Machine Learning

I'Boss Potiwarakorn
O v e r f i t t e d
3 min readAug 30, 2015

--

เรียนอะไร, รู้ไปทำไม

Machine Learning จริงๆแล้วมันคืออะไรกันแน่? ครั้งแรกที่ผมได้ยินคำคำนี้ ผมก็พูดกับตัวเองในใจ “เครื่องจักรที่เรียนรู้ได้ด้วยตัวเองงั้นเหรอ?” ใครมาถามว่ารู้จัก Machine Learning หรือเปล่า? มันคืออะไรอะ? ผมก็ได้แต่บอกเขาไปว่า “เคยได้ยินแต่ชื่อว่ะ”

ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า คุณที่หลงเข้ามาอ่านบทความนี้ ที่อาจจะเป็นเหมือนผมที่เคยได้ยินมาแต่ชื่อ เมื่ออ่านจบ หากมีใครมาถามว่า “รู้จัก Machine Learning หรือเปล่า? มันคืออะไรอะ?” จะมีความมั่นใจมากพอที่จะตอบเขาไปว่า

“รู้ดิ นั่งๆ เดี๋ยวเล่าให้ฟัง”

Machine Learning อยู่รอบๆตัวเรา

ก่อนที่จะอธิบายว่า Machine Learning คืออะไร ขอโม้สักเล็กน้อย ให้เห็นความสำคัญของมันเสียก่อน แล้วจะพบว่า Machine Learning นี่แทบจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันไปแล้ว

Machine Learning เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเรามากๆ ยิ่งสำหรับคนที่ใช้ Internet เป็นประจำนั้น แทบทุกวันจะได้ใช้ประโยชน์จาก Machine Learning ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราต้องการค้นหาอะไรบางอย่างด้วย Google Search แต่ไม่ค่อยแน่ใจ คับคล้ายคับคลาว่ามันน่าจะสะกดแบบนี้ “machn leaning” (ตัวอย่างโง่นิดนึง ๕๕๕๕๕) ปรากฏว่า…

Machine Learning กับ Google Search

โอ้ พระสงฆ์! มันเดาใจเราได้ เป็นหมอดูหรืออย่างไร!? แน่นอนว่าโค้ดก็คงจะไม่ใช่แบบด้านล่างนี้แน่ๆ

if (input == "machn leaning") return "machine learning"

แล้วทำไม Google ถึงได้รู้ใจเรากันนะ?

ยังมีตัวอย่างอีกมากมายที่นำ Machine Learning ไปใช้ เช่น Spam Filtering, Face Recognition, Handwriting Recognition

แม้แต่การทำ marketing ในปัจจุบันก็เริ่มใช้ประโยชน์ Machine Learning เช่นกัน อาทิ การแบ่งกลุ่มลูกค้า(Customer Segmentation) การทำนายการสูญเสียลูกค้า(Customer Churn Prediction) เป็นต้น

และที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือ Facebook’s Friend Suggestions ที่ผมเองก็ไม่รู้ว่าทำไมมันถึงแนะนำสาวสวยให้ผมอย่างสม่ำเสมอ แต่สิ่งที่ผมมั่นใจคือ Facebook ไม่ได้ใช้คนมานั่งเลือกให้แน่ๆ แล้วมันทำได้ยังไงกัน?

แน่นอนว่า Machine Learning คือคำตอบ

แล้ว Machine Learning คืออะไรกันแน่?

