ประวัติศาสตร์จาการ์ตา

Chokchai Phatharamalai
odds.team
Published in
3 min read23 hours ago

ผมจงใจจองตั๋วขากลับให้เย็นหน่อย เพราะพ่อสอนไว้ว่า

เวลาบินไปประเทศที่ไม่เคยไป ให้เผื่อเวลาก่อนหรือหลังงานไว้ชมเมืองบ้าง ไม่ใช่อยู่แค่สนามบินกับโรงแรม หูตาจะได้กว้างขึ้น — พ่อผม

ผมจอง walking tour ไว้ผ่าน Trip advisor ไว้ จองไว้แค่สองชั่วโมง เพราะ จะจอง 4 ชั่วโมงก็กลัวตกเครื่อง ผมบิน 16:30น บินต่างประเทศควรถึงสนามบินก่อนสัก 2 ชั่วโมง แถมไกด์ยังบอกว่าวันศุกร์ผู้คนไปละหมาดมัสยิดกัน รถติดเป็นพิเศษ

สุดท้ายไกด์แนะนำว่าสามารถต่อเวลาเป็น 3 ชั่วโมงได้นะ ตกลงราคากันได้ที่ 150,000 ต่อชั่วโมง ก็ดีจะได้ไม่ต้องไปรอที่สนามบินนานเกิน

ผมเพิ่งได้รู้ว่า Google map สามารถคำนวนเวลาที่ใช้เดินทางล่วงหน้าได้ด้วย ผมค้นแมพตั้งแต่คืนวันพฤหัสว่าถ้านั่งรถไปสนามบินตอน 13:00 วันศุกร์จะใช้เวลาเท่าไหร่ แล้วพอเห็นว่าไปทันเลยจอง Grab ล่วงหน้าไว้เลย

ออกเดินทางไปย่านเมืองเก่า ได้รู้ว่าก่อนโดนเนเธอร์แลนด์บุก เดิมเมืองจาการ์ตาชื่อ Djakarte (ออกเสียงว่า ดิ จาการ์เต้)

Djakarte captured by Chokchai Phatharamalai

หลังจากเนเธอร์แลนด์บุกแล้วถึงเปลี่ยนชื่อเป็น บาทาเวีย (Batavia) ซึ่งเป็นคำที่คนเนเธอร์แลนด์ใช้เรียกชาวอินโดนีเซีย ผมอ่านสีหน้าได้ว่าไกด์ไม่ชอบคำนี้ เหมือนถูกเหยียดหน่อย ๆ แต่ไม่กล้าคอนเฟิร์ม

Batavia captured by Chokchai Phatharamalai

รอบ ๆ นั้นเดินผ่านพิพิธภัณฑ์หนังตะลุงด้วย ที่นี่เรียก วายาง (Wayang)

เหนื่อยก็นั่งพักบนลูกปืนใหญ่ได้ อันนี้อยู่มาตั้งแต่ตอนญี่ปุ่นบุกตอนสงครามโลกครั้งที่ 2

ลูกปืนใหญ่ ยุคนี้เอาไว้นั่งพัก captured by Chokchai Phatharamalai

ไกด์เล่าภาพจากหนังที่บรรยายวิธีที่ทหารอินโดนีเซียถูกญี่ปุ่นบุกและทรมาน ดูเป็นอดีตที่ดำมืดมาก ฟังดูความเจ็บแค้นฝังรากลึกกว่าตอนเนเธอร์แลนด์มารุกรานอีก

พอได้ยินว่าทั้งญี่ปุ่นและเนเธอร์แลนด์เคยบุกอินโดนีเซีย เลยนึกถึงเรื่องโซ่ทองคล้องใจของสองประเทศนี้ขึ้นมา เพื่อนร่วมงานชาวญี่ปุ่นของผมย้ายไปอยู่เนเธอร์แลนด์ ซึ่งตอนย้ายประเทศก็ได้ของที่คล้ายกรีนการ์ดเร็วมาก เพราะสองประเทศนี้มีสนธิสัญญาพันธมิตรมาช้านานเพราะเคยช่วยกันและกันในสงครามภายในประเทศของตน

