ประสบการณ์ทำ Design Sprint คืออะไรและยังไง?

Notjiam
Notjiam
Published in
3 min readApr 14, 2017

ส่วนตัวก่อนหน้านี้ ยังไม่เคยทำ Design Sprint แบบจริงจัง เคยเห็นแนวคิดแบบผ่านๆ แต่ล่าสุดได้มีโอกาสร่วมทำ Design Sprint กับลูกค้าทีมนึงในฐานะ UI/UX กับช่วยทำ Prototype ซึ่งมีคนจากเยอรมันที่เป็นที่ปรึกษาด้าน Design Sprint มาร่วมด้วย (จริงๆ ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ของลูกค้า ครั้งแรกเขาบินไปทำที่เยอรมัน พอมาครั้งนี้ทางนู้นเลยต้องบินมาบ้าง) เลยอยากมาเล่าให้ฟัง

Design Sprint คืออะไร?

Design Sprint คือกระบวนการที่ทำให้เราหาวิธีแก้ปัญหาที่เราสงสัยได้อย่างเป็นระบบและรวดเร็ว โดยใช้เวลาเพียง 5 วันในการทำ ซึ่งมีวิธีนี้มีต้นกำเนิดมาจาก Google Venture โดยเน้นให้เรา…

  • เข้าใจสิ่งที่กำลังจะทำ และตั้งสมมติฐาน
  • ทำแบบจำลอง (Prototype)
  • แล้วเอาไปทดสอบกันคนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของเราจริงๆ
Process ภาพรวมของการทำ Design Sprint — Cr. https://designsprintkit.withgoogle.com/methods/

ถ้ายกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดมากขึ้น เช่นเราจะทำ App ขึ้นมาตัวนึงเพื่อแก้ปัญหาในการ “หาที่จอดรถ” โดยมีไอเดียว่า

“ถ้าบ้านใครมีที่ว่างอยู่แล้ว ให้ใครก็ได้มาเช่าจอดรถ”

พอได้ idea นี้ปุ๊บ ตั้งหน้าตั้งตาทำ App อยู่ 3 เดือน อัดเงินทำโฆษณา หาติดต่อคนที่มีบ้านให้จอดรถได้ เสร็จทุกอย่างใช้เวลา 6 เดือน

แต่มาพบที่หลังว่า จริงๆ แล้วก็แค่ทำ App “ให้คน Check-in บอกคนอื่นว่าเจอที่จอดในห้างราคาถูกหรือฟรี” หรือ “เปิด Facebook Group ให้คนเข้ามา Post ว่ามีที่จอดว่างให้เช่า” อาจจะ Work กว่าหรือเปล่า

ซึ่ง Design Sprint จะทำให้เราเห็นภาพด้านบนชัดขึ้นภายใน 5 วัน โดยการทำ Prototype คร่าวๆ แล้วเอาไปให้คนลองใช้จริงๆ ผลที่ได้ อาจจะไม่ได้คำตอบที่ชัดเจนที่สุด แต่จะทำให้เราเห็นภาพและมุมมองการแก้ปัญหามากขึ้น

(แต่จากตัวอย่าง idea ข้างบนผมก็ยังไม่ได้ลอง Test นะครับ พึ่งคิดเล่นๆ ตอนพิมพ์ ถ้าใครสนใจเอาไปทำ Sprint ก็ลองได้เลยครับ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าก็อาจจะ work ตั้งแต่ idea แรกอยู่แล้วหรือเปล่า หรืออาจจะมีแนวทางอื่นที่ Work กว่า)

Design Sprint ต้องทำยังไงบ้าง?