สมองของมนุษย์นั้นมีความสามารถที่น่าทึ่งมากมาย เช่น การตระหนักรู้ อารมณ์ความรู้สึก ความทรงจำ ความสามารถในการควบคุมร่างกาย รวมถึงประสาทสัมผัสทั้งห้าที่ทำให้เรามีความสามารถในการรับรู้ แต่ก็มีปัญหาบางอย่างที่ซับซ้อน และไม่เหมาะที่จะแก้ปัญหาโดยการใช้สมองของมนุษย์เพียงอย่างเดียว

เมื่อต้องเขียนโปรแกรมที่จัดการกับข้อมูลจำนวนมาก และมีรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป เป็นเรื่องยากที่เราจะทำความเข้าใจข้อมูลและเขียนโปรแกรมที่จะตอบสนองต่อมัน เมื่อมีข้อมูลเข้ามาเพิ่มและมีลักษณะที่ต่างไปอีกก็เหมือนกับ requirement เปลี่ยนตลอดเวลา เราก็ต้องวิเคราะห์ข้อมูลใหม่และแก้โปรแกรมของเราเรื่อยๆซึ่งลำบากมาก

Arthur Samuel หนึ่งในผู้บุกเบิก Computer Gaming, Artificial Intelligence และ Machine Learning ชาวอเมริกัน ได้นิยาม Machine Learning เอาไว้ว่า เป็น “การศึกษาเกี่ยวกับการทำให้คอมพิวเตอร์มีความสามารถที่จะเรียนรู้โดยที่ไม่ต้องเขียนโปรแกรมลงไปตรงๆ”

Field of study that gives computers the ability to learn without being explicitly programmed.

กล่าวคือ Machine Learning นั้น ไม่ได้กำหนดลงไปในโปรแกรมว่า สำหรับลักษณะ A, B ใดๆ หากข้อมูลมีลักษณะแบบ A ต้องทำอย่างไร แบบ B ต้องทำอย่างไร แต่เป็นโปรแกรมที่ทำความเข้าใจความสัมพันธ์ของข้อมูล แล้วสร้างวิธีการตอบสนองต่อข้อมูลขึ้นมาเอง

ในเมื่อโปรแกรมสามารถเปลี่ยนแปลงวิธีการตอบสนองต่อข้อมูลได้ด้วยตัวเอง เราจึงไม่จำเป็นต้องคอยวิเคราะห์ข้อมูลและแก้โปรแกรมทุกครั้งที่มีข้อมูลใหม่เข้ามาอีกต่อไป

แล้วมันต่างจาก Artificial Intelligence กับ Data Mining ยังไง?

ตัวผมเองเคยสงสัยว่า Machine Learning, Artificial Intelligence และData Mining มันต่างกันยังไง รู้สึกว่ามันก็เป็นเรื่องที่คล้ายกันมากๆ แต่แล้วผมก็พบความจริงว่า จริงๆแล้ว ทั้ง AI (Artificial Intelligence) และ Data Mining นั้นนำ Machine Learning ไปใช้ สิ่งที่ต่างกันก็คือเป้าหมาย

AI นั้นโฟกัสที่การสร้าง Intelligent Agent หรือตัวตนที่มีความคิดขึ้นมา ซึ่งไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ Machine Learning ก็ได้ ถึงแม้จะใช้เพียงแค่การ Search หากสามารถตอบสนองได้อย่างชาญฉลาด ก็สามารถเรียกว่าเป็น AI ได้

แต่ไม่จำเป็น ไม่ได้แปลว่าไม่ได้นำไปใช้ ในทางกลับกัน Machine Learning ถูกนำไปใช้ประโยชน์ใน AI เยอะมากๆ โดยถูกใช้เพื่อที่จะสร้างความรู้ใหม่ๆ และนำไปสู่การตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่ต่างออกไปจากที่กำหนดไว้แต่แรก

ส่วน Data Mining นั้น เป็นขั้นตอนการวิเคราะห์ใน knowledge discovery หรือการค้นหาความรู้ โดยจะเปลี่ยนจากข้อมูลดิบ(data)ให้เป็นข้อมูลที่ทำความเข้าใจได้(information) เพื่อที่จะนำไปใช้ต่อในอนาคต

Data Mining ใช้วิธีการของทั้ง AI, Machine Learning, สถิติ และ Database System ในการได้มาซึ่งข้อมูลเชิงลึก หรือ insight