ในศึก Sekigahara ก่อนอิเอยาสุจะได้ขึ้นเป็นโชกุน ซามูไรฝั่งอิเอยาสุเสียเปรียบมากด้วยกำลังที่น้อยกว่า แล้วอยู่ดี ๆ ก็มีปืนกับเรือรบวาร์ปมาเฉย ทำให้กองทัพซามูไรติดปืนของอิเอยาสุพลิกกลับมาชนะ ไอ้ปืนกับเรือรบนั้นซื้อมา East Indian Company จากเนเธอร์แลนด์

เสร็จสงครามภายในญี่ปุ่น ซามูไรก็หมดความหมาย ไม่รู้จะไปทำอะไร ช่วงนั้นฝั่งสมาพันธ์การค้า East Indian Company ของเนเธอร์แลนด์กำลังช่วยฝั่งปฏิวัติรบกับสงครามภายในประเทศตัวเองเหมือนกัน ถึงสมาพันธ์การค้าจะมีทั้งเรือและปืนรวมถึงเงินทองมากมายจากการเป็นผู้ผูกขาดเส้นทางการเดินเรือมาค้าขายกับเอเชียที่ปลอดภัย ทั้งจากภัยในท้องทะเลและเหล่าโจรสลัดที่ชุกชุม แต่ทางสมาพันธ์ไม่ได้มีทหารเหมือนกองทัพของฝั่งกองทัพศักดิ์สิทธิ์และของทัพราชวงศ์ เลยเสียเปรียบทางการรบอย่างมาก แล้วอยู่ดี ๆ ก็มีซามูไรติดปืนวาร์ปมาช่วยให้พลิกกลับมาชนะจนได้เอกราชกลับมาเฉย ซามูไรติดปืนนั้นคือซามูไรที่รบเสร็จ เลยมารับจ๊อบที่เนเธอร์แลนด์ หลักจากนั้นสองประเทศนี้ก็บัดดี้กันเรื่อยมา ไม่แน่นะ อาจจะมารู้จักกันที่อินโดนีเซียก็ได้

เสร็จจากเมืองเก่าก็เรียก Grab ไป China town เจอสัตว์ที่เค้าขายทั้งเพื่อเป็นสัตว์เลี้ยงและอาหาร เช่น เป็ด, ไก่, ชะมด (เอาไว้ทำกาแฟ) และ ค้างคาว (ไกด์บอกบางคนกิน)

สัตว์เลี้ยงที่ China town captured by Chokchai Phatharamalai

ระหว่างนั่งรถไป ผมได้คุยกับคนขับ Grab และไกด์ ได้รู้ว่าพวกเค้าค่อนข้างลำบากมาก อย่างผู้คนที่ผมรู้จักในเมืองไทย เวลาเค้าบอกว่าไม่มีงาน ส่วนใหญ่จะหมายถึงไม่มีงานที่ถูกใจหรือตรงสาย แต่ถ้าไม่เลือกงานจริง ๆ กลับต่างจังหวัดก็หาอะไรทำได้ไม่ถึงกับอดตาย แต่สำหรับสองคนนี้เหมือนคนหาเช้ากินค่ำบ้านเรา มันช่วยเตือนสติผมได้ดีว่ายังมีคนลำบากกว่าเราอีกเยอะ บางคนจบมาหางานทำไม่ได้ เจออาชีพรับจ้างอะไรก็ต้องคว้าไว้ ประทังหิวไปก่อน แล้วค่อย ๆ หาลู่ทางเอา รู้สึกตัวเองโชคดีมากที่ได้ทำงานที่รักและยังเลี้ยงครอบครัวได้

เดินไปถึงอนุสาวรีย์โมนาส (Monas) ที่ถูกเรียกว่าไฟทอง เป็นที่ระลึกของคบเพลิงโอลิมปิก และยังเป็นที่เค้ามาฉลองวันประกาศอิสรภาพอีกด้วย เจอชาวต่างชาติมากมาย สมศักดิ์ศรีจุดท่องเที่ยว

เสร็จแล้วไกด์ก็ชี้ไปว่าทิศโน้นมีร้านไอศกรีมที่เก่าแก่ที่สุดในจาการ์ตา มีอายุ 92 ปี ชื่อ รากุสซ่า (Ragusa) ผมที่เป็นทาสไอศกรีมเลยขอให้เค้าพาไปทันที

