ช่วยด้วย ผมติด

Chokchai Phatharamalai
odds.team
Published in
1 min readJul 25, 2022
Photo by Aubrey Odom-Mabey on Unsplash

หลายต่อหลายครั้งที่ผมโค้ชทีม แล้วก็เห็นพวกเค้ามาระดมความคิดกันว่า ทำยังไงดีไม่ให้มีคนติดปัญหาไปทั้งวัน ส่วนใหญ่ข้อตกลงที่เค้ามักจะสร้างขึ้นมาเป็นอันแรกคือ ถ้าติด 15 นาทีแล้วยังแก้ไม่ได้ ให้ร้องขอความช่วยเหลือจากเพื่อน สิ่งที่ผมในฐานะสกรัมมาสเตอร์ทำได้ดีที่สุดในสถานการณ์นั้นคือ กล้ำกลืนความล้มเหลวของทีมนับไม่ถ้วนที่ผมเคยเห็นลงคอไป แล้วพยายามยิ้มเพื่อไม่ให้กะลาของผมไปครอบโอกาสเติบโตของทีม ครั้งนี้อาจจะเกิดปาฏิหาริย์ก็ได้ ใครจะรู้

แต่แล้วผมก็ผิดหวังอีก…

ทำไมนะ? บ่อยครั้งอีกเช่นกันที่ทีมกลับมา reflect กันว่าทำไมไม่มีคนขอความช่วยเหลือตามที่ตกลงกันไว้ ทั้ง ๆ ที่ติดเกิน 15 นาที แล้ว ผมเห็นคำตอบที่เค้าได้รับคือ “เพราะคิดว่า อีกนิดนึงจะออกแล้ว” หรือไม่ก็ “ไม่รู้ตัวว่า 15 นาทีเริ่มนับตอนไหน”

ผมกลับมา reflect ประสบการณ์ของตัวเอง ผมก็รู้ว่ามีมากมายหลายครั้งที่ผมติด จริง ๆ แล้วมันสังเกตง่ายมากเลยสำหรับคนที่ทำ TDD เพราะ cycle Test-Code-Refactor มันพิมพ์ไม่หยุด เมื่อไหร่ที่ผมหยุดพิมพ์ นั่นแหละเป็นสัญญาณว่าผมติดอยู่ คนทำ TDD จะวนเวียนอยู่ใน tight cycle ของ feedback loop ถ้าหยุด ไม่ว่าจะเป็นรอ compile, รอผล test หรือไม่แน่ใจว่าจะไปยังไงต่อก็ตาม เป็นสัญญาณว่า progress กำลังหยุดชะงัก เป็นโอกาสดีที่จะขอความช่วยเหลือ ไม่ต้องรอ 15 นาทีด้วยซ้ำ

สำหรับงานที่ไม่สามารถทำ TDD ได้เช่นเขียนบทความ มันมีจังหวะหยุดคิด แล้วจังหวะหยุดคิดกับติด มันแยกกันยากเหลือเกิน

ไม่ใช่แค่ศักดิ์ศรีที่ทำให้มันแยกยาก

เพราะผมเคยเจอคนอ่อนน้อมถ่อมตนก็เจอปัญหาติดไม่รู้ตัวเหมือนกัน เค้าไม่มีปัญหาในการยอมรับเลยว่าเค้าติดในจังหวะ daily Scrum วันรุ่งขึ้น เพราะผ่านไปวันนึงแล้วผลลัพธ์ยังไม่ออก แต่เค้ามีปัญหาเรื่องการรู้ตัวว่าติดระหว่างวัน ซึ่งเป็นปัญหาที่ผมเจอบ่อยทั้งกับตัวเองและทีมที่ผมร่วมงานด้วย

