การสื่อสารเพื่อสานสัมพันธ์ NVC

Chokchai Phatharamalai
odds.team
Published in
2 min readAug 21, 2023
Photo by Pavan Trikutam on Unsplash

ก่อนที่ผมจะได้เรียน Nonviolent Communication (NVC) ของ Marshall Rosenberg ผมเคยคิดว่า ชุดภาษาที่ผมใช้นั้นละมุนละม่อมมาก สิ่งที่จูงใจให้ผมเชื่อแบบนั้นเพราะผลทดสอบ Strength finder บอกว่าผมมี Empathy (รับรู้ความรู้สึกคนอื่นได้ใกล้เคียงกับความรู้สึกตัวเอง) และผมในสมัยนั้นให้ค่าความรู้สึกของคนอื่นมากกว่าความรู้สึกตัวเอง พอคิดว่าตัวเองทั้งรับรู้ความรู้สึกคนอื่นได้ดี และห่วงใยความรู้สึกคนอื่นตอนสื่อสาร เลยทำให้คิดว่าที่นั่งเลือกคำตอนพูดนั้นถือว่าดี ผมน่าจะสื่อสารได้อย่างนุ่มนวลแล้ว

การศึกษา NVC ทำให้ผมเปิดหูเปิดตามาก เพราะปรากฏว่าชุดภาษาเดิมที่ผมใช้นั้นมันช่างทิ่มแทงเหลือเกิน ผมทบทวนตัวเองแล้วพบว่าชุดภาษาเดิมผมเต็มไปด้วยหนามแหลมคม รวมไปถึงชุดความคิดก็เต็มไปด้วยอคติ ซึ่งผมไม่เคยมองเห็นในตัวเองมาก่อนเลย ความรุนแรงที่ผมซึมซับมาตั้งแต่เด็กมันหยั่งรากลึกมาก และผมก็ไม่เคยมองมันเป็นความรุนแรงมาก่อน เพราะมันทำให้หัวใจผมกระด้างขึ้นทีละน้อย ๆ มันเล็กน้อยมากจนผมไม่รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลง กว่าจะรู้ตัวอีกที ความรุนแรงเหล่านี้ก็กลายเป็นหินที่เคลือบหัวใจผมเอาไว้แล้ว

หัวใจวัยเด็ก

เด็กน้อยที่เป็นเหมือนผ้าขาวนั้น เกิดมาพร้อมกับหัวใจที่อยากทำให้ทุกชีวิตในโลกมีความสุข พร้อมหยิบยื่นพลังงานและรอยยิ้มให้กับทุก ๆ ชีวิตที่ตัวเองพบเจอต่อหน้าเลย เรามักจะเห็นเด็กมีความสุขเวลาได้ป้อนอาหารสัตว์ แบ่งขนมให้พ่อแม่หรือคนแปลกหน้า เด็กที่เพิ่งเกิดมา ดูจะเข้าใจความสุขของการให้ได้อย่างง่ายดายราวกับเป็นสัญชาติญาณที่ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด แต่แล้วผ้าขาวนั้นก็เริ่มแปดเปื้อนสีต่าง ๆ ที่มาตีกรอบล้อมกำแพงหัวใจแห่งรักนั้น ไม่ให้เด็กน้อยเข้าถึงความรักแบบนั้นได้ง่าย ๆ เมื่อเติบโตขึ้น องค์ประกอบ 2 อย่างที่สร้างกำแพงขึ้นมาคือ 1. การตัดสิน และ 2. การปฏิเสธความรับผิดชอบจากการใช้ความรุนแรงของตน

การตัดสินจะปกป้องเด็กน้อยจากความรู้สึกแย่ขณะที่กำลังใช้ความรุนแรง ส่วนการปฏิเสธความรับผิดชอบจะปกป้องเด็กน้อยจากความรู้สึกแย่หลังจากใช้ความรุนแรง แต่มันเปิดโอกาสให้การใช้ความรุนแรงครั้งหน้าเกิดง่ายขึ้น

