นอนลดโอกาสเกิดโรคอัลไซเมอร์
วันนี้ผมจะมาแบ่งปันส่วนหนึ่งของหนังสือ Why We Sleep ของ Matthew Walker นะครับ
เป็นบทที่อ่านประมาณ 5 รอบกว่าจะเข้าใจ ตอนแรกนึกว่าชาตินี้จะไม่มีวันเข้าใจมันแล้ว 555
นอนไม่ค่อยหลับกับโรคอัลไซเมอร์ซี้กัน
แต่ไหนแต่ไรมา วงการแพทย์จะรู้ว่าอาการนอนไม่ค่อยหลับกับโรคอัลไซเมอร์มักจะเป็นของคู่กัน แต่มันไม่ชัดนะว่าอะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นผล รู้แค่มันมักจะไม่มาเดี่ยวเฉย ๆ
คนเขียนสปอยไว้ตั้งแต่ต้นบทเลยว่าสรุปแล้วมันเป็น vicious loop (หมายถึงวงจรนรก ที่การนอนไม่หลับทำให้เป็นอัลไซเมอร์หนักขึ้น และโรคอัลไซเมอร์ก็ยิ่งทำให้นอนไม่หลับ)
แต่เพราะอะไรนั้นมันถึงเป็นวงจรนรกนั้น คำอธิบายมาจากงานวิจัยอีกหลายงานที่ตามมาในหนังสือ
โรคอัลไซเมอร์เกิดจากอะไร?
ความรู้เดิมผมเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์คือเราจะหลง ๆ ลืม ๆ ลืมว่าตัวเองชื่ออะไร ลืมคนในครอบครัว ลืมบ้านตัวเอง ผมมีเพื่อนพ่อที่มีคนในครอบครัวเป็นโรคอัลไซเมอร์ เลยได้ทราบรายละเอียดว่า มันเครียดมากเวลาคนที่เรารักตื่นมาแล้วจำเราไม่ได้ พยายามจะทำร้ายเราเพราะนึกว่าเราเป็นโจรที่ไปบุกบ้านเค้าเป็นต้น
ที่ผมได้รู้เพิ่มจากการอ่านหนังสือคือ อะไรทำให้คนเป็นโรคอัลไซเมอร์หลง ๆ ลืม ๆ
อาการหลง ๆ ลืม ๆ เกิดจากการที่สารพิษตัวหนึ่งชื่อ Amyloid พลักซ์ไปเกาะตรงสมองส่วนที่ใช้การสร้างการหลับลึก (NREM Sleep) ถ้าใครได้อ่านบทความการนอน 2 ประเภทของผมก่อนหน้านี้ ผมเคยเล่าไว้ว่า ปรกติตอนหลับลึก สมองเราจะเอาความทรงจำระหว่างวันไปจัดเก็บในความทรงจำระยะยาว ทำให้เราจำได้มากขึ้นทุกครั้งที่เราหลับ
แต่เมื่อมี Amyloid พลักซ์มาเกาะสมองส่วนที่ใช้ในการสร้างการหลับลึกตรงใต้หน้าผากเราแล้ว พอเรานอน แทนที่จะจำได้มากขึ้นทุก ๆ ครั้งที่หลับ เราจะลืมทุก ๆ ครั้งที่หลับแทน และอาการนั้นคืออาการของโรคอัลไซเมอร์
Amyloid พลักซ์มาจากไหน?
เวลาเราออกกำลังกายหนัก ๆ แล้วกล้ามเนื้อเผาออกซิเจนมาใช้ไม่ทัน มันจะเกิดสารพิษตกค้างในกล้ามเนื้อชื่อกรดแลคติก ซึ่งทำให้เราปวดเมื่อยกล้ามเนื้อหลังออกกำลังกาย แก้ได้ด้วยการบีบนวดหรือออกกำลังกายเบา ๆให้กรดนั้นสลายไป
สมองก็เช่นกัน ตอนที่สมองทำงานและเผาออกซิเจนมาเป็นพลังงานนั้น ก็มีเขม่าเหลืออยู่เหมือนกัน และในบรรดาเขม่าหรือสารพิษตกค้างนั้น มีสารบางตัวที่เพิ่มโอกาสการเกิดโรคอัลไซเมอร์เช่นโปรตีน tau และกรด Amyloid ที่ถูกกล่าวถึงข้างต้น
โชคดีที่สมองเรามีเซลล์ Glia ซึ่งประกบอยู่กับระบบประสาทที่กระจายตัวอยู่ทั่วสมอง เซลล์ Glia นี้มีหน้าที่กำจัดของเสียที่เกิดขึ้นจากการทำงานของสมอง พวกสารพิษที่ก่อให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ก็ถูกกำจัดด้วยเซลล์นี้แหละ
อย่างไรก็ดี เซลล์นี้ทำงานแค่นิดเดียวเท่านั้นในเวลากลางวัน และตอนที่เซลล์นี้ทำงานดีที่สุดคือตอนที่เราหลับลึก (NREM Sleep) ในตอนกลางคืน เพราะตอนนั้นที่สมองเราพักงานอยู่ เซลล์นี้จะหดตัวลง 60% เพื่อให้มีช่องว่างในสมองเพื่อให้การชำระล้างสารพิษมีประสิทธิภาพสูงขึ้นอีก 10–20 เท่า คราบเขม่าสารพิษต่าง ๆ ในสมองถูกกำจัดออกจากร่างกายในช่วงนี้เป็นหลัก
บทสรุปของวงจรนรก
โรคอัลไซเมอร์เกิดเมื่อคราบ Amyloid ในสมองมันเยอะจนไปเกาะส่วนที่ทำหน้าที่สร้างการหลับลึก พอการหลับลึกเสียหายถึงระดับนึง แทนที่ตอนหลับจะจำได้มากขึ้นเราจะลืมแทนเกิดเป็นโรคอัลไซเมอร์
ในขณะเดียวกันพอเราหลับลึกไม่ได้ กรด Amyloid ที่เกิดขึ้นระหว่างวันก็จะไม่ถูกกำจัด ทำให้กรดยิ่งมากขึ้น การหลับลึกก็ยิ่งเสียหาย วนเป็นวัฏจักรเรื่อยไป
ถ้าสรุปเป็น Causal loop diagram จะได้รูปตามด้านล่าง (note: เส้นแดงคือแปรผกผันและเส้นเขียวคือแปรผัน)
ตอนนี้ทีมคนเขียนกำลังหาวิธีใช้กระแสไฟฟ้าอ่อน ๆ กระตุ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้คนเป็นโรคอัลไซเมอร์สามารถนอนหลับได้ดีขึ้นด้วยความหวังว่าจะกำจัดคราบพลักซ์ Amyloid ที่เป็นพิษและฟื้นฟูสมองกลับมา
ถึงผลการทดลองจะช่วยคนที่มีคราบพลักซ์น้อย ๆ อยู่ได้ แต่การจะช่วยคนที่มีคราบพลักซ์เยอะ ๆ แล้วยังเป็นความฝันอันยาวไกลต่อไป อย่างไรก็ดี คนเขียนฝากบอกคนที่ยังไม่เป็นอัลไซเมอร์ว่า แม้การรักษาโรคนี้จะยังทำได้ไม่ไกลนัก แต่การป้องกันโรคนี้ด้วยการการนอนให้ครบ 8 ชั่วโมงต่อวันเพื่อให้การกำจัดของเสียทำงานโดยสมบูรณ์ไม่เหลือสารพิษตกค้างลดโอกาสเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้อย่างชะงัดมาก