จักรวาล 3 ส่วน

Chokchai Phatharamalai
odds.team
Published in
2 min readJul 10, 2023
Photo by Greg Rakozy on Unsplash

Virginia Satir สอนว่า ณ ชั่วขณะหนึ่ง จักรวาลนี้แบ่งออกเป็นสามส่วน นั่นคือ ฉัน เธอ และ บริบท

Illustration by Chokchai Phatharamalai

ต่อให้ผมยืนพูดหน้าเวทีต่อหน้าคนเป็นร้อย ณ ชั่วขณะหนึ่งผมก็สบตาได้ทีละคน

ผมพบว่าการที่ผมใช้ชีวิตโดยให้ความสำคัญกับทั้งสามอย่างสมดุลย์ช่วยให้ผมผ่านสถานการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตที่ยากจะคาดเดาได้ง่ายขึ้น เปรียบกับคนที่มีร่างกายที่สมดุลย์ เวลาเจอพื้นที่เคลื่อนไหว ก็จะประคับประคองตัวเองได้ดีกว่าคนที่ยืนไม่ค่อยสมดุลย์ เช่น ยืนเอียง ๆ หรือยืนขาเดียวเป็นต้น

เสียสละ (ละเลยฉัน)

จักรวาลที่ไม่มีฉัน, Illustration by Chokchai Phatharamalai

คนที่ใช้ชีวิตโดยให้ความสำคัญแต่เธอและบริบทเป็นประจำแล้วละเลยความต้องการของตัวเอง เราเรียกท่วงท่าการใช้ชีวิตนี้ว่า เสียสละ (placate) จริง ๆ placate แปลตรงตัวแปลว่าปลอบประโลม แต่ผมเลือกใช้คำว่าเสียสละเพราะมันสะท้อนการเพิกเฉยต่อความต้องการของตัวเองได้ดีกว่า

รูปแบบของอารมณ์ของคนในท่วงท่านี้จะเป็นเศร้าเป็นหลัก สลับโกรธเป็นพัก ๆ เมื่อเสี้ยวส่วนที่ต้องการดูแลตัวเองทำงาน แล้วพอเย็นลงก็กลับมาตำหนิตัวเองแล้วก็ยิ่งเศร้าอีก

คนในรูปแบบนี้จะรู้สึกว่าการปฏิเสธเป็นสิ่งที่ยากมาก เพราะแคร์ความรู้สึกคนอื่นมาก พอจะปฏิเสธที ถึงกับรู้สึกผิดทีเดียว

วิธีแก้ไขระยะสั้นสำหรับคนในท่วงท่าเสียสละคือการดูแลความรู้สึกความต้องการของตัวเองบ้าง เจียดเวลาบางส่วนมาดูแลกายใจ จะได้มีพลังไปดูแลคนอื่นต่อ

กล่าวโทษ (ละเลยเธอ)

จักรวาลที่ไม่มีเธอ, Illustration by Chokchai Phatharamalai

คนที่ใช้ชีวิตโดยไม่ให้ความสำคัญกับความต้องการของคนอื่น จะมีอิสระในการใช้ชีวิตสูงมาก แต่นาน ๆ ไปก็จะเหงามากเช่นกัน ดังสุภาษิตชาวแอฟริกันที่ว่า

อยากเดินเร็วให้เดินคนเดียว อยากเดินไกลให้เดินเป็นหมู่คณะ

รูปแบบอารมณ์ของท่วงท่าการใช้ชีวิตแบบกล่าวโทษ (blame) คือ โกรธ เป็นหลัก อะไร ๆ ก็ขัดใจไปหมด

วิธีแก้ไขระยะสั้นสำหรับคนที่ใช้ชีวิตในท่วงท่านี้คือ เมื่อไหร่ที่โกรธ หายใจลึก ๆ แล้วลองค่อย ๆ แกะกล่องความโกรธออกมาดู ข้างในความโกรธ จะมีความรู้สึกลึก ๆ ซ่อนอยู่เสมอ เหนื่อย ผิดหวัง เหงา กลัว เมื่อเราเข้าใจความรู้สึกที่ลึกขึ้น เราก็จะเข้าใจความต้องการของเราเองในระดับที่ลึกขึ้น ซึ่งเพิ่มความยืดหยุ่นในการใช้ชีวิตเรามากขึ้นได้

ใช้แต่เหตุผล (ละเลยฉันและเธอ)

จักรวาลที่ไม่มีฉันไม่มีเธอ, Illustration by Chokchai Phatharamalai

การใช้ชีวิตโดยละเลยทั้งความต้องการของฉันและเธอ ท่วงท่าการใช้ชีวิตแบบนี้เรียกว่า super reasonable

