การจัดการอารมณ์โกรธ 😡

hua ホア
odds.team
Published in
2 min readJul 17, 2024

อยากแชร์เรื่องที่ได้ไปฟังพี่ โอฬาร อึงอำนวยพร มาแชร์ให้ฟังตอนที่ชาว ODDS ไปบางแสน ฮั้วสารภาพว่ายังไม่ได้เข้าคลาส Responsibility ของพี่โอฬาร เพราะตอนนั้นติดธุระอย่างอื่นเลยพลาดโอกาสไป 😣 ถ้าพี่โอเปิดคลาสอีกฮั้วจะไปเรียนให้ได้เลยค่ะ!

วันนั้นได้มีโอกาสมานั่งฟังพี่โอแชร์แนวทางการระงับอารมณ์โกรธของตัวเองเลยอยากเขียนแชร์ไว้ค่ะ

อ้างอิงจากที่พี่โอเคยเขียนไว้เกี่ยวกับ Reponsibility Process:

เราว่าเข้าเรื่องกันเลยดีกว่า

ทุกคนเคยเห็นภาพลิงสามตัวที่เอามือ 🙈 🙉 🙊 กันไหมคะ?

三匹の猿ー見ざる言わざる聞かざる

ปิดตา 🙈 (見ざる mizaru) หมายถึง การไม่รับรู้โดยการมองในสิ่งที่ไม่ดี

ปิดปาก 🙊 (言わざる iwazaru) หมายถึง การไม่กล่าววาจาสิ่งที่ไม่ดี

ปิดหู 🙉 (聞かざる kikazaru) หมายถึง การไม่ฟังสิ่งที่ไม่ดี

เราจะมาโฟกัสที่ ลิงที่ปิดปาก ค่ะ

ทุกวันนี้ไม่ว่าเราจะทำอะไร เดินออกไปข้างนอก จับจ่ายซื้อของ หรือตอนทำงาน เรามักมีอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยอย่างห้ามไม่ได้

อารมณ์ที่เกิดขึ้นแล้วรุนแรงในความคิดของฮั้วคือ ‘อารมณ์โกรธ’

เพราะเมื่อเกิดขึ้นแล้ว หากเราควบคุมมันไม่ได้ ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามอารมณ์พาไป มันอาจจะสร้างความเสียหายมากมาย ทั้งทางวัตถุ หรือ ‘จิตใจของคนรอบข้าง’

source: The Responsibility Process

พี่โอเล่าว่า ใน Reponsibility Process ที่พี่เขาไปเรียนมาจะมีกระบวนการตามภาพด้านบน คือจะเริ่มจาก Lay blame (โทษคนอื่น) -> Justify (หาเหตุผลเพื่อเข้าใจคนอื่น) -> Shame (โทษตัวเอง) -> Obligation (ยอมรับ ทำในสิ่งที่ควร ไม่ใช่สิ่งที่อยาก) -> Responsibility (เลือกที่จะลงมือทำ)

ถ้าพูดถึงอารมณ์โกรธ กระบวนการเหล่านี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่ออารมณ์โกรธมันเกิดขึ้นแล้ว แต่ที่พี่โอมาแชร์วันนั้นคือวิธีที่ดับความโกรธโดยทันที 😮🫨

พี่โอยกตัวอย่างสถานการณ์ที่พี่เขาต้องตื่นแต่เช้าเพื่อจะส่งลูก ป.2 ไปโรงเรียนให้ทัน ในเวลาเช้าของกรุงเทพฯที่ถนนทุกเส้นรถแน่นขนัด เพราะคนอื่นๆก็แห่กันขับรถออกมาเพื่อที่จะไปเข้างาน/ทำธุระในเวลาเดียวกัน

อารมณ์โกรธแรก: รถติด

ขับรถไปเรื่อยๆ เจอรถขับปาดหน้าไป ทุกคนคงมีซีนนี้ในใจอยู่แล้ว และคงมีอารมณ์ที่เกิดขึ้นคล้ายๆกัน นั่นก็คือ ความไม่พอใจที่เจอรถขับแบบไม่มีมารยาท

อารมณ์โกรธที่สอง: เจอเฮียขับรถ

เวลาก็เดินไปเรื่อยๆ แต่รถบนถนนกลับไม่มีทีท่าว่าจะขยับหรือเคลื่อนที่ได้เร็วดั่งใจหวัง อุณหภูมิในใจก็ยิ่งร้อนขึ้นทุกที หันไปดูนาฬิกาถี่ขึ้นเพื่อหวังว่าเข็มนาฬิกาจะเดินช้าลงอีกนิด เพื่อที่จะได้ไปส่งลูกเข้าเรียนได้ทันเวลา

เล่าสถานการณ์ตัวอย่างมาแล้วทุกคนคงพอจะจินตนาการได้ว่า ณ ตอนนั้นอารมณ์ของพี่โอร้อนแค่ไหนตอนที่ต้องติดแหง็กอยู่บนถนนที่รถติดในช่วงเช้า

พี่โอได้แนะนำวิธีที่ใช้ระงับอารมณ์โกรธของตัวเองมีดังต่อไปนี้ค่ะ

ถามใจตัวเอง ว่าตอนนี้โกรธอะไร ทำไมถึงเกิดอารมณ์แบบนี้ขึ้น?