อย่างแรกคนที่เข้ามาร่วมต้องมาจากหลากหลายหน้าที่ เพื่อให้ได้มุมมองที่ครบ โดยจะแบ่งเป็น 5 วันตามรูปด้านล่าง โดยจะมี Concept ในแต่ละวัน

วันที่ 1 : เข้าใจและรู้เป้าหมายของตัวเอง

เข้าไปวันแรกทุกคนโดนยึดโทรศัพท์ก่อนเลย ปิดเสียงทุกอย่าง (จริงๆ ก็ไม่ได้ซีเรียสขนาดนั้น) โดยหลักๆ วันแรกเราต้องหา “เป้าหมาย” ตัวเองก่อน แล้ว “ตั้งคำถาม” ที่อยากรู้ว่าถ้าจบ Sprint นี้แล้วเราอยากรู้อะไร ซึ่งตรงนี้ยากมาก ถกกันตลอด แต่ก็ต้องลองผิดลองถูก ที่สำคัญตอนแรกไม่รู้ว่ามีคนต่างชาติมาร่วมด้วย ภาษาอังกฤษล้วน ผมนิคุยกันเมื่อยมือเลย

เสร็จแล้วเราก็สร้าง Map ซึ่งตามความเข้าใจของผม มันคือ User Journey ว่า flow ของ ผู้ใช้หรือใครก็ตามที่เกี่ยวข้องเขาทำอะไรบ้าง

ตัวอย่าง Map เกียวกับการหาหมอ Cr. The Sprint book

ต่อมาก็ได้คุยกับคนที่อยู่ในวงการ (Expert) ที่เรากำลังทำ ซึ่งก็มีคำถามมากมายให้เขาตอบให้เขาเล่า ในมุมคนที่อยู่หน้างาน อยู่กับสิ่งที่เรากำลังจะทำ ว่าเขามีความคิดยังไง

แล้วก็เริ่มเขียน “How Might We” ชึ่งแปลว่า “เป็นไปได้ไหมที่จะ” โดยให้มองว่า เราจะแก้ปัญหาด้วยวิธีไหน เป็นการให้ทุกคนเสนอ idea ต่างๆ เขียนใน Post-it

พอเสร็จแล้ว เราก็เอามาจัดหมวดหมู่ของ idea แล้วให้ทุกคนโหวต โดยแต่ละคนจะมี Sticker ให้ไปแปะ Post-it ที่เราชอบ เราก็จะเห็นภาพรวมว่าคนในทีม มองว่าเราจะแก้ปัญหาไปในแนวทางไหน

อันนี้เป็นตอนที่ทำจริง ที่เอา Post-it มา Map กับ User Journey

พอหมดวันแรกทำก็จะได้แนวทางและมุมมองของทุกคนในทีม ที่มองเห็นภาพเดียวกันแล้ว

วันที่ 2 : สเก็ต

หลังจากวันแรกทุกคนก็กลับไปหา References หา Solution ว่าคนอื่นๆ มีวิธีแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรมยังไงได้บ้าง ซึ่งมี idea หลากหลาย ที่ไม่ใช่แค่ idea ของคนในทีมเท่านั้น

ส่วนตัว หลายปีที่แล้ว ผมเคยทำงานแนวที่เขากำลังจะทำให้กับบริษัทในสวีเดน เลยมีประสบการณ์เอามาเล่าว่า ตอนนั้นมีอะไรที่ทำแล้วเวิร์ค หรือไม่เวิร์ค และมีข้อแนะนำอะไรยังไง

พอเสร็จแล้วก็ให้ทุกคนเริ่มสเก็ต ให้เห็นเป็นภาพ ซึ่งจะมีวิธีนึงที่ชอบคือ

Crazy 8s — เป็นการพับกระดาษ A4 ให้ได้ 8 ช่อง แล้วสเก็ต 8 แบบ โดยใช้เวลาแบบละ 40 วินาที

แล้วเลือก 1 ใน 8 สเก็ตที่คิดว่าดีที่สุด มาลงรายละเอียด

ตัวอย่าง Crazy 8s — Cr. https://www.fastcodesign.com/1672917/the-8-steps-to-creating-a-great-storyboard ของจริงไม่ได้ถ่ายมาเลย รีบปั่นกันอย่างเดียว

วันที่ 3 : เลือกและตัดสินใจ เพื่อมาทำ Storyboard

ซึ่งวันนี้ผมติดภารกิจไม่ได้เข้าร่วม แต่หลักๆ คือการเลือกโหวตจากสเก็ต ว่าชอบส่วนไหน จะต่อยอดยังไง

