ความขัดแย้งในใจ ความเข้าใจ และการมีขั้ว

mixth
odds.team
Published in
1 min readMay 4, 2024
Modified from the original by Peter Wormstetter on Unsplash

หลายครั้งในชีวิตประจำวันไม่ว่าจะเป็นเรื่องใหญ่หรือเรื่องเล็กเพียงใด เราอาจจะพบว่าเรา “ทะเลาะกันเอง” อยู่ภายในแล้วหาข้อสรุปที่ดีไม่ได้เสียที

อย่างกรณีของผมที่ลังเลว่าจะเอาเงินที่พอเก็บหอมรอมริบมาได้ ไปเที่ยวต่างประเทศดี หรือว่าเอาไปลงทุนเพื่อตอนเกษียณดี มีช่วงนึงในชีวิตที่ผมเกิดบทสนทนาลักษณะนี้ในหัว

👉 “ทำงานมาทั้งปีสนุกช่วงสั้นๆ พักผ่อนบ้างไม่เห็นเป็นไรเลย”

👈 “แต่ถ้าไม่เก็บตังแบบนี้ตอนแก่จะลำบากนะ”

👉 “จะอายุยืนถึงขนาดนั้นได้เลยหรือไง ถ้าอายุยืนเดี๋ยวก็ทำงานเพิ่มได้แหละ”

👈 “ทำไมถึงเป็นคนไม่มีความรับผิดชอบเลย วัยทำงานแล้ว มีคนต้องคอยดูแลแล้วแท้ๆ”

👉 “แล้วทำไมไม่คิดจะสนุกบ้าง เดี๋ยวแก่ไปก็ทำอะไรหลายๆ อย่างไม่ได้แล้วนะ”

ในบล็อกของพวกเรา พี่อูได้พูดเรื่อง polarity (น. คุณสมบัติของการมีขั้ว) ไปแล้ว เมื่อตัวเราเองมีขั้วอยู่เรามักจะมี preferred pole (น. ขั้วที่เราชื่นชอบมากกว่า) อยู่ในใจ และตัดสินใจไปตามขั้วนั้นเสมอ อย่างกรณีของผม ขั้วหลักคือฝั่งที่อยากลงทุนเพื่อเกษียณมากกว่า เลยจะเลือกใช้เงินกับการลงทุนค่อนข้างเยอะและออกไปเที่ยวน้อย (กว่าที่อยากทำ) ไปมากๆ

ใจผมในอีกฝั่งนึงที่ไม่เคยได้รับความสนใจเลย ในหลายๆ ครั้งก็โดนตีตราว่าเป็นความคิดที่ “ไม่ดี” ตลอด อย่างกรณีด้านบนความเป็นคนไม่รับผิดชอบทำให้เรารู้สึกว่าการตัดสินใจเลือกทางนั้นคือการทำผิด กลายเป็นความเศร้าของตัวเองได้

✅ ทางที่ดีกว่า คือการเข้าใจขั้วทั้งสองว่าเป็นสิ่งที่ดี มีผลดีต่อชีวิตเราทั้งคู่

เริ่มจากการทำความเข้าใจในขั้วทั้งสองก่อนว่ามันชื่ออะไร ถ้าเราตั้งชื่อให้ขั้วใดขั้วหนึ่งหรือทั้งสองขั้วเป็นลบ เราจะไม่มีทางเห็นขั้วนั้นได้อย่างชัดเจน เราจึงควรตั้งชื่อทั้งสองขั้วไม่เป็นกลางทั้งคู่ ก็ต้องเป็นบวกทั้งคู่

ในกรณีของผม ผมคิดว่ามันคือ

ความมั่นคงในอนาคต กับ การใช้ชีวิตให้สนุกในปัจจุบัน

เมื่อเรามองทั้งสองสิ่งนี้เป็นเรื่องดีทั้งคู่ บางคนอาจจะสังเกตเห็นว่าในชีวิตของเราจะมีช่วงชีวิตที่เราใส่ใจกับเรื่องนึงมากกว่า และมีการกระทำที่หนักไปทางหนึ่งมากๆ จนกระทั้งวันนึงมันเกิดผลเสียอย่างหนัก จนทำให้เราย้ายไปทำอีกฝั่งหนึ่งหนักมากๆ และอาจจะวนเวียนอย่างงี้ไปเรื่อยๆ สิ่งนี้คือ polarity และเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตเราในหลายๆ มุม