โดยสรุปแล้ว ทั้ง 3 ศาสตร์นั้นมีความเกี่ยวข้องกันอย่างมาก และต่างก็นำวิธีการของกันและกันไปใช้ จึงไม่แปลกที่จะรู้สึกว่ามันดูคล้ายๆกัน เพียงแต่เป้าหมายของมันต่างกัน ทำให้วิธีการนั้นไม่เหมือนกันซะทีเดียว

รู้จักกับประเภทของ Machine Learning Algorithm

Machine Learning Algorithm นั้น โดยพื้นฐานแล้วจะแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทคือ supervised learning กับ unsupervised learning

supervised learning

supervised learning คือ การเรียนรู้ที่ได้รับคำแนะนำ

สมมติว่าเราเกิดเสียความทรงจำ ไม่สามารถแยกแยะ แอปเปิ้ล มะม่วง และส้มออกจากกันได้ คุณหมอผู้น่ารักจึงเอา แอปเปิ้ล มะม่วง และส้ม มาให้ดู ผลไม้ทั้งหมดที่คุณหมอเอามาให้ดูนี้เรียกว่า training data คือข้อมูลที่นำมาใช้ในการฝึกสอน

คุณหมอเริ่มจากการนำแอปเปิ้ลหลากหลายแบบมาให้ดู และบอกว่า “นี่คือแอปเปิ้ล” นี่เป็นการให้ label หรือป้ายที่แปะบอกว่าข้อมูลที่ได้มานี้คืออะไร

แอปเปิ้ลสีแดง

เมื่อเราได้เห็นแอปเปิ้ลก็จะพบว่า แอปเปิ้ลนั้นมีสีแดง หรือสีเขียว รูปทรงของแอปเปิ้ลนั้นหากผ่าครึ่งจะมีลักษณะคล้ายผีเสื้อ สิ่งเหล่านี้เรียกว่า feature หรือคุณสมบัติของข้อมูล

หลังจากนั้นคุณหมอก็นำมะม่วงและส้มมาให้ดู และพบว่า มะม่วงมีสีเขียวหรือเหลือง รูปทรงค่อนข้างยาว ส่วนส้มมีสีส้ม และมีรูปทรงเป็นทรงรี

เมื่อได้ข้อมูลมากเพียงพอ ก็จะเริ่มแยกแยะ แอปเปิ้ล มะม่วง และส้ม ออกจากกันได้ ต่อมา หากเจอส้มเปลือกสีเขียวก็อาจจะเดาได้ว่าเป็นส้ม เพราะรูปทรงของมัน

นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของ classification หรือการจัดหมวดหมู่ เป็น supervised learning แบบหนึ่งที่ใช้กับข้อมูลที่ไม่ต่อเนื่อง (discrete)

regression เป็นการวิเคราะห์สำหรับข้อมูลที่ต่อเนื่อง (continuous)

linear regression

ภาพด้านบนแสดงถึง linear regression หรือ line of best fit ซึ่งเป็น regression แบบหนึ่ง

จะเห็นได้ว่าเรามี training data อยู่ ซึ่งก็ไม่ได้เรียงตัวกันเป็นเส้นตรง แต่ก็พอจะเห็นรูปแบบและแนวโน้มของข้อมูล หากเราลากเส้นโดยพยายามให้ผลรวมของระยะห่างจาก training data ซึ่งเป็นความคลาดเคลื่อนน้อยที่สุด เราก็จะได้ model ที่พอจะทำนายค่า y ต่อๆไปได้

George E. P. Box นักสถิติศาสตร์กล่าวไว้ว่า

Essentially, all models are wrong, but some are useful.

