คำตำหนิ
ผมอยากให้คุณลองจิตนาการว่ากำลังเดินเที่ยวอยู่ต่างประเทศ ขณะที่กำลังชื่นชมกับทิวทัศน์ตึกรามบ้านช่องที่แปลกตา อยู่ ๆ ก็มี คนไร้บ้านเดินมาด่าคุณแรง ๆ ด้วยภาษาที่คุณไม่รู้จัก หลังจากที่ความตกใจผ่านไปเพราะคุณสังเกตว่าเค้าเอาแต่ด่า แต่ไม่มีทีท่าว่าจะทำร้าย คุณก็เห็นเค้าหน้าแดงก่ำยิ่งกว่าเดิมจากท่าทีไร้การตอบสนองของคุณ เค้าตะโกนว่าคุณหนักขึ้นอีก แต่คุณก็ยังฟังไม่ออกอยู่ดี คุณจะเก็บคำด่าของเค้ามาเจ็บใจไหม?
ถ้าเป็นผมคงจะไม่ ก็ผมฟังไม่ออกนี่นา อย่าว่าแต่เก็บมาฝังใจเลย ผ่านไปครึ่งชั่วโมง ให้ผมทวนว่าเค้าพูดว่าอะไร ผมจะจำได้ถึง 3 คำไหมก็ยังไม่แน่ใจเลย
ในทางกลับกัน ถ้าคำด่านั้นมันเป็นภาษาไทยหล่ะ?
บางครั้งคำตำหนิบางคำทำผมเจ็บใจไปเป็นสัปดาห์ก็มี บางคำนึกย้อนขึ้นมาตอนนี้ยังโกรธอยู่เลย ทำไมมันถึงมีผลกระทบกับผมขนาดนั้นคุณทราบไหม
เพราะผมอนุญาตให้คำเหล่านั้นมันกระทบใจผม โดยการให้ความหมายกับประโยคเหล่านั้นเอง
ถ้าเป็นประโยคที่ผมไม่รู้จัก ไม่นานผมก็ลืม แต่พอเป็นเสียงที่ผมตีความได้ ผมก็มอบความหมายให้กับประโยคนั้น ยิ่งมอบให้มากเท่าไหร่ ทั้งถ้อยคำ น้ำเสียง ให้ความหมายกับความสัมพันธ์ของผู้พูด ยิ่งให้ความหมาย ก็ยิ่งสะเทือนใจ
ผมใช้เวลาหลายปีเลย กว่าจะได้เรียนรู้ว่า…
คำตำหนิ ก็เหมือนดอกไม้
สมัยมัธยมปลาย ผมเคยช่วยเพื่อนจีบสาว พอใกล้ถึงวันเกิดของสาว เพื่อนผมก็มาปรึกษาว่าจะเซอร์ไพร์สเธออย่างไรดี หลังจากปรึกษากันสักพัก เราก็ตัดสินใจจะซื้อดอกไม้ ด้วยงบประมาณที่เพื่อนผมตั้งไว้ เราจำกัดงบที่ 500 บาท แล้วเราก็เลือกกันว่าจะเอาดอกอะไรดี
จั๊วะ: เอาดอกลิลลี่ไหม หอมดีนะ
เพื่อน: ไม่เอาอ่ะ เอากุหลาบขาวดีกว่า ดูสะอาดบริสุทธิ์ดี
หลังจากซื้อดอกไม้เสร็จ ผมก็เสนอให้เอาไปวางบนหมอนในห้องนอนเธอเลย เธอต้องเซอร์ไพร์สแน่นอน ถึงเพื่อนผมจะรู้จักว่าบ้านเธออยู่ไหน แต่ก็ไม่เคยไปเยี่ยมบ้านเธอ เพราะยังไม่ได้สนิทกันถึงขั้นนั้น ใคร ๆ ก็รู้ว่าลูกสาวโรงเรียนสตรีล้วนจะมีบ้านเป็นป้อมปราการที่แข็งแกร่งขนาดไหน แค่คิดเพื่อนผมก็หน้าขาวซีดไม่มีเลือดไปเลี้ยงแล้ว
อาจจะเป็นเพราะผมเป็นคนนอก เลยตัดสินใจได้บ้าบิ่นกว่า เราสองคนโดดเรียนพิเศษและแอบไปบ้านเธอ กดกริ่งเจอแม่บ้าน เลยขอให้แม่บ้านนั่นแหละช่วยเซอร์ไพรส์เธอ โดยเอาไปวางที่ห้องนอนให้หน่อย เสร็จภารกิจเราก็ค่อยตามไปเรียนพิเศษสาย ผมเชื่อว่าเพื่อนผมไม่ได้เรียนคาบนั้นแน่นอน พอเห็นสาวเจ้าของวันเกิดนั่งเรียนพิเศษอยู่ คงนั่นจินตนาการหน้าตาประหลาดใจของเธอตอนเห็นดอกไม้ทั้งคาบโน่นแหละ หลังจากนั้นอีก 2 สัปดาห์สองคนนั้นก็ตกลงเป็นแฟนกัน
