จากไปให้คนคิดถึง

Chokchai Phatharamalai
odds.team
Published in
1 min readMay 8, 2023
Photo by Ryu Orn on Unsplash

วันก่อนผมนึกถึงเหตุการณ์ที่เคยมีเพื่อนมาปรึกษาว่าจะออกจากงาน ทำอย่างไรดี ผมเลยแบ่งปันแนวทางของผมเองไป ผมเชื่อว่าแนวทางนี้ทำให้ทุกที่ที่ผมเคยทำงานมา บอกผมเหมือน ๆ กันตอนผมออกว่า “ให้คิดว่าที่นี่เป็นบ้าน อยากกลับมาเมื่อไหร่ก็กลับมา ประตูที่นี่จะเปิดต้อนรับผมเสมอ”

บอกตั้งแต่เนิ่น ๆ

ผมบอกหัวหน้าและคนในทีมตั้งแต่ผมเริ่มมีความคิดที่จะลาออก ส่วนใหญ่สังเกตจากเช้าไม่อยากลุกไปทำงาน ซึ่งเปิดโอกาสให้ผมได้แบ่งปันปัญหาที่ผมเห็น และหาทางออกร่วมกัน บางครั้งปัญหามันสามารถแก้ได้โดยไม่ต้องลาออกก็มี

ผมแบ่งปันสถานการณ์เพิ่มเติมว่าผมเริ่มหางานใหม่แล้วนะ ส่งใบสมัครไปที่ไหนบ้าง และผลลัพธ์เป็นอย่างไร บ่อยครั้งการทำแบบนี้ทำให้ผมได้รับคำแนะนำ (โดยไม่ทันตั้งตัวบ้าง) ว่าเค้าเห็นต่างในการตัดสินใจของผมอย่างไร แต่ผมไม่มีปัญหา เพราะผมชัดเจนว่าสุดท้ายอำนาจการตัดสินใจว่าจะเอายังไงกับชีวิตต่อไปก็ยังอยู่ในมือผมอยู่ดี

ให้ความสำคัญกับที่เก่าก่อนที่ใหม่

ผมเห็นหลายคนเห็นโอกาสเข้ามา ถ้าไม่คว้าไว้ก็เสียดาย แต่ผมเองก็ยังให้ความสำคัญกับความต้องการของที่เก่าก่อนที่ใหม่อยู่ดี แม้การทำแบบนี้อาจจะทำให้ผมเสียโอกาส แต่ผมก็ยังยึดมั่นกับการเดินจากไปโดยไม่ทิ้งภาระไว้ให้ที่เก่า ซึ่งมาเข้าใจภายหลังว่าการทำแบบนี้ช่วยเพิ่มความมั่นคงในวิชาชีพของผมระยะยาว เพราะในโปรไฟล์ผมมันจะเต็มไปด้วยตัวอย่างว่าผมดูแลที่ ๆ ผมเคยทำงานมาอย่างไร

ตัวอย่างล่าสุดก่อนผมจะย้ายมาทำงานที่ออด-อี การถูกชวนโดยพี่รูฟที่เป็นไอดอลของผม ให้ไปทำงานที่บริษัทระดับโลกอย่างออด-อี เป็นเหมือนฝันที่เป็นจริงเลย ขนาดวันนี้อยู่มาจะสิบปีแล้ว ความรู้สึกเหมือนฝันก็ยังอยู่อยู่เลย หลังจากที่ผมแบ่งปันให้ที่เก่าทราบว่ามีโอกาสนี้เข้ามา (ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดหลังจากแบ่งปันปัญหาที่เห็นและพยายามหาทางออกร่วมกันมาแล้ว และเราก็ตกลงกันแล้วว่าผมจะเริ่มเปิดโอกาสให้ตัวเองมองหางานที่ใหม่) หัวหน้าบอกว่ากำลังหาคนใหม่เข้ามาแทนผมเพื่อรับงานต่อ แต่ยังหาไม่ได้ขอเวลาอีก 3 เดือนได้ไหม ซึ่งผมก็ตกลงไป แล้วก็บอกกับพี่รูฟว่าสถานการณ์ฝั่งนี้เป็นอย่างไร พร้อมบอกผลการตัดสินใจว่าผมจะอยู่ช่วยทางนี้ก่อน ถ้าพี่รูฟต้องการคนเร่งด่วน สามารถรับคนอื่นก่อนได้เลย ไม่ต้องรอผม