ไอศกรีมร้าน Ragusa captured by Chokchai Phatharamalai

นั่งรถตุ๊ก ๆ ไป ต่อราคากันเหมือนบ้านเรา แค่เลขมันจะเวอร์ ๆ หน่อย ต่อจาก 30,000 เหลือ 20,000 รูเปีย

ตุ๊กตุ๊ก captured by Chokchai Phatharamalai

เสร็จแล้วก็แวะกินก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นกับสลัดปลาเส้น กินเสร็จไกด์ก็พาเรียก Grab กลับไปส่งโรงแรมเพื่อเอากระเป๋าที่ฝากไว้เตรียมไปสนามบิน

ถึงสนามบินแวะเข้าห้องน้ำข้าง ๆ ห้องละหมาด เจอที่อาบน้ำละหมาดด้วย

ที่อาบน้ำละหมาด captured by Chokchai Phatharamalai

นอกจากนี้โถฉี่มีที่กั้นกันฉี่กระเด็นมาโดนเสื้อผ้าด้วย เพราะถ้ามีฉี่มาโดนแม้แต่หยดเดียวก็ละหมาดไม่ได้แล้ว ถือว่าสกปรก พระเจ้าไม่รับ

โถฉี่ที่มีที่กั้น กันฉี่กระเด็น captured by Chokchai Phatharamalai

เหลือก็แวะ duty free แล้วก็กลับเมืองไทยโดยสวัสดิภาพ

สรุปแล้วอินโดนีเซียก็มีหลายส่วนคล้ายไทยนะ มีจุดต่างเล็ก ๆ น้อย ๆ พอให้ได้เปิดหูเปิดตาดี ไม่แตกต่างขนาดคนละโลกแบบยุโรปหรืออเมริกา อย่างน้อยก็มีภูมิอากาศคล้าย ๆ กัน เจอปัญหาเหมือน ๆ กัน แดดร้อนชื้น เหงื่อออกตัวเหนียว ฝนตกน้ำท่วม วันศุกร์รถติดเหมือนกัน

ที่แตกต่างก็จะเห็นผู้หญิงมุสลิมเยอะ ที่แยกออกเพราะเค้าใส่ฮิญาบ (คลุมหัว) ส่วนผู้ชายดูไม่ออก มีมัสยิดเต็มเมือง ถึงเวลาละหมาดก็คืออยู่ตรงไหนก็ได้ยิน อาหาร 9 ใน 10 ร้านมีป้ายฮาลาล แต่ก็ยังมีร้านเหล้าร้านเบียร์ให้เห็นบ้างนะ ไม่ใช่แค่ในโรงแรมเหมือนพวกประเทศที่มีสัญลักษณ์จันทร์เสี้ยว

คนจาการ์ตาได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากญี่ปุ่น จีนและเนเธอร์แลนเยอะ เห็นร้านกาแฟ ร้านซูชิ ร้านอาหารจีนประปราย ผู้สูงอายุบางคนพูด Dutch ได้

คนส่วนใหญ่นับถือคริสกับอิสลาม มุสลิมบางคนก็เปลี่ยนไปเป็นคริสตอนแต่งงาน ชาวคริสบางคนก็แต่งเข้าอิสลาม และบางคู่เลิกรากันไปก็เปลี่ยนกลับก็มี ฟังจากที่ไกด์เล่าเรื่องความขัดแย้งจากสองศาสนานี้น่าจะเข้มข้นกว่าบ้านเราที่คนส่วนใหญ่นับถือพุทธเหมือนกัน

ผู้หญิงที่เรียนจบแล้ว ทำงานได้ไม่กี่ปี ก็โดนผู้ใหญ่กดดันให้แต่งงานคล้าย ๆ กันกับที่ผมเห็น ๆ มาบ้างในครอบครัวจีน หรือแขกบ้านเรา

จบละครับ สนุกดี สำหรับคนไม่เคยไปต่างประเทศ ถ้าพูดอังกฤษคล่อง จาการ์ตาเป็นเมืองนึงที่น่าลอง ปรับตัวไม่เยอะมาก ผู้คนฟังอังกฤษสำเนียงไทยออก เล่ห์เหลี่ยมรวมถึงอัธยาศัยผู้คนคล้าย ๆ บ้านเรา timezone เดียวกันด้วย ไม่ต้องปรับเวลาเลย

อ้างอิง

--

--