เมื่อได้สเก็ตที่ทุกคนโหวต แล้วก็เอามาทำเป็น Storyboard

ตัวอย่าง Storyboard — Cr. Duco App

วันที่ 4 : ทำ Prototype

วันนี้เป็นวันที่ผมงานหนักที่สุด เพราะเป็นคนทำ Prototype แทบจะทั้งหมด แต่จะมีอีกส่วนคอยเตรียมคำถาม การสัมภาษณ์ และการทดสอบ สำหรับวันสุดท้าย

โดย Tools ที่ใช้จะมี

  • Invision — ไว้ทำ Interactive Prototype ที่สามารถให้ผู้ทดสอบ ลองเล่นบนมือถือจริงๆ ได้
  • Sketch — โปรแกรมออกแบบ (หรือใครถนัด Photoshop ก็ได้ แต่ส่วนตัวผมว่า Sketch ทำงานได้เร็วมาก สำหรับการทำ Prototype ) แนะนำให้ใช้ Plugin Craft ทำงานร่วมกับ Invision ไว้สำหรับ Syns รูปทั้งหมดขึ้น Invision ได้ในทีเดียว มีประโยชน์มากๆ และมีอีกตัวที่สำคัญคือ Sketch Mirror ไว้ Preview Design ของเรา บนหน้าจอมือถือจริงแบบ Realtime
  • Google Drive — ไว้ Share ไฟล์ร่วมกัน แบ่งงานกันหาข้อมูล แล้วมารวมไฟล์กันไว้ในนี้
  • Google Docs/Sheets —มีประโยชน์มากในการ Share ข้อมูล

ส่วน Resource ที่แนะนำสำหรับหารูป หา Graphic Icon ต่างๆ

เป็นบรรยากาศที่มันส์มาก ทุกคนรู้หน้าที่เตรียมข้อมูลอย่างดี เหมือนอยู่ในงาน Hackathon อะไรซักอย่าง ทุกอย่างต้องเสร็จใน 1 วัน

อันนี้เป็นงานที่ออกมา ถือว่าเพียงพอสำหรับทำ Prototype

วันที่ 5 : วันที่ให้ผู้ใช้ ได้ลองเอาไปทดสอบจริงๆ

ซึ่งวันสุดท้ายผมติดภารกิจอีกแล้ว แต่แผนของวันสุดท้ายคือ เตรียมนัดผู้เข้ามาทดสอบประมาณ 5 คน มีค่าเดินทางให้

โดยช่วงแรกจะมีการสัมภาษณ์ผู้เข้ามาทดสอบ ให้เล่าเรื่องทั่วไปแล้วคอยสังเกต และจะถามชุดคำถามที่เตรียมไว้ แล้วก็ให้ลองเล่น Prototype ระหว่างที่ทำการทดสอบ จะมีการอัดวีดีโอ ทั้งสีหน้า และท่าทาง เพื่อมาวิเคราะห์กันอีกทีนึง

พอทดสอบทุกอย่างเสร็จ ก็มาสรุปผล ซึ่งผลที่ได้จะไม่ได้แค่ว่าเวิร์ค หรือ ไม่เวิร์ค แต่แต่ได้ว่า “เพราะอะไร” หรือ “ทำไม” ซึ่งจะทำให้ต่อยอดในการทำต่อไป และเห็นภาพชัดเจนขึ้น

หลังจากได้ทำ Design Sprint ทำให้นึกถึงการ Brainstorm ส่วนตัวคิดว่า เป้าหมายคล้ายๆ กัน แต่เหมือน การ Brainstorm เหมือนเป็นการหา idea ใหม่ๆ แต่ Design Sprint เน้นไปที่การแก้ปัญหา โดยการคิดเป็นลำดับขั้นตอน รวดเร็วและใช้ได้จริงมากกว่า

ซึ่งรายละเอียดของ Design Sprint ลึกๆ สามารถเข้าไปดูได้ที่

--

--

Notjiam
Notjiam

iOS Android app design, Web design, Animator, Dreamer