ที่ผมหยิบเรื่องนี้มาแบ่งปันเพราะ ดอกกุหลาบขาวที่เพื่อนผมเลือกให้สาวนั้น ไม่ได้บอกอะไรเกี่ยวกับผู้หญิงคนนั้นเลย ถึงตอนนี้คุณก็คงรู้สึกเหมือนกันว่าคุณรู้จักเพื่อนผมมากกว่าสาวคนนั้นอีก ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณของดอกไม้ ประเภทหรือสีของดอกไม้ล้วนบอกตัวตนของผู้มอบ ไม่ใช่ผู้รับ
คำตำหนิก็เช่นกัน เวลามีคนตำหนิผม คุณค่าที่เค้าเห็นว่าผมขาดไปในพฤติกรรมหนึ่ง ๆ เป็นคุณค่าที่สำคัญสำหรับเค้า ไม่ใช่คุณค่าของผม ภาษาที่เค้าเลือกใช้สื่อสาร บอกประสบการณ์ที่เค้าผ่านมา ไม่ใช่ของผม กาลเทศะที่เค้าเลือกใช้ตอนตำหนิ บอกความละเอียดอ่อนของเค้า ไม่ใช่ของผม
คำตำหนิเหมือนดอกไม้ ผมเลือกจะทิ้งมันไว้ตรงนั้น ไม่รับมันมาก็ได้ เหมือนคำด่าภาษาที่ผมไม่รู้จัก ถ้าผมไม่มอบความหมายให้มัน มันก็จะกองอยู่ตรงนั้นแหละ และถ้าผมเลือกจะรับมันมา ผมต้องไม่ลืมว่าผมเป็นคนเลือกจะให้ความหมายกับมันเอง
คำตำหนิชอบมาเวลาเราไม่พร้อม
เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ได้ฝึกฝนการให้ feedback มา รูปแบบส่วนใหญ่ของ feedback ที่ผมได้รับ จะอารมณ์ประมาณเหมือนผมเข้าส้วม ท้องผูก กำลังเบ่งหน้าแดงหน้าดำเลย แล้วก็มีคนจะให้ feedback เคาะประตูสองครั้งพอเป็นธรรมเนียม เสร็จแล้วก็ถีบประตูเข้ามาอย่างแรง บานประตูเปิดดังเปรี้ยง แล้วเค้าก็ปาดอกไม้ใส่หน้าผมพร้อมพูดเนิบ ๆ ว่า “อ่ะ feedback”
จังหวะตอนรับ feedback ผมมักจะตะลึง ไม่รู้จะโฟกัสที่ธุระที่ตัวเองกำลังติดพันก่อนดี หรือจะโฟกัสความอายก่อนดี ปรกติหัวมันจะขาวโพลนไปหมด ไม่รู้จะตอบอย่างไร ถ้าคุณเคยเจอประสบการณ์คล้ายกัน วันนี้ผมมีหนึ่งสิ่งที่ไม่ควรทำ และอีกหนึ่งสิ่งที่แนะนำมาแบ่งปัน
สิ่งที่ไม่ควรทำคือเถียง หรือพยายามอธิบาย หรือพยายามปฏิเสธ feedback นั้น เพราะสิ่งที่จะตามมาคือ คนให้ feedback เค้าจะพยายามยัดเยียด feedback นั้นให้ผมจนได้อยู่ดี และสภาพผมตอนนั้นก็ไม่พร้อมจะสู้กับใครให้ชนะด้วย แค่รักษาความเป็นส่วนตัวที่หลงเหลืออยู่ในสภาพนั้นก็เต็มกลืนแล้ว
สิ่งที่ควรทำคือตอบไปว่า “ขอบคุณ” พอผู้ให้เห็นว่า เรารับมาแล้ว เค้าก็จะจากไป แล้วอำนาจการตัดสินใจจะกลับมาอยู่กับผมตอนผมอยู่ลำพัง ผมจะทิ้ง feedback นั้นไว้โดยไม่ให้ความหมายมันเลยก็ได้ หรือผมจะค่อย ๆ จัดการกับมันก็ได้ ตอนผมเสร็จธุระติดพัน ใส่กางเกงให้เรียบร้อย ปล่อยให้อารมณ์วุ่นวายใจมันผ่านไปก่อน แล้วค่อยหยิบ feedback นั้นมาจัดการ