ทำไมถึงโกรธ => เพราะรถติด => ทำไมถึงโกรธเพราะรถติด => เพราะจะทำให้ไปส่งลูกเข้าเรียนไม่ทันเวลา => ไปส่งไม่ทันเวลาแล้วเกิดอะไรขึ้น? => ลูกอาจจะโดนตำหนิ อาจจะโดนเพื่อนมองไม่ดี ฯลฯ => แล้วมันเป็นอย่างนั้นจริงๆไหม?

ตอบคำถามที่ถามใจตัวเองแล้วจะพบว่า อารมณ์โกรธมันเกิดจากตัวเราเองทั้งนั้น ถ้าลองมองตามความเป็นจริง อาจารย์ที่โรงเรียนคงไม่ตำหนิเด็ก ป.2 ไปโรงเรียนไม่ทันเวลาหรอก อารมณ์โกรธที่เกิดขึ้นมันเกิดจากการที่เราจินตนาการไปเอง และกลัวไปเอง การถามตัวเองเรื่อยๆแบบนี้เป็นเหมือนกับ debug อารมณ์ตัวเองว่าตอนนี้เรารู้สึกยังไง แล้วเหตุที่ทำให้ก่อเกิดอารมณ์นั้นคืออะไร มันช่วยให้เรารู้ตัว และจะได้หาวิธีมาดับอารมณ์ความรู้สึกตรงนั้นได้ด้วยความเป็นเหตุเป็นผล

วิธีนี้ฮั้วเห็นด้วยว่าดีมาก ถ้าทำได้😁 แต่ฮั้วเองก็ใช่ว่าพอฟังพี่โอเล่าแล้วจะสามารถทำได้เลย ก็ยังต้องมีการคิดย้อนรำลึก คอยทักตัวเองอยู่เรื่อยๆ ยังไม่ auto ขนาดว่าพอเริ่มโกรธแล้วคิดถึงวิธีนี้แล้วหายโกรธเลย 😅

อารมณ์โกรธกับการทำงาน

ในเรื่องการระงับอารมณ์เป็นหนึ่งในความฉลาดที่แต่ละคนมีไม่เท่ากัน บางคนอาจจะใจเย็นเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่กับคนอื่นๆที่ไม่ได้ใจเย็นก็สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้หากฝึกการควบคุมอารมณ์ คอยสังเกตอารมณ์ตัวเอง

ตอนนี้เรารู้สึกอย่างไร?

ในเรื่องการทำงานเป็นทีม หากเราใช้แต่อารมณ์พูดคุยกัน สาดแต่อารมณ์ความรู้สึกใส่กัน จนเกลียดกันไปข้าง เนื้องานจริงๆก็คงจะไม่เดินไปไหน 🤷🏻‍♀️ นึกภาพเราต้องทำงานกับเพื่อนร่วมงาน/หัวหน้าเจ้าอารมณ์ เราคงหมดแรงตั้งแต่เห็นหน้าเขาแล้ว ความคิดสร้างสรรค์ ไอเดียอะไรมันคงออกมาได้ยาก ขนาดเรายังไม่ชอบที่คนอื่นมาสาดอารมณ์ใส่เราเลย แล้วลองมองกลับมาที่ตัวเอง ตอนนี้เรากำลังใส่อารมณ์กับใครอยู่หรือเปล่า?

ตอนนี้เราใช้อารมณ์ทำงานกับคนอื่นอยู่หรือไม่?

จากที่ฮั้วได้ไปเรียนเรื่อง ‘การทำงานเป็นทีมอย่างมีประสิทธิภาพ’ มาค่ะ ทีมที่ดีคือทีมที่มี ‘ความปลอดภัยทางใจ’ (Psychological safety) เมื่อสมาชิกทีมมีความปลอดภัยทางใจแล้ว ในทีมจะเกิดความเชื่อใจ (Trust) จนเกิดความร่วมมือ และความรู้สึกรับผิดชอบร่วมกันขึ้นมาด้วย พวกเขาก็พร้อมที่จะเสนอไอเดียของตัวเอง หรือแม้กระทั่งข้อกังวลของเขาเองให้ทีมได้รับทราบ ทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆ มุมมองใหม่ๆจากคนหลายคนขึ้นมาจนกลายเป็น Innovation

เราลองหันกลับมามองที่ตัวเองกันดีกว่า ก่อนที่อารมณ์ของเราจะไปทำให้คนอื่นเสียใจ

เราเป็นที่ปลอดภัยทางใจให้ใครได้บ้างนะ?

--

--

hua ホア
odds.team

A developer with proficiency in the Japanese language 🐸 ODDS | Cats, Games, Drawing, Sharing knowledge