งานแบบไหนเหมาะกับสกรัม?

Chokchai Phatharamalai
odds.team
Published in
1 min readJun 22, 2020
Photo by David Klein from https://unsplash.com/photos/-94oJK3PDQw/share

เป็นคำถามที่ผมได้ยินบ่อย ตั้งแต่ตอนเรียนสกรัมกับบาสเมื่อประมาณ 9 ปีที่แล้ว จนวันนี้มาสอนสกรัมเองแล้ว ก็ยังได้ยินคำถามนี้บ่อย ๆ

อะไรที่วนทำเป็นรอบ ๆ ได้เหมาะกับสกรัม อะไรที่วนทำไม่ได้ ไม่เหมาะกับสกรัม เช่น คลอดลูกไม่เหมาะจะทำสกรัม – Bas Vodde

เป็นคำตอบที่ผมจำมาตอบจนทุกวันนี้ :D

นักเขียนไม่ใช่ product owner

พอตั้งใจจะ publish บทความสัปดาห์ละบท ก็เจอกับสถานการณ์ที่รู้สึกว่าบทความยังไม่พร้อมแต่ deadline มาถึงแล้วเลยจำต้องปล่อยออกไป

บ่อยครั้งแอบถามตัวเองว่า ทำไม product owner ต้อง release บ่อย ๆ นะ? แล้วก็ตอบเองว่าเพื่อการเรียนรู้ เพราะเราอยากเอา feedback จริง ๆ จากตลาดมาพัฒนา product ของเราต่อไป

แต่แล้วก็เถียงในใจว่า เขียนบทความมันไม่เหมือนการทำ product เพราะบทความที่เราปล่อยไปแล้วเราไม่ได้วนกลับเอามาทำใหม่ แล้วเราจะนับบทความเป็น increment ได้ไง?

มือสมัครเล่นกับมืออาชีพ

ขอขยายความก่อนว่านักเขียนในบริบทนี้ผมไม่ได้หมายถึงนักเขียนมือสมัครเล่น

ตัวผมเองเป็นนักวาดภาพมือสมัครเล่นนั่นคือถ้ามีอารมณ์ก็วาดไม่มีก็ไม่วาด วาดเสร็จก็เก็บไว้ไม่ได้เอาไปขายใคร แต่สำหรับงานเขียนตั้งแต่ผมตั้งใจจะ publish สัปดาห์ละบทความต่อให้ไม่ได้รายได้จากกิจกรรมนี้ ผมก็ฝึกฝนมันราวกับว่างานเขียนเป็นอาชีพเพราะในชีวิตจริงของนักเขียนมืออาชีพ ต่อให้ไม่มีอารมณ์จะเขียน ถึงเวลาสำนักพิมพ์ก็ส่งคนมาเก็บต้นฉบับอยู่ดี

สำหรับผมความแตกต่างของมืออาชีพกับมือสมัครเล่นคือมืออาชีพจะต้องสร้างผลงานให้ได้โดยไม่ติดกับเงื่อนไขใด ๆ ซึ่งคำว่านักเขียนที่ผมใช้ในบทความนี้ผมหมายถึงนักเขียนมืออาชีพ

นักเขียนก็เหมือนกับ product owner

การบังคับตัวเองให้โพสต์บทความทุกสัปดาห์นอกจากจะจำลองสถานการณ์เหมือนกับมีคนมาเก็บต้นฉบับแล้ว ก็ยังเป็นการฝึกฝนตัวเองให้เข้าใจอารมณ์ของ product owner ตอนที่ต้องปล่อยของเพราะถึงวันกำหนดส่งแล้วทั้งทั้งที่ผลิตภัณฑ์ยังไม่พร้อม

มันเป็นความรู้สึกที่อึดอัดมากเพราะกังวลว่าของที่เราตั้งใจทำมามันจะไม่ประทับใจเพราะรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ที่เราไม่ได้เก็บ ถ้าเป็นแบบนั้นคงจะน่าเสียดายเกินไป

เพราะทำมานานนานก็เริ่มสังเกตุเห็นว่า จังหวะแบบนี้แหละที่เรียกว่า หลงรักไอเดียของ product ตัวเอง

มีหลายบทความที่ผมใช้เวลาเขียนนานมากค่อย ๆ ประดิษฐ์ประดอย แล้วก็จินตนาการว่าบทความนี้ต้องปังแน่ ๆ แล้วผมก็ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในความฝันนั้น จนกระทั่งถึงวันที่ต้องปล่อยบทความออกไปแล้วไม่ค่อยมีใครสนใจมันอย่างที่ผมมโน

ในเวลาแบบนั้นผมก็พยายามหาคำตอบ เป็นเพราะโพสต์ผิดจังหวะหรือเปล่า? เดี๋ยว หรือว่า link มีปัญหาทำให้กดเข้ามาอ่านบทความผมไม่ได้? หรือว่ารูปที่ใช้ดึงดูดใจไม่ดี? หรือว่าชื่อบทความมันไม่สื่อ?

หลังจากดิ้นรนทุกวิถีทางก็จะมาถึงจุดที่ผมต้องยอมรับว่า จริงๆแล้วบทความนี้คือบทความที่ผมชอบแต่คนอ่านเค้าไม่ได้ชอบ

ในทางกลับกันก็มีหลายบทความที่ผมเขียนที่มาเร็ว ๆ เพราะวันส่งต้นฉบับมันใกล้เข้ามาแล้ว

ปรากฏว่ามันดันปังซะงั้น มีคนอ่านมีคนแชร์มากมายจนผมอดงงไม่ได้ว่าเขาชอบอะไรกัน?

ถึงวันนี้ผมก็ยังไม่เข้าใจว่าผู้อ่านเค้าชอบอะไรในนั้นกัน แต่ผมยอมรับแล้วว่ามันเป็นไปไม่ได้หรอกที่ผมจะเดาถูกทุกครั้ง ว่าบทความนี้จะปังหรือดับ ผมทำได้แค่ปล่อยบทความไปเยอะ ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสที่จะมีบทความปัง ๆ ออกมา

พอยอมรับแล้วว่าตัวเองอยากได้บทความเยอะ ๆ ก็ต้องยอมอยู่กับความอึดอัดที่เจอวันส่งต้นฉบับบีบ ต้องทนอึดอัดกับความเสี่ยงที่จะเสียชื่อเพราะส่งของที่คุณภาพไม่ถึงเท่าที่เราอยากได้ออกไป เพราะดีที่สุดในเวลาที่จำกัดแค่นี้เราทำได้แค่นี้

พอเลิกตีโพยตีพายถึงได้เข้าใจว่าจริงๆแล้วนักเขียนกับ product owner ก็เหมือนกันตรงที่เราไม่มีทางรู้หรอกว่าของที่เราทำจะได้รับเสียงตอบรับจากตลาดยังไงจนกว่าเราจะปล่อยออกไป

แล้วจริงๆแล้วบทความก็คือ increment ใน ODDS publication ของเรา ไม่ว่ามันจะดีหรือแย่มันก็เติมอีกหนึ่งบทความเข้าไปในพื้นที่นี้และเสียงตอบรับจากผู้อ่านก็จะกลายเป็นการเรียนรู้ให้ผมพัฒนาทักษะการเขียนต่อไป

--

--