อย่างที่เห็นในภาพ เส้นสีน้ำเงินนั่นคือ model หรือแบบจำลองเพื่อทำนายค่า y ที่มี x สูงกว่านี้ แต่จะเห็นได้ว่าแทบไม่มีจุดไหนที่ตรงเป๊ะๆเลย เราใช้ได้แค่พอทำนายได้คร่าวๆเท่านั้น

unsupervised learning

หาก supervised learning คือการเรียนรู้ที่มีคำแนะนำ unsupervised learning ก็คือการไปตายเอาดาบหน้า ไม่มีใครมาแนะนำเรา แต่คงต้องขอไปลุยซักตั้ง

เมื่อ supervised learning มี classification ทางด้าน unsupervised learning ก็จะมี clustering ซึ่งหลายคนรวมถึงผมเอง เมื่อได้รู้จักครั้งแรก ก็สงสัยว่า เอ๊ะ มันต่างกันยังไง classification เป็นการจัดหมวดหมู่ ส่วน clustering เป็นการจัดกลุ่ม ฟังๆดูก็คล้ายๆกันอยู่ดี

เช่นนั้นแล้ว ลองกลับไปสวมบทผู้ป่วยสูญเสียความทรงจำ กับคุณหมอน่ารักอีกสักครั้งนะครับ

คราวนี้ คุณหมอ เอาผลไม้มาอีกสามชนิดที่หน้าตาไม่เหมือนทั้งแอปเปิ้ล มะม่วงและส้ม แต่คุณหมอไม่ยอมบอกอะไรเกี่ยวกับเจ้าพวกนี้เลยสักนิด หรือก็คือตอนนี้ ผลไม้เหล่านี้ไม่มี label แต่คุณหมอก็สั่งให้เราแยกมันออกมาเป็นสามกลุ่ม เมื่อเราสังเกต feature ของผลไม้พวกนี้ก็จะพอแยกแยะได้ว่าผลไม้ลูกไหนควรจะอยู่กลุ่มเดียวกัน

เมื่อแยกได้สามกลุ่มแล้ว คุณหมอก็เดินจากไปเสียเฉยๆ ไม่บอกไม่กล่าวอะไร สุดท้ายเราก็รู้แค่ว่า ผลไม้แต่ละลูกอยู่กลุ่มเดียวกับใคร แต่บอกไม่ได้ว่ามันคืออะไรกันแน่ นี่คือ clustering ต่างจาก classification ที่บอกเราตั้งแต่แรกว่าผลไม้แต่ละชนิดมีชื่อว่าอะไรบ้าง

หลายครั้งที่ข้อมูลนั้นมี feature หลายชนิด หรือก็คือเป็นข้อมูลที่มีมิติมาก เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วก็จะเป็นเรื่องยากที่จะแสดงภาพ หรือ visualize ข้อมูล เราจึงควรลดมิติของข้อมูลลง โดยพยายามคงความหมายเดิมอยู่

dimensionality reduction หรือ dimension reduction เป็นการลดมิติของข้อมูล ซึ่งนอกจากจะทำให้ง่ายที่จะ visualize แล้ว เมื่อมีมิติที่น้อยลง นั่นหมายถึงมี feature ที่น้อยลง ซึ่งทำให้ performance ดีขึ้น และลด space complexity อีกด้วย

ส่งท้าย

นอกจากประเภทของ Machine Learning Algorithm แบบ basic ที่เขียนไว้ด้านบนแล้วยังมี Semi-supervised Learning และ Reinforcement Learning ที่พี่ต้า @konpat เขียนเอาไว้ครับ

สุดท้ายนี้ ผมเชื่อว่า Machine Learning เป็นศาสตร์หนึ่งที่สำคัญมากๆสำหรับวงการคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน และอนาคต และส่วนตัวผมคิดว่าศาสตร์นี้มันเท่มากๆเลยนะ ใครสนใจใน Machine Learning ก็เข้ามาคุยกันได้นะครับ :D

--

--

I'Boss Potiwarakorn
O v e r f i t t e d

CTO @ █████; EX-ThoughtWorker; FP, Math, Stats, Blockchain & Human Enthusiast