เวลาผ่านไปสามเดือน ผมเจอเพื่อนใหม่ที่จะมารับงานต่อจากผมแล้ว แต่เค้าเพิ่งเข้ามารับช่วงต่อได้แค่สองสัปดาห์เอง ซึ่งทั้งผม เค้าและทีมก็รับรู้ว่าผมจะออกแล้ว และยังไงมันก็ transfer knowledge ไม่ทัน หัวหน้าปรึกษาผมและขอเวลาผมอีก 3 เดือนได้ไหม และเพราะผมให้ความสำคัญกับที่เก่าก่อนที่ใหม่ ผมเลยบากหน้ามาเล่าสถานการณ์ให้พี่รูฟฟังอีกครั้ง แล้วบอกไปว่าผมตัดสินใจช่วยตรงนี้อีก 3 เดือน ถ้าพี่รูฟรีบต้องการคน สามารถรับคนอื่นก่อนได้เลย ไม่ต้องรอผม

แล้ววันที่ผมได้เข้าออด-อีก็มาถึง ผมยอมรับว่าผมแปลกใจมากที่พี่รูฟรอผมตั้ง 6 เดือน ผมมารู้ภายหลังว่า ออด-อีมีสิ่งที่เรียกว่า Odd-e never does คือสิ่งที่ชาวออด-อีตกลงกันว่าจะไม่มีวันทำ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการรับคนมาทำงาน เพียงเพราะมีงานล้นมือ เค้าจะรับคนใหม่ก็ต่อเมื่อเจอคนที่อยากทำงานด้วย ก็จะไปชวนมา โดยไม่เกี่ยงว่ามีงานให้ทำไหม ถ้างานเยอะเกิน ทำไม่ไหว เราก็แค่ไม่รับงานเพิ่ม

ผมแอบเชื่อลึก ๆ ว่าการยึดมั่นให้ความสำคัญกับที่เก่าก่อนที่ใหม่ เป็นสิ่งหนึ่งที่สนับสนุนให้ผมมีวันนี้ที่ได้เจอที่ทำงานที่รับคนเพราะอยากทำงานกับผม ไม่ใช่เพราะมีงานเหลือให้ผมทำ

แตกต่างกับการทนอยู่

ถึงผมจะให้ความสำคัญกับที่เก่าก่อนที่ใหม่ แต่สิ่งสำคัญคือ ผมไม่เคยรับคำขอเช่น อยู่ต่อไปเรื่อย ๆ ได้ไหม ผมไม่เคยทำ เพราะผมเองในฐานะมืออาชีพ ก็มาความรับผิดชอบกับประสิทธิภาพการทำงานของตัวเองเหมือนกัน เมื่อมีเรื่องกวนใจที่ผมเอาออกจากโต๊ะทำงานไม่ได้ การหาทางออกเป็นความรับผิดชอบของผม ทุกครั้งที่ผมคุยกับที่เก่า เค้าขออะไรมา ถ้าผมให้กับหัวหน้าเก่าหรือทีมเก่าไม่ได้ ผมก็จะบอกไปตรง ๆ เพราะผมเชื่อว่าการทนอยู่ หรือ เอาตัวทิ้งไว้ตรงนั้นแต่เอาใจไปอยู่ที่อื่น ไม่ได้ช่วยทั้งที่เก่า ที่ใหม่ และตัวผมเองเลย

สรุป

ทุกวันนี้ที่กลายเป็น external coach แล้ว ผมก็ใช้หลักการนี้กับทุก ๆ engagement กับลูกค้าเช่นกัน เมื่อไหร่ที่เป้าหมายของผมกับลูกค้าไม่สอดคล้องกันแล้ว ผมก็จะบอกตั้งแต่เนิ่น ๆ หาทางออกร่วมกัน และถ้ายังไม่ได้ ก็จะเริ่มสื่อสารเพื่อตกลงกันว่าผมจะออกมาอย่างไรให้ลูกค้า, เพื่อนร่วมงานและผมโอเคที่สุด

ผมเชื่อว่าแนวทางส่วนตัวที่ผมยึดมั่นนี้ ทำให้ผมมีชีวิตที่เหมือนฝันได้อย่างทุกวันนี้ เลยอตั้งใจเอามาแบ่งปันกัน หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านไม่มากก็น้อยนะครับ ขอบคุณที่สละเวลาอ่านครับ

บทความที่เกี่ยวข้อง

--

--