ทำไมเราถึงไม่รู้ตัวว่าเราติด

จากการอ่านหนังสือ Zen and the Art of Montorcycle Maintainance ทำให้ผมได้เรียนรู้สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจมาก การที่เราติด เพราะเราขาดความสร้างสรรค์ และที่เราขาดความสร้างสรรค์ เพราะเราไม่ได้หลอมรวมเป็นหนึ่งกับงาน

ลองนึกภาพช่างฝีมือที่สร้างผลงานบางอย่างที่เราเคยเห็น ๆ มาดู ไม่ว่าจะเป็น การวาดภาพ, เป่าแก้ว, เขียนตัวหนังสือสวย ๆ มันจะเห็นได้ชัดมาก ว่าเค้ามีสมาธิจดจ่อกับงานสูงมาก แทบจะไม่เห็นเค้าพักกินน้ำ เช็คโซเชียล หรือสลับไปทำอย่างอื่นเลย

นอกจากพฤติกรรมที่เห็นชัด ๆ อย่างการทำทีละอย่าง (monotask) แล้ว สีหน้า ท่าทาง มันชวนให้ผมเชื่อกลาย ๆ ว่าเค้าจดจ่อกับงานมาก

ในหนังสืออธิบายว่ามันเป็นสภาวะที่ผู้สร้างกับผลงานหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน เป็นสภาวะที่สติเราอยู่ที่งานตรงหน้า เรารับรู้ของที่อยู่ด้านหน้าผ่านประสาทสัมผัส แล้วเราก็ตอบสนองกับมันตามประสบการณ์ ราวกับผู้สร้างกับผลงานกำลัง “คุยกัน” จากนี้ผมจะเรียกสภาวะนี้ว่า “flow”

สภาวะแบบนี้เป็นสภาวะที่แตกต่างกับการทำงาน routine ที่ทำเรื่อย ๆ ทุก ๆ วัน เพราะงาน routine มันไม่ต้องใช้สมาธิทำก็ได้ ทำ multitask ไป คุณภาพของผลงานก็ไม่ได้แตกต่างกับสภาวะ flow เท่าไรนัก

ความซับซ้อนคือการที่งาน routine มันเกิดปัญหาซับซ้อนขึ้นมา เช่น มันมีรายละเอียดเล็ก ๆ บางอย่างที่ไม่เหมือนเดิม แต่เพราะสมาธิเราไม่เพียงพอให้เราสังเกตเห็นสัญญาณเล็ก ๆ เหล่านั้น ทำให้เราไม่ทันดึงสมาธิกลับมาให้เพียงพอกับงานตรงหน้า เราเลยไม่ “เห็น” ว่าเราติด

คุณเคยโดนว่าแบบผมไหม เวลาหาของตรงหน้าไม่เจอ แล้วมีคนแซวว่า “เป็นงูฉกตายไปละ” ผมว่านั่นแหละ อธิบายปรากฏการณ์นี้ได้ดี การมองกับการเห็น เป็นของที่แยกออกจากกัน ถึงตาเราจะมอง แต่สมองเราเลือกจะเห็นแต่ของที่เราคาดว่าจะเห็น เพื่อให้ข้อมูลการมองเห็นมันไม่โหลดสมองเราหนักเกินไป

ผมเชื่อว่าการเห็นทุกสิ่งที่อยู่ตรงหน้า, อยู่กับปัจจุบันขณะ, มีสมาธิกับสิ่งที่ทำ และหลอมรวมเป็นหนึ่งกับผลงานเป็นเรื่องเดียวกัน มันคือสภาวะ flow

ขอปิดท้ายบทความนี้ด้วยคำถามที่ Mihaly (คนคิด flow) เคยถามไว้ละกัน

โลกนี้จะเป็นยังไงนะ ถ้า flow ไม่ใช่ความบังเอิญที่เกิดขึ้นชั่วครั้งชั่วคราว แต่กลายเป็นส่วนหนึ่งของจรรยาบรรณในการทำงานทุกอาชีพ — Mihaly Csikszentmihalyi

--

--