ติดเกม

Chokchai Phatharamalai
odds.team
Published in
2 min readApr 29, 2020
Photo from https://www.piqsels.com/en/public-domain-photo-ssbsa

ผมชอบเล่นเกมมาก สมัยเด็ก ๆ ช่วงม.ปลาย หลายคนเรียกผมว่าเป็นเด็กติดเกม ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ Final Fantasy 7 เพิ่งจะออก พอกลับมาจากโรงเรียนก็เล่นจนถึงตี 2 เช้ามาก็ไปโรงเรียน พ่อแม่พยายามตักเตือน แต่ผมก็ไม่ฟัง และด้วยผลการเรียนที่มันยังพอโอเค พ่อแม่ก็ไม่ได้ห้ามเล่นเด็ดขาด แต่ก็เป็นห่วงสุขภาพผมมาก

ผมจำได้ว่าแม่พาไปพบแพทย์ หมอเตือนว่าเล่นขนาดนี้จะตาเสีย เป็นหมัน หมอทักว่าผิวเหลือง ตาเหลืองแล้ว แต่ผมก็ไม่ได้สนใจ เพราะคิดแค่ว่า ผมเกิดมาเพื่อเล่นเกม ถ้าจะตายเพราะเล่นเกมก็ไม่ได้เสียหายอะไร

แล้ววันนึง หลังจากเล่นเสร็จ เหนื่อยมาก ก็ไปอาบน้ำนอน ตอนสระผมอยู่ ผมร่วงเยอะมาก ยิ่งขยี้ผมก็ยิ่งร่วงออกมาอีก ลองดึงดูเบา ๆ หลุดออกมาเต็มเลย ตกใจพอสมควร เลยล้างยาสระผมออกเบา ๆ เช็ดเบา ๆ แล้วรีบไปเข้านอน

เสาร์อาทิตย์นั้นไม่เล่นเลย นอนอย่างเดียว เริ่มเชื่อหมอแล้วว่ามันอันตรายจริง ๆ

พอร่างกายเริ่มฟื้นฟูสภาพได้ ผมก็ยังเล่นอยู่ แต่เริ่มเล่นอย่างสมดุลย์ขึ้น ไม่โหมเอาเป็นเอาตายเหมือนแต่ก่อน และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ผมก็เริ่มตระหนักกับเวลาที่ผมใช้กับเกมมากขึ้นเรื่อย ๆ

แล้วพอผมมีลูก ผ่านประสบการณ์ตามที่เล่าไว้ในบทความก่อนหน้านี้ (ทำไมคนมีลูกถึกกันจัง?) สิ่งสำคัญสำหรับผมก็เปลี่ยนไป จริง ๆ มันเปลี่ยนตั้งแต่ตัดสินใจมีลูกแล้ว ผมคิดว่า ในเมื่อผมตัดสินใจให้คน ๆ นึงเกิดมา ผมก็อยากจะรับผิดชอบให้เค้ามีสิ่งแวดล้อมในการเติบโตที่ดี สิ่งที่สำคัญสำหรับชีวิตผมก็เปลี่ยนไป ผมไม่ได้เกิดมาเพื่อเล่มเกมอีกต่อไป การใช้เวลาสร้างความสัมพันธ์ที่มีความหมายกับลูกกลายเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผมแทน

ผมยังชอบเล่นเกมอยู่นะ ยังหลงเสน่ห์การติดตามเรื่องราว การเติบโตของตัวละคร และผมก็ได้เรียนรู้หลายอย่างจากเรื่องราวในเกมหลาย ๆ เกมที่ผมเคยเล่นมา แต่ผมพยายามควบคุมเวลาที่ใช้กับการเล่นเกมให้มันพอดี เพื่อให้ด้านอื่น ๆ ที่สำคัญในชีวิตเหมือนกันยังมีความสุมดุลย์อยู่

หลัง ๆ มานี้ ผมเริ่มจับ pattern ของตัวเองตอนเกมมือถือแนว freemium ได้ว่า แรก ๆผมจะสนุกกับการที่ตัวละครมันจะโตเร็วมาก แล้วผมก็เริ่มติดขึ้นเรื่อย ๆ จนรู้สึกตัวอีกที คือเล่นจนเป็นนิสัย ถึงจังหวะก็เปิดมาฟาร์ม ถ้าถามว่าตอนฟาร์มสนุกไหม ก็ไม่สนุกแล้ว แต่เล่นเพราะติด พอรู้ตัวดังนี้ถ้าไม่คิดได้ว่าหาเงินนอกเกมง่ายกว่าแล้วเสียตังค์อุดหนุนคนทำเกมเพื่อซื้อเวลาและเล่นต่อ ไม่ก็เลิกเล่นไปเลย

หลัง ๆ ผมเริ่มสรุป pattern ว่า สำหรับเกม freemium เล่นซักพักจะติด ติดแล้วก็จะเสียตังค์ ผมก็เริ่มหันมาเล่นเกม premium (แบบที่จ่ายตังค์ซื้อเพื่อเล่นทีเดียว แล้วไม่มี in-app purchase อีก) มากขึ้น แล้วผมสังเกตุว่า กับเกม premium ผมก็ฟาร์มเหมือนกัน