ท่วงท่านี้จะใช้เหตุผลเลือกการกระทำที่เข้ากับบริบทที่สุด คนในท่วงท่านี้จะใช้เหตุผลเป็นหลัก ทำทุกอย่างตามหลักการ ทำสิ่งที่ถูกต้องตามกฏ

รูปแบบของอารมณ์จะเป็น เฉยชา เวลาที่มีคนถามว่ารู้สึกอย่างไร บ่อยครั้งจะตอบว่า ก็ไม่รู้สึกอะไร และบางครั้งก็จะรู้สึก งง สับสน เวลาที่ร่างกายตัวเองทำอะไรที่ไม่สมเหตุผล

ปัญหาของการใช้ชีวิตด้วยรูปแบบนี้คือ จะพลาดโอกาสการใช้ภูมิปัญญาจากร่างกายที่อาจจะสัมผัสถึงอารมณ์ต่าง ๆ ทั้งจากบรรยากาศและความทรงจำที่มี แล้วพยายามสื่อสารไปให้สมองส่วนประมวลผลรับรู้ เพราะความไม่ชำนาญในการสื่อสารระหว่างสมองส่วนอารมณ์และประมวลผล ทำให้ปัญญาญาณที่มากับอารมณ์ที่เข้มข้นต่าง ๆ ส่งไปไม่ถึง เกิดช่องว่างเป็นความมึนงงขึ้นมา

อีกปัญหาสำหรับคนที่ใช้ชีวิตในท่วงท่านี้คือการเข้าถึงอารมณ์ของผู้อื่น พออ่านอารมณ์ไม่ออก บางทีก็วางอากัปกิริยาไม่ถูกกาลเทศะได้ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีเจตนาจะล่วงเกินใครเลย แต่ก็เผลอล้ำหน้าไปเพราะมองไม่เห็นว่าคนอื่นรู้สึกท่วมท้นจนไม่สามารถทำตามที่บริบทต้องการได้ ลองย้อนกลับไปดูคนมี่ใช้ชีวิตในท่วงท่า เสียสละ หรือ กล่าวโทษ จะเห็นว่าอารมณ์พวกเค้าเข้มข้นขนาดไหน

วิธีแก้ปัญหาระยะสั้นของรูปแบบนี้คือ เวลาที่อยู่ในสูญญากาศของอารมณ์ ลองหายใจลึก ๆ เพื่อเพิ่มออกซิเจนให้สมองทุกส่วน แล้วสังเกตุสัญญานต่าง ๆ ในร่างกายดู มีตรงไหนเกร็งบ้าง มีตรงไหนที่ร้อนวูบวาบบ้าง มีตรงไหนสั่นหรือรู้สึกซ่า ๆ บ้าง สัญญานเหล่านี้เป็นตัวบอกว่าร่างกายกำลังส่งพลังงานไปยังส่วนใดของร่างกาย ความรู้สึกทางกายจะเป็นตัวช่วยให้เราเดาว่าลึก ๆ เรากำลังรู้สึกทางใจอย่างไรอีกที

อีกเครื่องมือที่ช่วยได้คือการ์ดอารมณ์ เป็นการ์ดที่มีคำบอกอารมณ์ต่าง ๆ เช่น โดดเดี่ยว ท้อแท้ ตื่นเต้น กระวนกระวาย เป็นต้น การใช้การ์ดช่วยทายอารมณ์ตัวเอง โดย ค่อย ๆ แยกกองว่ากองไหนเป็นอารมณ์ที่ไม่ใช่แน่ ๆ และกองไหนอาจจะใช่ จะช่วยให้ค่อย ๆ เข้าใจอารมณ์ตัวเองได้มากขึ้น

เฉไฉ (ละเลยทุกสิ่ง)

จักรวาลที่ไม่มีเหลืออะไรเลย, Illustration by Chokchai Phatharamalai

คนที่ใช้ชีวิตในท่วงท่าเฉไฉ มักจะไม่สนทั้งความรู้สึกของตัวเอง ของผู้อื่น และไม่สนบริบทด้วย เรียกว่าไม่สนอะไรเลย เหตุผลเพราะความทุกข์ทรมานที่เค้าแบกรับอยู่นั้นมันท่วมท้นมากจนเค้าไม่มีพื้นที่เหลือจะแคร์อะไรได้อีก

เรามักจะเห็นคนในท่วงท่านี้เล่นมุขตลกเพื่อเปลี่ยนเรื่องเวลาบรรยากาศเครียด ๆ หรือ distract ตัวเองตลอดเวลา ไม่ว่าจะด้วยการออกกำลังกายหนัก ๆ กินของหวาน ติดเกมส์หรือเสพยาเสพติดก็ตาม