เมื่อถึงตรงนี้เราน่าจะพอเข้าใจแล้วว่า การที่เราหาข้อสรุปของสิ่งนี้ไม่ได้เสียที ไม่ใช่เพราะเราเป็นคนโลเล ไม่กล้าตัดสินใจ แต่เพราะในตัวเรามีขั้วเกิดขึ้น แล้วทั้งสองฝั่งไม่ได้รับความใส่ใจ จึงทำให้เกิดการทะเลาะกันและใช้ด้านที่ “ไม่ดี” ของอีกฝั่งในบทสนทนา กลายเป็นพิษต่อใจของเราเอง

เมื่อเรารู้แบบนี้แล้วเราจะทำยังไงดีล่ะ ❓

อันดับแรกคือการทำความเข้าใจทั้งสองฝั่งในใจของเราก่อน ทั้งสองต่างเป็นเรื่องดีต่อเราทั้งคู่ จะเป็นการดีถ้าเราสามารถบอกทั้งสองได้ว่าเราดีใจ และขอบคุณที่ให้คุณค่าแก่เรา บอกว่าเราเห็นทั้งสองฝั่งนะ และอยากตอบสนองต่อทั้งสองเท่าที่ทำได้ การเข้าใจและมองเห็นใจเราเอง เป็นจุดเริ่มต้นต่อการแก้ความขัดแย้งในตัวเรา

ถัดมาคือการมองหาทางเลือกที่เมื่อเราลงมือทำแล้วจะได้ประโยชน์จากทั้งสองทาง โค้ชผมคนนึงเคยพูดว่า

เมื่อไรที่เรามีเพียงสองทางเลือก เมื่อนั้นเราไม่ได้มีทางเลือก

สามทางเลือกหรอ? ถือว่ามีแต่น้อย

การมีทางเลือกจริงๆ คือการมีมากกว่าสามทางเลือก
และเรามีทางเลือกมากขนาดนั้นเสมอ

ผมไม่ได้มีแค่

1 ออกไปเที่ยวด้วยเงินทั้งหมดที่มี

2 เก็บเงินทั้งหมดเพื่อจะได้เกษียณเร็ว

แต่ผมยังมี

3 เก็บเงินฉุกเฉิน ซื้อประกันเกษียณอายุให้เพียงพอ ⛑

4 กำหนดงบเที่ยวต่อปี แล้วต้องใช้เที่ยวให้หมด! 🏖

5 กำหนดวันในหนึ่งปี ให้ตัวเองได้พักผ่อน ไม่ว่าจะเที่ยวหรือฮีลใจ 👨‍⚕

ฯลฯ

เมื่อเราได้ทางเลือกแล้วก็ลองลงมือทำ เมื่อมีเรื่องในใจที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ให้ลองพยายามไม่กดความคิดหรือความรู้สึกนั้น แต่พยายามเข้าใจและมองหาทางเลือกอื่นๆ ที่เป็นไปได้มากยิ่งขึ้น

เรื่องของ polarity ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงในใจของเราเท่านั้น แต่เกิดขึ้นระหว่างบุคคล กลุ่มคน องค์กร สถาบันเช่นกัน ผมเชื่อว่าเมื่อเราเข้าใจและได้ฝึกใช้ในระดับบุคคลมากๆ เราจะสามารถมองเห็นและเข้าใจในระดับอื่นๆ ได้ดีขึ้น

เราลองมามองดูใจ อารมณ์ ความรู้สึก และความคิดของเรา เพื่อเข้าใจขั้วของเราด้วยกันนะครับ ❤️

บทความนี้มีเนื้อหาหลักจากส่วนนึงของ Polarity Management Workshop โดย Tong Yee ที่ตกตะกอนผสมกับเนื้อหาบางส่วนจาก Leading Self Workshop โดย Stanly Lau

--

--

mixth
odds.team

🇹🇭 BKK based 👨‍💻 software engineer 🐈 love cats 🌟 push for more democratic and more transparent gov 🍿 watch way too much movies and tv series