Feedback ก็เหมือนของขวัญ
ส่วนใหญ่เราจะรู้สึกดีหรือไม่ดีกับของขวัญชิ้นหนึ่ง มักขึ้นกับประสบการณ์ตอนได้รับมัน สีกระดาษห่อและริบบิ้นที่ตกแต่งมัน เทศกาลหรือสถานการณ์ตอนที่ได้รับ รวมถึงวิธีการมอบให้ด้วย
ของขวัญบางชิ้นที่ผมได้จากคนที่ไม่ชอบ ในจังหวะที่ไม่ใช่ แทบไม่อยากจะใช้มันเลย แม้มันจะมีประโยชน์ก็ตาม ส่วนของขวัญบางชิ้น ได้จากคนสำคัญ ต่อให้ไม่ชอบก็ทิ้งไม่ลง อย่างไรก็ดี ถ้าเราไม่แกะห่อออกมา เราจะไม่มีทางรู้เลยว่าอะไรอยู่ข้างใน แล้วเราใช้ประโยชน์ได้ไหม feedback ก็เช่นกัน
ต่อให้แกะมาเป็นบาร์โหน ผมจะเอามันไปตากผ้าก็ได้ หรือถ้ามันไม่มีประโยชน์จริง ๆ ผมก็เอาไปบริจาคหรือทิ้งได้อยู่ดี
เมื่อก่อนที่ผมจัดการกับ feedback ได้ยาก เพราะผมกลัว กลัวว่าถ้ายอมรับ feedback นั้นมาแล้วมันจะมีผลผูกพันกับอนาคตผม กลัวว่าถ้ารับมาแล้วจะต้องปรับตัวหรือปรับพฤติกรรมซึ่งอาจจะยากมาก ๆ แต่วันนี้ผมได้เรียนรู้แล้ว ว่า feedback มันห่างไกลจากการผูกพันผมมาก
กว่า feedback จะมีผลผูกพัน มันต้องให้ผู้มอบกับผู้รับมีความเข้าใจที่ตรงกันของสถานการณ์ที่กำลังพยายามปรับปรุงก่อน พอเข้าใจกันได้ ฝ่ายที่ให้ feedback ต้องร้องขอให้ผมปรับพฤติกรรมอีก และถ้าอีกฝ่ายจูงใจผมได้ ทำให้ผมยอมตอบตกลง มันถึงจะกลายเป็นสัญญา และเมื่อนั้นแหละ มันถึงจะผูกพันกับอนาคตของผม ผมพบว่า มี feedback น้อยกว่า 1 ใน 10 เสียอีกที่มีโอกาสพัฒนาไปเป็นคำมั่นสัญญา และอันที่ผมรับมาก็มีประโยชน์กับชีวิตผมด้วย
ที่ผมอยากแบ่งปันเรื่องนี้กับคุณ เพราะเราทุกคนเหมือนกัน ถึงคนเราจะเลือกไม่ได้ว่าจะให้คนมาพูดดี ๆ กับเรา เลือกไม่ได้ว่านาทีนี้อยากได้กำลังใจ และอีกนาทีนึงอยากได้ feedback เพื่อพัฒนา เลือกไม่ได้ว่าอยากถูกชมในศาลา อยากถูกว่าในกุฏิ แต่เราทุกคนเลือกได้ว่าจะทำอย่างไรกับคำตำหนิที่ได้รับมา ถ้าเราเข้าใจดีแล้วว่าของขวัญมันอธิบายผู้ให้มากกว่าผู้รับ เราจะเลือกกองมันไว้ตรงนั้นราวกับมันเป็นภาษาต่างดาวก็ได้ จะเอามาแกะดูตอนว่าง ๆ แล้วค่อยพิจารณาว่ามันมีประโยชน์กับเราไหมอย่างไรก็ได้ หรือเอาเฉพาะส่วนที่เป็นประโยชน์เก็บไว้ และทิ้งส่วนเกินไปก็ได้เช่นกัน แค่ต้องฝึกฝนจิตใจที่จะควบคุมปริมาณความหมายที่เราให้กับมัน เราทุกคนทำได้
ชวิน (ลูกชายผม) อยากให้ปิดบทความสัปดาห์นี้ด้วยมุขของเขา
บางทีนะ ที่ Voldemort ไม่มีจมูกอาจจะเป็นเพราะวิ่งเข้ากำแพงผิดอันตอนจะไปฮอกวอตส์ก็ได้ 🤣