งานแต่งที่ปากีสถานวันที่ 4 Valima
วะลีมะฮ (Valima) แปลว่า งานเลี้ยงส่งท้าย จัดโดยฝ่ายเจ้าบ่าว ซึ่งครั้งนี้จัดกันที่โรงแรม ผมใส่สูทไปรับประทานอาหารธรรมดาเหมือนงานแต่งบ้านเรา แล้วก็จะเห็นคู่บ่าวสาวเดินทักทายตามโต๊ะต่าง ๆ เสร็จแล้วก็มีผลัดกันไปถ่ายรูปรวมเหมือนวันนิกะห์เลย แค่วันนี้ไม่มีพิธีกรรมทางศาสนาเฉย ๆ
เท่าที่ผมค้นข้อมูลมา เหมือนงานเลี้ยงส่งท้ายจะจัดภายใน 2 วันหลังจากวันนิกะห์ แล้วก็จะเลี้ยงทุกคนไม่แบ่งชนชั้น เพราะการเลี้ยงอาหารผู้คนเป็นการช่วยงานของพระเจ้า ผู้ที่คอยดูแลให้ทุกชีวิตได้อิ่มท้อง การเลี้ยงอาหารจึงได้บุญ
สรุปงานแต่งของที่การาจี
งานเลี้ยงที่การาจีเทียบกับที่ผมเห็นในเมืองไทยแล้ว มีหลายวันกว่า ค่าใช้จ่ายก็เยอะกว่าตามไปด้วย เรียกว่าแต่งงานกันทีนึงก็ทุ่มกันหมดหน้าตักเลยทีเดียว
งานบางวันจัดโดยฝั่งเจ้าบ่าว บางวันจัดโดยฝั่งเจ้าสาว แบ่งกันไปเป็นวัน ๆ เลย
ส่วนที่คล้ายบ้านเราคือ การจัดงานมีเรื่องที่ต้องคิดต้องตัดสินใจมากมาย ซึ่งถือเป็นอุบายที่ดีที่ทำให้คนในบ้านทั้งตัวบ่าวสาวและคนในครอบครัวไม่หมกมุ่นกับความกังวลของสิ่งที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไป การที่เจ้าสาวต้องย้ายเข้าไปในบ้านเจ้าบ่าว กลายเป็นลูกสะใภ้ในบ้านหลังใหม่ มีห้องว่างเพิ่มขึ้นมาหนึ่งห้องในบ้านเจ้าสาว เป็นความเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่มากกับชีวิตของคนหลาย ๆ คนในครอบครัว การที่เราวุ่น ๆ กับการจัดงาน ทำให้เราไม่จมอยู่กับความรู้สึกกังวลกับความเปลี่ยนแปลงมากเกินไป มีโมเมนต์ให้นึกถึงมันบ้างในระหว่างงาน แล้วทุกคนก็ซาบซึ้งเสียน้ำตากันไป
นอกจากงานแต่งจะปันสมาธิผู้คนไปที่การจัดงานแล้ว ยังเป็นอุบายที่ดีที่ให้ทั้งสองครอบครัวได้มาทำอะไรร่วมกัน ภายในเป้าหมายเดียวกัน แน่นอนว่ามันจะมีรายละเอียดความต่างเล็ก ๆ ที่ต้องปรึกษากัน เช่นสีของธีมงาน ที่ต่างครอบครัวมีความชอบความเชื่อที่แตกต่างกัน บรรยากาศของงานที่คาดหวังและรายละเอียดอื่น ๆ ในการจัดงานแต่ง ทุกคนอยากให้มันออกมาดีที่สุด ภายใต้ข้อจำกัดของกรอบความเชื่อและทรัพยากร ถ้าทั้งสองครอบครัวไม่สามารถร่วมมือกันจนข้ามอุปสรรคเล็ก ๆ นี้ไปได้ การต้องช่วยกันในภารกิจที่อาจจะตามมา เช่น ดูแลกันวันเจ็บป่วย สนับสนุนกันในวันยากลำบาก หรือช่วยกันเลี้ยงลูกหลานน่าจะซับซ้อนกว่ามาก ถ้าจัดงานด้วยกันยังทำไม่รอด ภารกิจหลังจากนี้ก็น่าจะยิ่งรอดยากกว่า
อีกสิ่งที่แตกต่างกันคือคนที่นั่นมีลูกกันเยอะกว่าบ้านเรา พ่อผมมีพี้น้อง 10 คน แต่ละคนมีลูกคนละ 2–4 คน นั่นแปลว่าผมมีญาติรุ่นเดียวกันประมาณ 30 คนแล้ว แต่ละคนก็มีลูกกันคนละ 2–3 คน เทรนที่เหมือนบ้านเราคือ พอคนเรียนสูงขึ้นก็มีลูกกันช้าลง และก็มีจำนวนน้อยลงเหมือนกัน แต่โดยรวมก็ยังมีจำนวนเยอะกว่าที่ผมเห็น ๆ ในบ้านเราอยู่ดี ขนาดผมที่มีลูกเร็วกว่าเพื่อน ๆ หลายคนแล้วยังมีคนเดียวอายุ 8 ขวบอยู่เลย ญาติ ๆ ผมหลายคนนำผมไปไกลละ
อันนี้ไม่แน่ใจว่าเป็นแค่ธรรมเนียมของครอบครัวผม หรือว่าเค้าทำกันทั่วไป แต่ญาติ ๆ ผมหลายคนซื้อบ้านในหมู่บ้านเดียวกัน ทำให้ไปมาหาสู่กันง่าย ธุรกิจที่ทำก็เป็นเหมือนกงสี คือทุก ๆ คนช่วย ๆ กันทำ ได้มาก็แบ่ง ๆ กันไป ก็จะได้เจอหน้ากันบ่อยกว่า บางทีทำอาหารก็มีเผื่อบ้านข้าง ๆ เป็นต้น แต่ครอบครัวผมที่การาจีก็นับว่ามีฐานะที่ค่อนข้างดี มีธุรกิจใหญ่โต
เทียบกันกับพี่น้องผมในเมืองไทย เราไม่ค่อยได้เจอกันเท่าไหร่ เพราะหลายคนทำงานและมีครอบครัวที่ต่างประเทศด้วย ถ้าโชคดีจะได้เจอพร้อมหน้าพร้อมตากันก็ตอนคริสมาสปีละครั้งเท่านั้น
จบแล้วครับกับซีรียส์งานแต่งที่การาจี ขอบคุณที่ติดตามครับ