ขึ้นต้นด้วย R ลงท้ายด้วย E ใคร ๆ ก็บอกว่าดี แต่ไม่ทำกัน

Chokchai Phatharamalai
odds.team
Published in
1 min readNov 30, 2020
Photo by Mindaugas Vitkus on Unsplash

ประมาณสองสัปดาห์ที่แล้ว ผมเห็นว่างาน Agile Tour Bangkok เปิดรับ topic สำหรับ speaker ในงาน ผมก็เลยเตรียมหัวข้อนี้จะไปพูด ปรากฏว่าวันงานตรงกับวันที่คุณพ่อมีนัดกับหมอ ผมเลือกพาพ่อไปหาหมอ เลยเอาหัวข้อที่เตรียมไว้มาเขียนเป็นบทความแทน (เดิม ชื่อ topic จะเป็น ภาษาอังกฤษว่า Starting with R, Ending with E, everyone says it’s necessary, not many practice) และ ใช่ ชื่อมันจะยาวเบอร์นั้นแหละถ้า max lenght ของ title ยาวพอ

Retrospective เป็นกิจกรรมที่สำคัญที่สุด

ผมเคยเห็นหลากหลายเหตุผลว่าทำไม retrospective ถึงเป็นกิจกรรมที่สำคัญที่สุด สำหรับผมเอง retrospective เป็นพื้นที่ที่เราถอดหมวกของบทบาทของเราออก ไม่ว่าจะเป็น product owner, Scrum master, team member หรือแขกรับเชิญที่ทีมเชิญมา แล้วก็มาเจอกันในฐานะคนธรรมดาที่มีความคิด ความรู้สึกเหมือน ๆ กัน มาแบ่งปันประสบการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา

ในพื้นที่ทำงาน บ่อยครั้งที่บทบาททำให้เราต้องคิดก่อนพูด บางครั้งผมก็ไม่ได้แสดงความหวั่นไหว เพราะเป็นห่วงกำลังใจของทีม บางช่วงเวลาที่ปั่นป่วน ก็ใช้ทักษะที่มีดูแลตัวเอง เพื่อทำหน้าที่ของเราต่อให้ลุล่วง เพราะเวลาใน sprint มันจำกัดเหลือเกิน

แต่ในพื้นที่ retrospective เราอยากจะมีพื้นที่ปลอดภัยที่สามารถแบ่งปันได้อย่างซื่อสัตย์ว่า บางช่วงเราก็ฝืนอยู่ หรือบางทีเราก็พลาดได้เหมือนกันโดยไม่ถูกตัดสิน ผมคิดว่าพื้นที่การทำงานมันควรจะมีห้องพักแบบนี้บ้าง ในโรงเรียนยังมีห้องแนะแนวได้เลย พื้นที่ทำงานก็ควรจะ human friendly เบอร์เดียวกัน

ถ้ามันสำคัญ ทำไมคนถึงไม่ทำกัน?

บ่อยครั้งที่ผมได้คุยกับทีมไม่ได้ทำ retrospective อย่างสม่ำเสมอ ผมเห็น 3 สาเหตุที่ผมพบบ่อย ๆ ดังนี้

1. ไม่มีเวลา

บ่อยครั้งทีมที่บอกว่าไม่มีเวลา มักจะมาควบคู่กับไม่มี timebox ให้กับ sprint review ด้วย หมายถึงเริ่มไม่ตรงเวลา จบไม่ตรงเวลา เพราะเวลาเริ่มและจบขึ้นอยู่กับคนใหญ่คนโตสักคน ถ้าเค้าไม่มา ทีมก็เริ่มไม่ได้ ถ้าผู้ใหญ่ยังพูดอยู่ ต่อให้หมดเวลาแล้วจะตัดจบก็ไม่ได้

แก่นของ retrospective คือการให้ทีมได้เรียนรู้จาก feedback เกี่ยวกับ product ผมคิดว่าการให้ข้อมูลทีมมากเกินกว่าที่ทีมจะย่อยได้ไม่ได้มีประโยชน์อะไร

2. เบื่อดราม่า

บางทีมเล่าว่าไม่ทำ เพราะเบื่อดราม่า ผมพบว่าทีมเหล่านี้มักจะเคยทำ retrospective โดยไม่มี facilitator แล้วสถานการณ์มันรุนแรงโดยไม่มีใครควบคุม ทำให้เกิดประสบการณ์แย่ ๆ กับกิจกรรมนี้ แล้วก็ไม่อยากทำมันอีกแล้ว

ผมให้ความสำคัญกับการ มี facilitator มากว่าการทำ retrospective เสียอีก ไม่ว่า facilitator นั้นจะเป็น Scrum master ของทีมเราเอง, SM ที่ยืมมาจากทีมอื่น หรือเป็นสมาชิกในทีมที่จับไม้สั้นไม้ยาวแล้วซวยได้ไม้ยาวในตานั้นก็ตาม :P

สำหรับผม ผมเลือกที่จะไม่เสี่ยงทำ retrospective โดยไม่มี facilitator ถ้าไม่ทำเลย ถึงจะเสียโอกาสที่ sprint หน้าจะดีขึ้น ก็ดีกว่าเสี่ยงเสียความสามัคคีแล้ว sprint หน้าก็แย่ลง

3. ไม่มีประโยชน์

อีกหนึ่งเหตุผลที่ผมได้ยินบ่อย ๆ คือ เป็นกิจกรรมที่ไม่มีประโยชน์ บ่อยครั้งคำตอบนี้มักจะมาคู่กันกับอาการว่า action item ที่เกิดขึ้นจาก retrospective มันไม่โดนทำ

พอมีไอเดียที่จะทำให้ชีวิตดีขึ้นบ่อย ๆ แต่ไม่ได้ทำมันเลย ไม่ว่าจะเป็นเพราะ คนในทีมไม่ให้ความร่วมมือ งานเยอะเกินไป หรือไม่ได้รับการสนับสนุนเพื่อให้ทำ action item นั้นให้สำเร็จก็ตาม การต้องผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่ามันเศร้ามาก มันเป็นการทำลายความเคารพที่ทีมมีให้กับตัวเอง ตอนผมเป็นทีม ผมก็ไม่อยากเผชิญความรู้สึกนี้บ่อย ๆ

ไหน ๆ action item ที่คิดขึ้นมาก็ทำไม่ได้อยู่แล้วสู้ไม่คิดขึ้นมาตั้งแต่แรกเสียดีกว่า ถ้าไม่หวัง ก็ไม่ต้องกลัวผิดหวัง

ทั้งหมดนี้คือ 3 pattern หลัก ๆ ที่ผมพบในทีมที่ไม่ได้ทำ retrospective อย่างสม่ำเสมอ ถ้าบทความนี้ช่วยให้ทีมบางทีมเห็นว่าควรจะต้องปรับตรงไหนจะได้ทำ retrospective ได้บ่อยขึ้นก็คงดี ขอบคุณที่สละเวลาอ่านครับ

--

--