ถ้ากระจกเราไม่ใส มองอะไรก็ไม่สวย
ข้อสังเกต vs ข้อสังเกตปนการการตีความ
บทความนี้เป็นหนึ่งในซีรี่ย์ของ NVC key differentiations สำหรับคนที่ไม่รู้จัก key differentiations มาก่อน เล่าคร่าว ๆ คือของ 2 สิ่งที่เราต้องแยกออกจากกันให้ได้ เพราะด้านซ้ายจะช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสื่อสาร ส่วนด้านขวาจะทำร้ายความสัมพันธ์
ข้อสังเกต
เป็นข้อเท็จจริงที่เราสังเกตได้ผ่านประสามสัมผัสของเรา ความพิเศษของข้อเท็จจริงคือ เราสามารถแบ่งปันข้อเท็จจริงจากประสบการณ์ของเราให้ผู้อื่นรับรู้ได้ง่าย โดยไม่กระตุ้นให้ผู้รับรู้สึกต่อต้าน
ข้อสังเกตปนการตีความ
ข้อสังเกตปนการตีความ จะมีการตีความของผม ซึ่งอิงจากบรรทัดฐาน ความเชื่อ หรือหลักการของผมเจือปนอยู่ในสิ่งที่ผมสังเกตได้ด้วย งานวิจัยบอกว่า โดยเฉลี่ยประมาณ 95% ที่เราคิดว่าเป็นข้อสังเกตนั้น จริง ๆ แล้วมีการตีความของเราเจือปนอยู่ด้วย
และเพราะการตีความของผมอิงจากหลักการของผมเอง คนอื่นที่อาจจะยึดในหลักการที่แตกต่างอาจจะยอมรับข้อสังเกตปนการตีความของผมได้ยาก ซึ่งทำให้ประสิทธิภาพในการสื่อสารลดลง
ทำไมต้องแยกสองสี่งนี้ออกจากกัน
นอกจากที่การตีความจะลดโอกาสที่ผู้ฟังจะได้ยินผมแล้ว การตีความของผมจะกระตุ้นให้ผมเกิดความรู้สึกต่าง ๆ กับเรื่องราวที่ผมเผชิญ ผมสามารถรู้สึกโกรธ กลัว หรือเศร้าจากเรื่องเดียวกันที่ผมประสบก็ได้ ขึ้นกับว่าผมตีความมันว่าอย่างไร
สรุปแล้ว ข้อสังเกตที่เจือปนด้วยการตีความ นอกจากจะส่งผลกระทบให้ใจผมไม่เป็นกลางแล้ว เมื่อสื่อสารอออกไปก็ไปกระทบให้ใจผู้ฟังไม่เป็นกลางด้วย ซึ่งจะลดโอกาสที่เราจะได้ยินกัน
ถ้าเราแยกข้อสังเกตกับการตีความออกจากกันได้ จะเปิดโอกาสให้เราทบทวนการตีความใหม่ บางคนเรียกทักษะนี้ว่า reframing ซึ่งเปิดโอกาสให้กับมุมมองใหม่ ๆ และทิศทางของบทสนทนาใหม่ ๆ ที่สร้างสรรค์ได้