จริง ๆ พฤติกรรมผ่อนคลายเหล่านี้ไม่ใช่ปัญหา มันจะเป็นปัญหาต่อเมื่อมันมากเกินไป คนที่เฉไฉใช้พฤติกรรมเหล่านี้เพื่อหลบหนีจากประสบการณ์ในชีวิตจริงไปอยู่ในความฝันของตัวเอง ซึ่งส่งผลเสียตามมา เช่น เสียสุขภาพ หรือ ถูกผู้คนรอบข้าง (บริบท) ดูแคลนว่าไม่เอาไหน หรือพึ่งพาไม่ได้ เพราะเราละเลยความต้องการของคนอื่นหรือบริบทนานเกินไป

ซึ่งความกดดันทางสังคมรอบข้าง จะด้อยคุณค่าในตัวเองของคนที่อยู่ในท่วงท่าเฉไฉ (irrelevant) ซึ่งกดดันความรู้สึกของเขา ทำให้ความทุกข์ยิ่งท่วมท้นไปอีก ก็เลยยิ่งเฉไฉหนักเข้าไปอีก

วิธีแก้ปัญหาระยะสั้นของคนเฉไฉคือ เอื้อมมือออกไปขอความช่วยเหลือจากคนอื่น อย่าจมอยู่กับความทุกข์คนเดียว การมีเพื่อนที่รับฟังเก่ง ๆ ให้เราได้ระบายจะช่วยได้มาก เพราะ หนังสือ the 7 habits of highly effective family บอกว่า การรับฟังเหมือนอากาศหายใจทางจิตวิทยาเลย ขาดอากาศหายใจ ใครก็อยู่ไม่ได้ มันอึดอัดเกินไป

การแก้ปัญหาระยะยาว

ผมได้แบ่งปันวิธีการแก้ปัญหาระยะสั้นของท่วงท่าการใช้ชีวิตที่ไม่สมดุลย์ต่าง ๆ ไว้ แน่นอนว่าการแก้ปัญหาระยะยาวก็คือการรักษาสมดุลย์โดยให้ความสำคัญกับทั้งสามส่วนในจักรวาลพอ ๆ กัน Satir เรียกท่วงท่าการใช้ชีวิตแบบนี้ว่า congruent ซึ่งแปลตรงตัวว่าสอดคล้อง

ที่เค้าเรียกท่วงท่านี้ว่าสอดคล้อง เพราะ ความสมดุลย์จะเปิดโอกาสให้เราใช้ชีวิตอย่างโปร่งใส ทั้งร่างกายและจิตวิญญาณเราจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน พอเราโปร่งใส มันก็ง่ายที่คนรอบข้างจะเชื่อใจ เพราะเวลาร่างกายกับจิตใจเราไม่สอดประสานกัน ถึงคนทั่วไปจะมองไม่เห็นจิตใจเราเพราะมันเป็นพลังงานที่ไม่มีรูป แต่เค้าสัมผัสถึงอารมณ์ได้ เพราะอารมณ์ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า EMotion คือ Energy in Motion ซึ่งแปลว่าการเคลื่อนของพลังงาน เปรียบเหมือนอากาศที่มองไม่เห็น แต่พอเคลื่อนที่ คนเราก็รู้สึกถึงลมพัดได้

การใช้ชีวิตด้วยความเชื่อใจจากคนที่เรารักจะเติมพลังให้เรารังสรรค์คุณค่าให้สังคมซึ่งการตอบความต้องการของบริบทก็จะง่ายขึ้น ทำให้เรารักษาสมดุลย์ระยะยาวได้ง่ายขึ้นต่อไป

พอเล่าถึงตรงนี้ก็นึกออกว่าครั้งหนึ่ง ผมเคยสับสนว่าคำว่า congruent หมายถึงท่วงท่าการใช้ชีวิตโดยการให้ความสำคัญกับ 3 สิ่งในจักรวาลพอ ๆ กัน หรือหมายถึงสภาวะชั่วขณะที่โลกภายในจิตใจและการกระทำภายนอกของผมมันสอดคล้องกันกันแน่ และคำตอบที่ผมได้จากอาจารย์คือ ทั้งสองคำตอบนั้นมันเหมือนกัน ซึ่งวันนั้นผมงงมาก

วันนี้ที่เห็นตัวเองพออธิบายความสัมพันธ์ของทั้งสองคำตอบด้านบนได้บ้างแล้ว เป็นเรื่องน่ายินดี เติมกำลังใจให้ผมฝึกฝนต่อไป

--

--