นาฬิการ่างกายอยู่ที่วันละ 24 ชั่วโมง 15 นาที
ช่วงที่เรียนมหาลัย พอไปเรียนเสร็จ กลับมา ผมก็เล่นเกมก็เลยนอนดึก พอนอนดึกแล้วก็ตื่นสาย พอตื่นสายก็เลยไปเรียนสาย แล้วพอกลับมา ก็นอนดึกขึ้นอีก ก็เลยตื่นสายขึ้นอีก ก็ยิ่งไปเรียนสายใหญ่ หนัก ๆ เข้าไปนอนเช้าเลยก็มี ก็เลยขาดเรียน ก็เลยรู้สึกว่าไม่ไหวละ ก็กินกาแฟให้ตื่นข้ามวัน แล้วไปเข้านอนเร็ว ๆ เพื่อปรับนาฬิการ่างกายตัวเองให้กลับมาตื่นเช้า แต่เสร็จแล้วก็ค่อย ๆ นอนดึกขึ้น ๆ อีก เป็นแบบนี้วนไป
ช่วงเวลานั้น การนอนมันเป็นปัญหามาก มีเพื่อน ๆ หลายคนเป็นเหมือนผม แต่ก็มีเพื่อน ๆ บางกลุ่มที่ไม่เป็นเหมือนกัน เค้าดูไม่มีปัญหากับการตื่นเช้า แล้ววงจรชีวิตเค้าก็ดูตรงเวลา กินเป็นเวลา นอนเป็นเวลา ซึ่งผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไมเราถึงไม่เหมือนกัน
ผมอยากแก้ปัญหาเรื่องการนอนนะ แต่ตอนนั้นไม่รู้เลยว่าต้องทำยังไง เครื่องมือเดียวที่ใช้จัดการกับการนอนได้ก็คือกาแฟ ช่วงนั้นผมดื่มกาแฟเยอะมาก เฉลี่ยวันละ 5 แก้ว แล้วก็นอนเฉลี่ยประมาณวันละ 4–6 ชั่วโมง
ช่วงนั้นผมเห็นนะว่าตัวเองนอนดึกขึ้น ๆ แต่ไม่เข้าใจว่าเป็นเพราะอะไร แล้วไม่รู้จะแก้มันอย่างไร สรุปเอาว่าเป็นเพราะติดเกม หรือใช้เวลาสังสรรค์กับเพื่อนหลังเลิกเรียน ก็เลยนอนดึกและก็เข้าใจมันแค่นั้น
จนกระทั่งได้มาอ่านหนังสือ Why We Sleep ของ Matthew Walker ในหนังสือเล่าถึงประโยชน์มากมายของการนอนที่ผมไม่รู้มาก่อน เช่น การนอนทำให้อายุยืนขึ้น พัฒนาความจำและความสร้างสรรค์ ทำให้เราดูดีขึ้น ทำให้ผอม ลดการกินจุบจิบ ลดโอกาสเกิดมะเร็งและความจำเสื่อม ป้องกันหวัดและไข้ ลดโอกาสเกิดโรคหัวใจและเบาหวาน แถมยังทำให้เรามีความสุขง่ายขึ้น และเครียดน้อยลงอีกด้วย
นอกจากนี้ ในหนังสือยังเล่าถึงการทดลองหนึ่ง ที่ชายสองคนชื่อ Kleithman และ Richardson ขนอาหาร, น้ำ, เตียงคนป่วยที่มีขายกสูง, เครื่องวัดอุณหภูมิและเครื่องตรวจจับการตื่นและการหลับ แล้วเดินทางไปในถ้ำแมมมอธที่อยู่แถว Kentucky
ในถ้ำลึกมาก ๆ แสงอาทิตย์ส่องไม่ถึง พวกเค้าเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในนั้นเพื่อทดสอบว่า ถ้าไม่มีแสงอาทิตย์คอยบอกกลางวันและกลางคืนแล้ว นาฬิการ่างกายพวกเขาจะยังปรับอุณหภูมิร่างกายและสภาพการตื่นและการนอนให้เป็น 24 ชั่วโมงอยู่ไหม
ผลปรากฏว่า แม้จะไม่มีแสงอาทิตย์ ทั้งสองคนก็ยังมีช่วงเวลาตื่นประมาณ 15 ชั่วโมงและนอนประมาณ 9 ชั่วโมงอยู่ โดยเฉพาะสำหรับ Kliethman ในวัย 40 กว่า 1 วันของร่างกายเค้า เกิน 24 ชั่วโมงไปนิดนึง แต่สำหรับ Richardson ในวัย 20 กว่า 1 วันของเค้ากลับยาวนานประมาณ 26–28 ชั่วโมง
70 ปีหลังจากการทดลองของ 2 คนนั้น ก็มีผลสรุปออกมาว่านาฬิการ่างกายของคนที่โตเต็มวัยแล้วจะเฉลี่ยอยู่ที่ 24 ชั่วโมง 15 นาที ถ้าเราไม่โดนแสงอาทิตย์เลย สรุปแล้ว นาฬิการ่างกายของพวกเรา มันจะยาวนานกว่า 24 ชั่วโมง เปรียบเหมือนนาฬิกาถ่านอ่อนที่เดินช้ากว่าปรกติ แล้วเราต้องคอยหมุนเข็มเพื่อปรับมันให้ตรงอยู่เรื่อย ๆ
แสงอาทิตย์นี่แหละ เป็นการปรับนาฬิกาให้ตรง
ถ้าผมกลับไปคุยกับตัวเองในตอนเรียนมหาลัยที่กำลังลำบากกับจังหวะการนอนของตัวเองได้ ผมจะไปบอกตัวเองตอนนั้นว่าให้ตื่นเช้ามาแล้วออกจากห้องไปโดนแดด บวกกับใส่แว่นดำตอนบ่าย หรือหาแว่นกรองแสงมาใช้ตอนเล่นคอมฯ เพื่อให้นาฬิการ่ายกายมันปรับจูนเข้ากับ 24 ชั่วโมงได้มากขึ้น การที่ผมอยู่แต่ในห้อง ตื่นมาแล้วก็ไม่โดนแสง กว่าจะโดนก็ตอนออกมาเรียนตอนบ่าย และกลับไปเจอแสงจากหน้าจอตอนกลางคืน เป็นสิ่งที่กลับด้านกับสิ่งที่ควรทำสำหรับคนที่อยากนอนให้เป็นเวลาชัด ๆ
ถึงผมจะกลับไปบอกตัวเองในวัยเด็กไม่ได้แล้ว แต่ผมยังเขียนบทความเพื่อแบ่งปันกับคนอื่น ๆ ที่อาจจะมีปัญหาพบว่านาฬิการ่างกายตัวเองมันนานเกิน 24 ชั่วโมงเหมือนกันได้ และผมยังใช้ความรู้นี้ในตอนแก่กว่านี้ ที่ผมอาจจะหลับเร็วและตื่นเช้าเกินได้เช่นกัน โดยการทำกลับด้านคือให้ใส่แว่นกันแดดในตอนเช้า แล้วค่อยถอดหลังเที่ยง เพื่อยืดกลางวันผมให้ยาวขึ้นอีกนิดและดันเวลานอนให้ดึกขึ้นอีกหน่อย
Credits
ขอบคุณน้องรินที่ซื้อหนังสือ Why We Sleep ให้อ่าน ชอบมากเลย ❤