Chokchai Phatharamalai
odds.team
Published in
2 min readMar 29, 2018

--

ช่วงที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้ co-train กับ trainer หลายคนในหลายๆคอร์ส เช่น บาส, เจน, พี่รูฟ, เก๋, พี่อู, นิ้ง เป็นต้น และหลังแต่ละครั้งที่ train ก็มีโอกาสได้นั่งคุยกับผู้ร่วมสอน ว่าตอนที่ผมไม่ได้จับไมค์ มีอะไรที่ผมทำได้บ้าง เพื่อให้ประสบการณ์การเรียนรู้มันดียิ่งขึ้น ซึ่งพอจะสรุปเป็นสิ่งสำคัญๆ 4 อย่างดังต่อไปนี้

บอกเวลา

ตอนผมจับไมค์ การมีคนช่วยบอกเวลาตอนที่ผมกำลังพูด ช่วยให้ผมคุมเวลาได้ดีขึ้น เพราะมันช่วยให้ผมรู้ว่าตอนนี้ควรเร่งแล้ว หรือยังมีเวลาให้ยกตัวอย่างเพิ่ม

เวลาจะบอกเวลา ผมมักจะเขียน flipchart แบบข้างล่างไว้หลังห้อง

อย่างในรูป 1 กล่องแทนเวลา 30 นาที วิธีนี้สะดวกกว่าชูป้ายว่า ‘เหลือ 10 นาที’ เพราะ ตอนเราชูป้าย คนพูดอาจจะไม่มีสมาธิมาสนใจป้ายอยู่ก็ได้ กว่าจะหันมามอง เหลือแค่ 8 นาทีแล้ว แต่ป้ายยังเป็น 10 อยู่ จะทำให้คนพูดคุมเวลายากขึ้น

จด minute

เหมือน minute of meeting ที่เราจดๆกันในการประชุมแหละ ข้างล่างเป็นตัวอย่างที่ผมจดจาก class ScrumMaster Compass เร็วๆนี้

ตอนผมได้ review minute แบบนี้หลังจบ class เป็นข้อมูลที่มีประโยชน์กับผมมหาศาลเลย เพราะส่วนใหญ่หลังจบ class ผมจะพอมีไอเดียว่าผู้เรียนได้เก็บเกี่ยวอะไรกลับไปบ้าง พอได้ย้อนดูว่าเราใช้เวลากับเรื่องไหนไปเท่าไหร่ สอดคล้องกับแผนที่วางไว้แค่ไหน ผมมักจะได้เรียนรู้เยอะมาก และแทบจะได้ไอเดียที่จะเอาไปทดลองในการสอนครั้งหน้าทันทีเลย เช่น อยากลดเวลาหัวข้อนี้ อยากยกตัวอย่างนี้เพิ่มในหัวข้อนั้นเป็นต้น

Graphic facilitation

คือการ visualize สิ่งที่อีกคนที่กำลังพูดออกมาเป็นภาพ สำหรับคนที่ใหม่กับเรื่องนี้ สามารถดูตัวอย่างได้ข้างล่าง หรือจะค้นหา vdo เรื่อง “Learning graphic facilitation” ใน youtube ดูก็ได้

การเขียนไปพูดไปเป็นเรื่องยาก เพราะขณะที่เราเขียน เราไม่อยากให้ผู้เรียนนั่งรอเฉยๆ เพราะมันจะทำให้พลังงานของห้องลดลง เราเลยต้องเขียนไปด้วย และพูดหัวข้อถัดไปพร้อมๆกันด้วย ซึ่งผมเองก็ทำทักษะนี้ได้ยังไม่ดี และผมเห็น trainer เก่งๆหลายๆท่านก็ยอมรับว่าทักษะนี้ยาก

ผมจะรู้สึกขอบคุณมาก เวลามีคนมา visualize ของที่ผมกำลังพูด แต่การทำแบบนี้ ต้องทำด้วยความระมัดระวัง เพราะผมเคยได้ feedback จากผู้เรียนว่าเวลาผมวาดบน flipchart ที่อยู่ด้านซ้ายสุดของหน้าห้อง และเจนกำลังพูดอยู่ด้านขวาสุดของหน้าห้องเนี่ย มันทำให้เค้าเหนื่อยมาก เพราะต้องหันไปหันมา เพื่อจะดูทั้ง flipchart และหน้าเจนไปพร้อมๆกัน

ประมาณ 10 เดือนต่อมา ผมมีโอกาส visualize ของที่เจนกำลังพูด ที่หางตาผมก็เห็นเจนขยับจากกลางห้องมายืนพูดข้างๆ flipchart ผมนึกถึง feedback นี้ขึ้นมาทันที (เจนขยับเข้ามาเพื่อให้ทั้งหน้าตัวเองกับ flipchart อยู่ในสายตาคนเรียน) ผมอดทึ่งในใจไม่ได้ว่าผลจากการที่เรา co-train ด้วยกันบ่อยๆ และปรับปรุงจาก feedback ต่างๆมาด้วยกัน จะทำให้เราสอนได้เข้าขากันขนาดนี้

สร้าง gallery

บางครั้งการตอบคำถาม หรือเนื้อหาที่เราสอนอาจจะอ้างอิงไปถึงเรื่องที่เราสอนไปแล้ว การที่รูปที่เราวาดมันอยู่ใน flipchart ทำให้การอ้างอิงถึงมันช้า เพราะต้องมัวไปเปิดหา (บางทีจำไม่ได้ด้วยว่าวาดไว้ใน flipchart ไหน) ปรกติทุกๆเบรค ผมจะคอยฉีก flipchart ที่วาดไว้แล้วไปไล่แปะรอบๆห้อง โดยเนื้อหาที่สำคัญ หรือคาดว่าจะถูกอ้างอิงอีก จะแปะในที่เด่นๆ ส่วนเนื้อหาที่สำคัญรองมา ก็แปะตรงที่อยู่ต่ำกว่าสายตา หรือข้างๆห้อง

ตอนที่ผมไม่ได้สอนอยู่ การฉีก flipchart มาแปะก็เป็นงานที่ช่วยได้ แต่ต้องหาจังหวะที่คนเรียนทำกิจกรรม เพราะถ้าห้องเงียบๆอยู่ การฉีก flipchart ก็รบกวนการเรียนการสอนได้เหมือนกัน

นี่แหละครับ 4 อย่าง หลักๆที่ผมชอบทำ เวลาที่ผม co-train แล้วไม่ได้จับไมค์ หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับคนอ่านไม่มากก็น้อยนะครับ ขอบคุณที่สละเวลาอ่าน ถ้ามีคำแนะนำอะไรก็พูดคุยแลกเปลี่ยนกันได้นะครับ ผมเองก็อยากเป็น trainer ที่เก่งกว่านี้ครับ ขอบคุณมากครับ!

--

--