1. การตัดสิน

อธรรมรุมเรียกหมาหมู่ ธรรมะรุมเรียกรวมพลัง

กรอบแรกที่ทำให้ผมที่เคยเป็นเด็กน้อยที่มีหัวใจอันบริสุทธิ์เริ่มซึมซับความรุนแรงเข้ามาทีละนิด ๆ คือพวกการ์ตูนที่ผมดูตอนเล็ก ๆ ซึ่งจะมีฉากฮีโร่ไล่ทำร้ายพวกผู้ร้าย บางทีถึงกับฆ่าพวกตัวร้ายก็มี แล้วก็ตามด้วยเพลงตื่นเต้น ๆ ทำให้ผมซึมซับที่จะตัดสินว่าอะไรถูก อะไรผิด อะไรที่ดี อะไรที่ชั่วร้าย ปัญหาคือ เมื่อไหร่ที่ผมตัดสินว่าอีกฝ่ายเป็นฝ่ายผิดแล้ว มันยากมากเลยที่ผมจะกรุณาคนที่ถูกตัดสินว่าผิด

อีกกำแพงที่ทำให้หัวใจผมส่งสายสัมพันธ์ไปเห็นความเป็นมนุษย์ของอีกฝ่ายที่อยู่หลังกำแพงแห่งคำตัดสินไม่ได้ คือการเปรียบเทียบ ถ้าการตัดสินถูกผิดคือการตัดสินด้วยการเอาหลักการบางอย่างที่ผมยึดถือเป็นมาตรฐาน การเปรียบเทียบก็คือคำตัดสินโดยเอาอีกคนเป็นมาตรฐาน ซึ่งผลลัพธ์คือกำแพงกั้นความกรุณาเหมือน ๆ กัน แค่เปลี่ยนจากถูกผิด เป็นน้อยไป มากไปเท่านั้น

แต่เล็กแต่น้อย ผมค่อย ๆ ซึมซับมาว่า มันเป็นเรื่องธรรมดาที่จะใช้ความรุนแรงกับคนผิด หรือคนชั่ว ผมมอบไปรอบ ๆ ผมพบว่าผู้คนรอบตัวที่ผมพบเห็นว่าเค้าตัดสินใจใช้ความรุนแรง ก็เพราะเค้าเห็นว่าอีกฝ่ายผิด และสมควรได้รับโทษ ไม่มีเหตุผลใด ๆ อีกที่จะอธิบายว่าพ่อแม่สามารถตีหรือดุด่าลูกในไส้ให้เจ็บช้ำกายใจได้อย่างไร ทั้ง ๆ ที่ทั้งรักและหวังดีกับเค้าหมดใจ กำแพงเดียวที่ผมเห็นว่าสามารถปิดกั้นรักที่ยิ่งใหญ่นั้นได้ คือ กำแพงของคำตัดสินนี่แหละ

2. การปฏิเสธความรับผิดชอบจากการใช้ความรุนแรงของตน

นายสั่งมา

ส่วนที่สองที่ทำให้ความรุนแรงนี้มันแพร่กระจายจนเห็นได้ด้วยไปในสังคม คือส่วนของการปฏิเสธความรับผิดชอบของตัวเอง ตอนที่เลือกใช้ความรุนแรง โดยการโยนความผิดไปให้กับบริบท เช่น องค์กร, สังคม เป็นต้น คำที่ Marshall ใช้ในหนังสือคือคำเยอรมันว่า Amtssprache แปลเป็นไทยก็ประมาณว่า “นายสั่งมา” นี่แหละ คือหัวหน้าสั่งมาให้ผมทำแบบนี้ ผมเลือกอะไรไม่ได้ ผมจำเป็นต้องทำ

