งานแต่งที่ปากีสถาน

Chokchai Phatharamalai
odds.team
Published in
2 min readFeb 14, 2022

ผมไปงานาแต่งลูกพี่ลูกน้องที่เมืองการาจี ประเทศปากีสถานมาครับ บินไปวันที่ 25 ธันวาคม 2564 และกลับมา 13 มกราคม 2565 หลายคนได้ยินก็บอกว่าไปนานจัง ผมก็เลยตอบไปว่า แค่งานแต่งอย่างเดียวก็ 7 วันเข้าไปแล้ว คนไทยหลายคนตกใจพอได้ยินว่างานแต่งมีตั้ง 7 วัน วันนี้ผมจะมาเล่าภาพคร่าว ๆ ว่าในงานแต่งที่การาจีเค้าจัดกันยังไงบ้าง แล้วบทความต่อ ๆ ไปค่อยลงรายละเอียดในงานบางวันอีกที แต่ก่อนจะเข้าเรื่อง ขอปูพื้นของวัฒนธรรมที่ปากีสถานสักนิดก่อน

ปากีสถานเป็นประเทศที่มีศาสนาอิสลามเป็นศาสนาหลัก

ข้อมูลจากวิกิพีเดียบอกว่าปากีสถานมีคนนับถือศาสนาอิสลามอยู่ 96.47% จริง ๆ ประเทศอะไรก็ตามที่ธงชาติใส่รูปจันทรเสี้ยวเข้าไป ประเทศเหล่านั้นจะมีอิสลามเป็นศาสนาหลัก ซึ่งปากีสถานก็เป็นหนึ่งในนั้น

จากที่ผมเห็นกิจกรรมต่าง ๆ จะถูกจัดให้ไม่ชนกับเวลาละหมาด 5 เวลา ซึ่งเวลาละหมาด 5 เวลาจะมี

  • ซุบฮิ์ — ตอนพระอาทิตย์ขึ้น (ประมาณตีห้าที่การาจี)
  • ดุฮริ์ — ตอนเที่ยง
  • อัศริ์ — ประมาณบ่าย 3 ที่การาจี
  • มัฆริบ — ตอนเย็น (ประมาณห้าโมงเย็นที่การาจี)
  • อิซาอ์ — ตอนกลางคืน (หลังมัฆริบจนถึงเช้าวันรุ่งขึ้น)

จากเวลาละหมาดนี้ ผมเห็นที่ทำงานของคุณอาพักเที่ยงตั้งแต่เที่ยงถึงบ่าย 2 เพราะให้พนักงานไปละหมาดดุฮริ์กันก่อน เสร็จแล้วค่อยทานอาหารเที่ยงกว่าจะเสร็จก็ประมาณบ่ายสองค่อยทำงานต่อ แล้วตอนบ่ายสามก็มีเบรคบ่ายให้ละหมาดอีก สำหรับพนักงานที่ตำแหน่งสูงหน่อยจะต่อด้วย tea break (น่าจะรับวัฒนธรรมมาจากอังกฤษ) แล้วก็เลิกงานก่อนเวลามัฆริบตอนห้าโมงเย็น

จริง ๆ เวลาละหมาดจะอิงตามแสงอาทิตย์ เช่น ตะวันกลางหัวจนเงาทอดยาวเท่ากับขนาดตัวเป็นต้น ซึ่งเวลาจะเปลี่ยนแปลงไปแล้วแต่ประเทศ แต่เวลาด้านบนที่ผมอ้างอิงเป็นเวลาที่การาจีเมืองที่ผมไปร่วมงาน

ตอนอยู่ประเทศนี้ผมละหมาดครบ 5 เวลาอย่างง่ายดาย เพราะไม่ว่าจะอยู่ตรงไหนของเมือง พอถึงเวลาละหมาดก็จะได้ยินเสียงอาซานเรียกให้ไปละหมาด เทียบกับตอนอยู่ไทยจะได้ยินก็ต่อเมื่ออยู่ใกล้กับมัสยิดเท่านั้น

กลับมาที่งานแต่ง สรุปแล้วงานแต่งทั้งหมดเลยเริ่มประมาณสองสามทุ่มเป็นต้นไป เพื่อให้คนสามารถละหมาดจนเสร็จ แล้วค่อยแต่งตัวมางานได้ทัน แล้วงานก็จะจัดยาวไปจนถึงตีหนึ่งถึงตีสาม แล้วแต่วัน

wedding invitation card photo by Chokchai Phatharamalai

งานจริง ๆ จะมีแค่ 4 วัน (ตามการ์ดเชิญ 4 สีด้านบน) แต่จะมีวันที่ไม่ official ด้วยอีก 2 วัน ซึ่งเรียงตาม timeline จะเป็นตามข้างล่าง วันที่ <official> ตามการ์ดผมจะมาร์คไว้นะครับ

  1. Bridal shower อาบน้ำเจ้าสาว, เสาร์ที่ 1 ม.ค.
  2. <official> Mehndi day วันใส่ mehndi ให้ฝั่งเจ้าสาว, พฤหัสที่ 6 ม.ค.
  3. Qawali night เจ้าสาวไปเยือนบ้านเจ้าบ่าว, ศุกร์ที่ 7 ม.ค.
  4. <official> Dolgi วันเต้นรำ, เสาร์ที่ 8 ม.ค.
  5. <official> Nikah วันประกอบพิธีทางศาสนา, อาทิตย์ที่ 9 ม.ค.
  6. <official> Valima งานเลี้ยงส่งท้าย, อังคารที่ 11 ม.ค.

Bridal shower

เป็นงานที่น้องสาวทั้งสองของเจ้าสาวช่วยกันจัดขึ้นมาเองก่อนงานแต่งจะเริ่มขึ้นเพื่อเป็นของขวัญให้เจ้าสาว โดยงานนี้เชิญแค่ญาติฝั่งเจ้าสาวมาทานอาหารกับถ่ายรูปเล่นกัน แล้วก็มีเกมนิดหน่อยให้ญาติ ๆ ตอบคำถามเพื่อดูว่าใครรู้จักเจ้าสาวดีที่สุด ใครชนะก็ตบมือกันไป แต่แน่นอน พอมันมีการรำลึกความหลังก็มีน้ำตาเป็นธรรมดา เป็นหนึ่งคืนซึ้ง ๆ ที่สนุกดี

ภาพที่ลงอาจจะมีแต่รูปของนะครับ เพราะ ผู้หญิงที่ปากีสถานบางคนถือเรื่องการลงรูปใบหน้าของเธอในที่สาธารณะ เพราะผู้หญิงมุสลิมปรกติจะสวมฮิญาบคลุมใบหน้าและผมไว้ จะมีแต่สามีและคนในครอบครัวเท่านั้นที่สามารถเห็นใบหน้าเธอได้ ผมไม่แน่ใจว่าใครถือบ้าง เลยเลือกลงแต่รูปข้าวของ ยกเว้นรูปที่ได้รับอนุญาตจากเจ้าตัวมาแล้วเท่านั้นครับ

เดี๋ยวสัปดาห์หน้ามาดูงานแต่งวันแรก Mehndi day กันนะครับ

อ้างอิง

--

--