีหลุดเหมือนกัน ถ้างั้นเรามาหา technique ที่ช่วยตรวจสุขภาพของชุดการทดสอบของเรากัน

Mutation testing

หลักการของ mutation testing ก็คือเราทำการแก้ไข code ของเราเล็กน้อย เช่น เปลี่ยน operator > , != หรือ แทนค่าตัวแปรใหม่ จากนั้นทำการ run ชุดการทดสอบ เพื่อดูว่าผ่านหรือไม่ เราสามารถเปรียบการแก้ไข code ของเราเป็นสารก่อกลายพันธุ์ (mutagen) ของ virus และ code ที่ถูกแก้ไขคือ virus ที่กลายพันธุ์ (mutant) นั่นเอง

COVID mutation from racgp.org.au
  • ถ้าชุดการทดสอบไม่ผ่าน แปลว่าชุดการทดสอบเราแข็งแรง มีภูมิคุ้มกันมากพอที่จะกำจัด mutant นั้นได้
  • ถ้าชุดการทดสอบผ่าน แปลว่าชุดการทดสอบเราอาจจะมีจุดอ่อน ไม่สามารถกำจัด mutant นั้นได้

นั่นหมายความว่าถ้าเรากำจัด mutant ได้เยอะ แปลว่าชุดการทดสอบเรา “ดีพอ” นั่นเอง

Mutation score = (Mutant ที่ฆ่าได้ / Mutant ทั้งหมดที่มี) * 100

เราสามารถทำ mutation testing แบบอัตโนมือก็ได้ครับ แต่น่าจะดีกว่าถ้าเราหาเครื่องมือมาช่วยทุ่นแรงเราได้

โดยตัวอย่างในบทความนี้ จะใช้ Pitest

Pitest

Pitest มาพร้อมกับ built-in mutator หลากหลายรูปแบบ สามารถดู list เต็มๆ ได้ที่ Available mutators and groups นอกจากนั้นยังสามารถติดตั้งได้ผ่าน package manager ยอดนิยมอย่าง Maven หรือ Gradle ได้เลย

โดยเราสามารถกำหนด configuration ต่างๆ เหมือนการทดสอบแบบอื่นๆ ได้ เช่น

  • report format (พวก XML หรือ HTML)
  • จำนวน thread ที่ใช้ run เพื่อความรวดเร็วเพราะจากที่ลองแล้วใช้เวลาพอสมควร
  • plugin เสริมต่างๆ เช่น การใช้งานกับ JUnit 5
ตัวอย่างการประกาศ dependencies, plugins และ task ใน Gradle สำหรับ Pitest

จากนั้นทำการ run ด้วยคำสั่ง

$ ./gradlew pitest

จากนั้นเข้าไปดูผลลัพธ์ report ของ Pitest ได้ใน ${PROJECT_DIR}/build/reports/pitest

Pitest report

จะเห็นว่าตัว Pitest ทำการเพิ่ม mutation เข้าไปด้วยวิธีการต่างๆ เช่น

  • กลับข้าง condition จาก == เป็น !=
  • แปลง condition จาก < เป็น <=
  • เปลี่ยน i++ เป็น i —
  • เปลี่ยน return value เป็น 0

ซึ่งส่วนใหญ่ mutant จะถูก KILLED แปลว่าชุดการทดสอบเราแข็งแรง แต่จะมี 1 mutant ที่ SURVIVED ซึ่งก็ไม่เป็นไร เพราะไม่ว่าจะเปลี่ยน < เป็น <= การคำนวณของเราก็ยังถูกต้องอยู่ดี

การนำไปใช้จริง

มาถึงตรงนี้น่าจะให้ข้อดีของการทำ mutation testing กันแล้ว เราขอแนะนำการนำไปใช้งานจริงกันหน่อย เนื่องจากมันก็มีข้อเสียเหมือนกับการทดสอบแบบอื่นๆ เช่นเดียวกัน ซึ่งก็คือ ความเร็วในการ run ที่ช้าพอสมควร

  • Configure class ที่ไม่จำเป็นต้องทำ mutation จริงๆ ออกไป
  • Configure จำนวน thread ที่ใช้ในการ run
  • ไม่จำเป็นต้อง run ทุก commit หรือทุก build เพราะมันช้า แนะนำว่า run เป็น schedule ไปดีกว่า
  • ไม่จำเป็นต้องฆ่าทุก mutant ให้ครบหมด 100% ดูเป็นตัวๆ ไปครับ อย่างตัวอย่างข้างบนเราก็ปล่อยไว้นะ เพราะมันไม่มีผลอะไรอยู่แล้ว

หลังจากได้ผลการทดสอบออกมาแล้ว แนะนำให้วิเคราะห์ดูผลต่อยอดไป เช่น

  • ถ้า mutant ถูกฆ่าในการ run ครั้งล่าสุด แล้ว run ใหม่โดยไม่ได้แก้ code ตัว mutant นั้นก็ยังต้องถูกฆ่าอยู่ดี
  • ถ้า mutant รอดในการ run ครั้งล่าสุด แล้ว run ใหม่โดยไม่ได้แก้ code หรือ test ตัว mutant นั้นก็ยังต้องรอดอยู่ดี
  • ถ้า mutant ถูกฆ่าในการ run ครั้งล่าสุด แก้ไขชุดการทดสอบแล้ว run ใหม่ ตัว mutant นั้นก็ควรต้องถูกฆ่าอยู่ดี

TL;DR

การทำ mutation testing เปรียบเสมือนเป็นการตรวจภูมิคุ้มกันของชุดการทดสอบของเรา ช่วยให้เรามั่นใจว่าชุดการทดสอบมีคุณภาพมากพอที่จะครอบคลุม code ของเราตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

--

--