พอผมชินกับการใช้กำแพงปิดกั้นความกรุณา ทำให้ชั่วขณะที่ผมกำลังใช้ความรุนแรงในภาษาที่ทิ่มแทงไปยัง “คนผิด” ในสายตาผมโดยไม่ทำให้ผมรู้สึกผิดขณะที่ใช้ความรุนแรง รวมเข้ากับการโยนความผิดนี้ให้กับสังคมหรือบริบทว่า สถานการณ์มันบีบบังคับให้ผมทำ ซึ่งใช้แก้ตัวไม่ให้ผมรู้สึกผิดต่อตัวเองหลังจากใช้ความรุนแรงไปแล้วอีก ความรุนแรงที่ซึมลึกขึ้น ๆ ไปในหัวใจ จนแม้แต่คนที่มีจุดแข็งในการรับรู้ความรู้สึกคนอื่น และให้ความสำคัญกับความรู้สึกคนอื่นอย่างผม ก็ยังใช้ความรุนแรงให้เห็นอยู่เนือง ๆ อยู่ดี

การตัดสินทางศีลธรรมมีที่มาอย่างไร

การตัดสินทางศีลธรรมถูกปลูกฝังตั้งแต่สมัยที่แรงงานทาสแพร่หลาย เหล่าราชาและผู้มีอำนาจต้องการให้คนให้ความสำคัญกับหลักการบางอย่างมากกว่าฟังเสียงของหัวใจตัวเอง เพราะแบบนั้นมันคุมง่ายกว่า เป็นที่มาของกฎทั้งหลายที่เราทำตาม ๆ กันมาทุกวันนี้

องค์ประกอบทั้ง 4 ของ NVC

แล้วถ้าเราไม่ตัดสินว่าใครถูกใครผิด เวลาเรามีความขัดแย้ง เราจะแก้ไขความขัดแย้งอย่างไร ซึ่งองค์ประกอบทั้ง 4 ของ NVC คือการสังเกต (พฤติกรรม) โดยไม่ตัดสิน เบื้องหลังพฤติกรรมใด ๆ จะถูกทำด้วยความรู้สึกบางอย่าง เราจะพยายามเดาและถามเพื่อทำความเข้าใจความรู้สึกของอีกฝ่าย ซึ่งถ้าความรู้สึกเป็นเหมือนกลิ่นหอม ดอกไม้ที่อยู่เบื้องหลังกลิ่นหอมนั้นคือความต้องการ เมื่อทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความเข้าใจเรื่องความรู้สึกและความต้องการของทั้งสองฝ่ายในพฤติกรรมที่ขัดแย้งกันแล้ว ค่อยใช้ความสร้างสรรค์และความกรุณาออกแบบวิธีการใหม่ที่ตอบสนองความต้องการทั้งสองฝ่าย ถ้าทำแบบนี้ได้ ผมก็สามารถกลับไปสัมผัสกับความสุขของเด็กน้อยตอนป้อนอาหารสัตว์ได้เรื่อย ๆ ในทุกความขัดแย้ง

ความขัดแย้งก็จะไม่นำไปสู่ความแตกแยกอีกต่อไป แต่ความขัดแย้งจะนำไปสู่การเติบโตของทั้งสองฝ่าย เพราะทั้งสองฝ่ายได้เข้าใจความต้องการที่หลากหลายและแตกต่างของชีวิตต่าง ๆ ในบริบทต่าง ๆ มากขึ้น เข้าใจความรู้สึกและความต้องการของตัวเองชัดขึ้น ได้สานสายสัมพันธ์ที่ยืนยันว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่รุ่งเรืองมาได้จากความสามัคคีมากขึ้น และได้ฝึกทักษะที่จะสร้างสรรค์และกรุณามากขึ้น

Credits

ขอบคุณพี่หลิ่งที่ทำให้ผมได้รู้จักกับ NVC มองย้อนกลับไปเห็นตัวเองตอนเดินเข้าคอร์สการสื่อสารเพื่อสานสัมพันธ์ขั้นต้นที่พี่สอนเมื่อไหร่ ก็รู้สึกโชคดีมาก ๆ ที่ได้เรียนคอร์สนั้น ตั้งแต่นั้นมาผมก็ศึกษา ฝึกฝน ขบคิด พยายามทำความเข้าใจมันเรื่อยมาพร้อมกับชีวิตที่ดีขึ้น ๆ เห็นตัวเองชัดขึ้น ๆ และความสัมพันธ์กับคนที่ผมรักที่ดีขึ้น ๆ เรื่อยมา ขอบคุณมากครับ

อ้างอิง

--

--