คิดไม่ออก ให้ไปนอนตื่นนึงก่อน

Chokchai Phatharamalai
odds.team
Published in
1 min readApr 25, 2022
Photo by Alexander Possingham on Unsplash

เป็นประโยคที่ผมได้ยินบ่อย ๆ บางครั้งผมก็บอกตัวเองเวลาผมเจอปัญหาที่ยังไม่มีทางแก้ พอรู้ตัวแล้วว่าคิดต่อไปก็คิดไม่ออก ผมก็จะไปพัก ไม่ก็สลับไปทำอย่างอื่นแล้วค่อยกลับมาแก้ใหม่วันหลัง

จากหนังสือ Why We Sleep ผมได้แบ่งปันก่อนหน้านี้ว่าการนอนช่วยเสริมสร้างทักษะ สร้างพื้นที่สำหรับเก็บความทรงจำใหม่ ๆ และช่วยเยียวยาจิตใจ ซึ่งทั้ง 3 อย่างช่วยให้เราเรียนรู้และสร้างสรรค์ได้ง่ายขึ้น แต่นอกจากนี้ผมได้เรียนรู้จากหนังสือเพิ่มเติมว่าในสภาวะที่เรากำลังหลับ จะมีสารบางอย่างหลั่งออกมา ทำให้เราสร้างสรรค์มากขึ้นอีกด้วย

The genius gap

นักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งที่ใช้ประโยชน์จากความสร้างสรรค์ที่เพิ่มขึ้นตอนเราฝันคือ Thomas Edison ในหนังสือเล่าว่า เขามักจะงีบกลางวัน แต่ไม่ใช่งีบธรรมดา เค้างีบขณะที่กำลังถือลูกเหล็กบริหารมือเอาไว้ ขณะที่เอาแขนพาดอยู่บนที่วางแขน แล้วก็คว่ำหม้อเอาไว้ใต้มือพอดี นอกจากนี้ ยังมีกระดาษกับดินสอวางไว้ที่ตักด้วย พอเค้าเคลิ้มหลับไป เค้าก็จะเผลอปล่อยลูกเหล็กให้หล่นไปโดนหม้อ แล้วก็สะดุ้งตื่น แล้วเค้าจะจดไอเดียที่แล่นออกมาใส่กระดาษกับดินสอที่เตรียมไว้ เค้าเรียกการงีบของเค้าแบบนี้ว่า “The genius gap”

จุดกำเนิดของตารางธาตุ

Dmitri Mendeleev เป็นนักเคมีชาวรัสเซียที่เชื่อหมดใจว่าธาตุต่าง ๆ ที่มีอยู่ในโลก สามารถจัดเรียงกันได้ด้วยรูปแบบใดรูปแบบนึง ด้วยความอินจัดของเค้า เค้าก็เลยทำการ์ดขึ้นมาแทนธาตุแต่ละตัวพร้อมกับคุณสมบัติทางกายภาพและเคมีอยู่บนการ์ดนั้น แล้วเมื่อไหร่ที่เค้าว่าง ไม่ว่าจะเป็นตอนนั่งอยู่ในออฟฟิศที่ทำงาน หรือว่าตอนนั่งรถไฟ เค้าจะเอาการ์ดเค้ามาค่อย ๆ เปิดทีละใบ แล้วหาวิธีจัดเรียงมัน เค้าพยายามอยู่หลายปี แต่ก็ยังไม่สำเร็จ

มีอยู่ครั้งหนึ่ง เค้าโหมทำมันสามวันสามคืนก็ยังไม่สำเร็จ ทั้งเครียดทั้งเหนื่อย เค้าจึงเผลอหลับไปในหัวก็มีธาตุต่าง ๆ หมุนวนเวียนหัวไปหมด แล้วในฝันนั้นเอง ธาตุต่าง ๆ ที่หมุนวนก็จัดเรียงกันเองโดยอัตโนมัติจนตารางธาตุถือกำเนิด ด้านล่างเป็น quote จากคำพูดของ Mendeleev เอง

ผมฝันเห็นตารางที่ธาตุต่างจัดเรียงกันเอง พอผมตื่นผมก็รีบจดมันใส่กระดาษไว้ แล้วตอนตรวจทานก็ผมเจอจุดผิดให้แก้แค่เพียงจุดเดียว

สมองเราสร้างสรรค์ตอนฝัน

ในภาวะที่เรากำลังฝัน หรือ REM Sleep นั้น สมองจะค้นหาแก่นของความรู้จากประสบการณ์ที่เราได้รับ แล้วกลั่นจากประสบการณ์ให้กลายเป็นความรู้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือเด็กเล็ก ๆ ที่กำลังหัดพูด จะเห็นว่าเด็ก ๆ สามารถใช้ไวยกรณ์ได้อย่างถูกต้องก่อนที่เค้าจะได้เรียนในโรงเรียนเสียอีก

จากการทดลองปลุกคนมาแก้ puzzle พบว่าในช่วงฝันคนสามารถแก้ได้มากกว่า 15–35% แถมยังตอบได้ทันทีแบบไม่ต้องคิดอีกด้วย

สรุปแล้วช่วงเวลาที่เราอยู่ในภาวะ REM Sleep หรือฝันนั้น สมองจะหลั่งสารต่าง ๆ ออกมาเพื่อให้เราอยู่ในสภาพที่สร้างสรรค์สุด ๆ เพื่อแก้ปัญหาที่เราคิดไม่ออกในระหว่างวัน หรือหาแก่นของความรู้จากประสบการณ์ที่เราผ่านมา

ตัวผมเองพบว่า นอกจากเวลาฝัน บ่อยครั้งเวลาผมผ่อนคลายก็จะปิ๊งไอเดียต่าง ๆ ขึ้นมาเช่นกัน ประเด็นสำคัญคือการจดไอเดียเหล่านี้ไว้ไม่ให้ลืมนี่แหละ ทุกวันนี้เวลาผมปิ๊งไอเดียที่จะเขียนบทความขึ้นมา ผมก็หยิบมือถือขึ้นมาแล้วตั้งชื่อบทความทิ้งไว้เลย พอมีเวลาว่างค่อยมาเขียน

อ้างอิง

--

--