มารยาทและความเคารพ

Chokchai Phatharamalai
odds.team
Published in
Sep 27, 2021
Photo by Wonderlane on Unsplash

มีอยู่วันหนึ่ง ครอบครัวผมตัดสินใจไปทานข้าวกันที่โรงแรมห้าดาวแห่งหนึ่งในใจกลางกรุงเนื่องในโอกาสคริสมาส ช่วงนั้นงานผมหนักมาก ผมวาดฝันว่าวันนั้นจะได้นอนพักผ่อนอยู่บ้านทั้งวัน แล้วอยู่ดี ๆ แม่ก็บอกให้ไปทานด้วยกัน

ตอนนั้นผมไม่อยากไปเลย แต่เค้าไปกันหมด ผมก็ไม่อยากขัดศรัทธาทุกคน ก็จำใจไป ผมไปทั้งเสื้อยืด ขาสั้น รองเท้าแตะเนี่ยแหละ

ไปถึงข้างหน้าโรงแรม หลังจากแม่ให้ไปจอดรถตรง Valet พวกเราก็เดินเข้าโรงแรมด้วยกัน ผมเดินเล่นมือถือรั้งท้ายขบวน เงยหน้าขึ้นมาตอนเดินผ่านประตู ผมก็เห็นภาพพนักงานต้อนรับปล่อยประตูที่กำลังเปิดให้น้องสาวผมที่อยู่ด้านหน้า ประตูก็ค่อย ๆ ปิดมาใส่ผม ผมก็เลยเอามือยันประตูไว้ แล้วก็ผลักประตูออกเปิดเข้าไปเอง

ผมเห็นว่าสีหน้าคนเปิดประตูไม่พอใจ แต่ตอนนั้นยังงงอยู่ ว่าไปทำอะไรให้เค้าไม่พอใจ ผมก็เลยเล่าให้น้องสาวผมฟังว่าเมื่อกี้เกิดอะไรขึ้น น้องสาวผมเคยทำงานเสริมเป็นพนักงานเสริฟในร้านอาหารตอนไปเรียนต่อที่อเมริกา ทำให้เธอมีความอินกับงานบริการมาก เธอฉุนขาดทันที พร้อมกับบอกว่า “เค้ามีสิทธิ์อะไรมาทำแบบนี้กับพี่ เราเป็นลูกค้านะ” พร้อมกับหันหลังกับจะไปหาเรื่องพนักงานต้อนรับคนนั้น

ผมหยุดน้องสาวไว้ ผมในตอนนั้นที่ปะติปะต่อเรื่องเสร็จแล้ว ก็ตอบน้องสาวผมไปว่า “ช่างมันเถอะ พี่แต่งตัวไม่สุภาพเอง พี่ไม่ให้เกียรติสถานที่ก่อน เค้าไม่ให้ความเกียรติพี่กลับก็สมควรแล้ว”

ชั่วขณะนั้นเป็นตอนที่ผมรู้สึกว่าผมเข้าใจคำว่ามารยาทลึกซึ้งขึ้น จากบทสนทนาที่ผมถามตัวเองในหัวด้านล่าง

ผม: ทำไมพนักงานต้อนรับถึงโกรธผมนะ?

ผม: (ก้มมองการแต่งตัวของตัวเอง) ก็ผมไม่ให้ความเคารพกับสถานที่ก่อน แม้ผมจะไม่ได้ตั้งใจลบหลู่สถานที่ แต่มันง่ายมากที่ใคร ๆ จะเชื่อมโยงการแต่งตัวของผมเข้ากับการดูหมิ่นโรงแรมระดับห้าดาวนี้ ผมถือว่าการต้องเปิดประตูเองเป็นการตอบสนองที่เท่าเทียมกัน

มารยาทคือการยอมลำบาก

ในเมืองไทยร้อน ๆ การใส่สูท ผูกไทค์ เหงื่อไคลไหล ไม่สะดวกสบายเลย แต่การจ่ายความสะดวกสบายนั้นแหละ เป็นการแสดงความเคารพให้กับสถานที่

เวลากินไก่ทอด กินด้วยมือสะดวกกว่ามาก (อร่อยกว่าด้วย) แต่การยอมลำบากใช้ส้อมกับมีดเป็นมารยาทบนโต๊ะอาหาร

เวลาไปทำงาน ใส่รองเท้าแตะสะดวกมาก แต่การใช้รองเท้าหนังซึ่งทั้งแข็งทั้งเจ็บ เป็นการแสดงความเคารพ

ตั้งแต่โบราณกาล อยากได้อะไรเราก็แสดงความต้องการตรง ๆ อย่างป่าเถื่อน กินของด้วยมือ ใช้กำลังแย่งชิง ตีหัวลากเข้าถ้ำเพื่อสืบพันธุ์ แล้วเราก็เพิ่มพีธีรีตรองเข้ามา เพิ่มขั้นตอนที่ซับซ้อน เพิ่มสิ่งกีดขวางเข้ามา แสดงถึงการอดกลั้น แล้วเราก็ให้คุณค่าสิ่งนี้ว่าเป็นมารยาท

มุมต่างจากยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง

พอคิดถึงตรงนี้ ก็เห็นมุมมองที่แตกต่าง บางคนอาจจะให้คุณค่ากับการจ่ายความสะดวกสบาย แสดงให้เห็นถึงความอดทนอดกลั้น ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่เติบโตมาในยุคที่ตลาดยังไม่เปิดกว้าง เปรียบเสมือนป่าโล่ง ใครเริ่มก่อน ใครอดทนอดกลั้น ทนได้มากกว่า ทำได้นานกว่าก็จะรุ่งเรือง เติบโต เป็นไม้ใหญ่ก่อน ได้แสงได้อากาศดี ๆ ไปก่อนใคร เป็นยุคสมัยที่ให้คุณค่ากับความอดทน

ขณะที่บางคนจะเห็นเป็นเรื่องโง่เขลา ในเมื่อไม่ได้สร้างประโยชน์ให้ใคร จะไปทนทำไม ทำไมไม่เปิดรับมุมมองใหม่ที่เลิกให้ความสำคัญกับพิธีรีตรองเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่เกิดมาในยุคที่ตลาดงวดมาก ๆ แล้ว ทุกพื้นที่ถูกจับจองหมดแล้ว เปรียบได้กับป่ารกทึบ การจะไปเริ่มต้นใหม่ อาศัยแค่ความอดทน ความพยายามเฉย ๆ อาจจะสร้างความรุ่งเรืองไม่ได้แล้ว ต้องคิดนอกกรอบ ต้องมองมุมใหม่ ต้องสร้างสรรค์เพื่อหาจุดต่างตลอดเวลา จะได้เบียดเสียดไม้ใหญ่เพื่อแทรกตัวขึ้นมาได้ เป็นยุคสมัยที่ให้คุณค่ากับความสร้างสรรค์

ผมว่าคนเรามีสิทธ์เลือกจะให้คุณค่ากับอะไรก็ได้ มันไม่มีถูกมีผิด เพราะเราต่างคนต่างผ่านประสบการณ์ที่แตกต่างกันมา หล่อหลอมให้เราให้คุณค่าแตกต่างกัน ผมหวังเพียงว่าเราจะไม่ลืมว่ายังมีคนที่อาจจะมองมุมต่างจากเรา และหวังว่าบทความนี้จะถ่ายทอดคำนิยามของการให้เกียรติอีกมุมมองหนึ่งที่อาจจะเหมือนหรือต่างจากที่คนอ่านมองอยู่ก็ได้

ขอบคุณที่สละเวลาอ่านครับ

--

--