ตอนนี้เป็นตอนที่ผมนึกย้อนกลับไปถึงเกมที่ผมชอบ ๆ และผมก็เห็นว่าทุกเกมที่ผมประทับใจ มันคือเกมที่ผมใช้เวลากับมัน ฟาร์มของไปหลาย ๆ ชั่วโมง จนกระทั่งเอาชนะอุปสรรคบางอย่างได้สำเร็จ

เหมือนในชีวิตตอนถามว่าโปรเจคไหนประทับใจสุด ผมไม่เคยนึกถึงโปรเจคที่ทุกอย่างดำเนินไปตามแผนอย่างราบรื่นเลย สิ่งที่นึกออกมักจะเป็นโปรเจคที่ ณ ตอนนั้นมันนรกมาก ไม่รู้จะมีวันจบไหม แล้ววันที่เราผ่านมันมาได้ มันชัดเจนว่าเราได้เติบโต

ถ้าผมไม่ยอมฟาร์ม ผมก็จะไม่ได้อิ่มเอมกับความสำเร็จ แต่ถ้าฟาร์ม ผมก็อาจจะติดมันและใช้เวลากับมันมากไปจนเสียสมดุลย์ในชีวิต แล้วตอนนั้นก็สงสัยขึ้นมา ว่าคนออกแบบเกมเค้าคิดยังไงกันนะกับปัญหาชีวิตของคนเล่นเกมเหล่านี้

นึกได้ดังนี้ก็ไปถาม expert ดีกว่า ผมก็ทักไปถามเจว่าขอสัมภาษณ์เรื่องการออกแบบเกมหน่อยได้ไหม แล้วเจ (Prayoch Rujira จาก Clockup Studio) ก็ตอบรับอย่างรวดเร็ว

screen captured by Chokchai Phatharamalai with permission of Prayoch Rujira

ผมได้เรียนรู้จากเจว่า ตอนออกแบบเกม สิ่งสำคัญคือทำให้คนเล่น feel awesome (ผมแปลว่าทำให้รู้สึกว่าข้าเจ๋ง) ซึ่งการออกแบบ จะมี 3 แกนที่คนออกแบบคำนึงถึง คือ Machanic (กลไก), Dynamic (ระบบเสริม) และ Aesthetic (สุนทรียภาพจากกราฟฟิกหรือเนื้อเรื่องของเกม)

ซึ่งผมได้เรียนรู้ว่า ไอ้ความรู้สึกฟินจากการที่ผมก้าวข้ามอุปสรรคยากเย็นได้ เป็นเป้าหมายเดียวกันกับที่คนออกแบบพยายามพาเราให้ไปถึง แต่ระหว่างฟาร์มมันน่าเบื่อและยากเย็นมาก คำถามคือ จะเอา dynamic อะไรมาช่วย เช่น เควสเสริม หรือให้สะสมของ หรือ skill เสริม เพื่อช่วยสนับสนุนคนเล่นไปให้ถึงเป้าหมายที่เค้าอยากจะไป

ผมได้เรียนรู้ว่าเจไม่มีเจตนาในการทำให้คนเล่นติดเกมที่เขาสร้างขึ้นมาเล่น แต่มันมาจากเจตนาที่อยากให้คนเล่นสนุกกับเกมที่เขาสร้าง และพยายามช่วยบรรเทาความน่าเบื่อ และสนับสนุนคนเล่นให้ก้าวข้ามอุปสรรคที่ออกแบบมาให้ได้

อีกอย่างที่ผมได้เรียนรู้คือ การออกแบบเกม freemium ดี ๆ นั้น ยากยิ่งกว่าเสียอีก เพราะการคิดว่าจะขายอะไร ขายตรงไหน และจะ balance เพื่อให้ผู้เล่นฟรี และผู้เล่นที่เสียเงินสามารถสนุกกับเกมร่วมกันได้ โดยไม่ได้มีใครได้เปรียบเสียเปรียบใครจนเกินไปนั้น ทำให้ dyanmic ของเกมมันซับซ้อนขึ้นหลายเท่านั้น ส่งผลให้ หลาย ๆ ค่ายเกมอินดี้เริ่มหันกลับไปทำเกมแนว premium มากขึ้น เพราะเกม freemium ต้องอาศัยการ test ต้องมีค่า maintainance มี GM, มี support ซึ่งทำให้ต้นทุนสูงมาก ถ้าไม่ reuse machanic หรือเกม engine จากเกมเดิม คิดไม่ออกว่าจะอยู่รอดยังไงเลย

ขอบคุณเจที่ช่วยให้ผมได้เข้าใจมุมของคนออกแบบเกมมากขึ้น กลับมา map กับชีวิต Scrum master ผมคิดว่า Scrum คงเป็น machanic และผมเองก็หา practice ต่าง ๆ มาแนะนำทีมด้วยความหวังจะช่วยบรรเทาความยากลำบากในการพัฒนาตัวเองอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อเติบโตเหมือนกัน ผมเริ่มเชื่อมโยงพวกท่า retrospective หรือ burndown chart เป็น dynamic และ aesthetic ละ

สุดท้ายนี้ เรื่องจะเล่นแค่ไหนให้ชีวิตสมดุลย์ ผมคงต้องเก็บไปเป็นการบ้านเพื่อคิดต่อเอง ขอบคุณเจอีกทีที่สละเวลามาให้ความรู้ผมอย่างไม่หวงวิชาเลย ซาบซึ้งจริง ๆ ผมไปเล่น idv กับลูกต่อละ สวัสดีครับ ^/\^

--

--