รักตัวเอง

Chokchai Phatharamalai
odds.team
Published in
1 min readJan 4, 2021
Photo by Bart LaRue on Unsplash

ช่วงนี้อ่านหนังสือเรื่อง Self Therapy เล่มนี้เอา concept เรื่อง Internal Family System (IFS) มาอธิบายด้วยภาษาที่เข้าใจง่ายสำหรับคนที่ไม่ใช่นักจิตวิทยา

ถ้าให้เล่าคร่าว ๆ IFS คือการโมเดลโลกภายในจิตใจของเราให้เหมือนกับครอบครัวโดยมี I (เรียกว่าไอใหญ่) เป็นประธานและ i (เรียกว่าไอเล็ก หรือเสี้ยวส่วน) อีกมากมายเป็นสมาชิกในครอบครัว

บ่อยครั้งที่ผมสังเกตเห็นตัวเองว่ามีเสียงมากมายในหัวตีกัน อยากทำแบบนี้ แต่ก็ควรทำแบบนั้น ไม่ควรทำแบบนี้ น่าจะทำแบบนั้น เสียงเล็ก ๆ แต่ละเสียงนี้แหล่ะ ที่ถูกแทนด้วย i แต่ละตัวในโมเดลของ IFS

การเรียนรู้อย่างหนึ่งที่สำคัญที่ผมได้จากโมเดลนี้คือเข้าใจคำว่า ‘รักตัวเอง’ ลึกซึ้งขึ้น

บ่อยครั้งที่ผมได้ยินคำแนะนำให้รักตัวเองมากกว่านี้ เป็นมิตรกับตัวเองให้มากกว่านี้ อ่อนโยนกับตัวเองกว่านี้จะได้มีความสุข

ผมเห็นด้วยหมดใจเลย ปัญหาก็คือผมไม่รู้จะทำยังไง

IFS สอนให้ผมรู้จักกับกิจกรรมที่ใช้คุยกับเสี้ยวส่วนภายในแต่ละส่วนหรือ i แต่ละตัว

การฝึกฝนในกิจกรรมเปิดโอกาสให้ผมได้แสดงความอ่อนโยนกับเสี้ยวส่วนต่าง ๆ ได้ขอบคุณและแสดงความเห็นอกถึงใจ

พอฝึกไปเรื่อย ๆ ก็เริ่มคุ้นเคยกับเสี้ยวส่วนที่โผล่มาบ่อย ๆ ได้เห็นพวกเขาเติบโตขึ้นและก็ได้เห็นพฤติกรรมของเราเปลี่ยนแปลงไปในเวลาที่พวกเขาทำงานในชีวิตประจำวันของเรา

สภาพจิตใจผมเริ่มมั่นคงขึ้นผมเริ่มเลือกที่จะตอบสนองความต้องการต่าง ๆ ในชีวิตอย่างสมดุลย์ขึ้น ซึ่งส่งผลให้เหตุการณ์ที่ดำเนินไปในชีวิตผมมันเสถียรขึ้นตามมา

ต้องขอบคุณ Richard C. Schwartz คนคิด model IFS และ Jay Earley คนเขียนหนังสือ Self-Therapy ที่ย่อยให้ IFS มันง่ายในระดับที่คนไม่ได้เรียนจิตวิทยาอย่างผมเข้าใจได้

ขอบคุณพี่หลิงด้วยที่ ที่สอนให้ผมเข้าใจโมเดลนี้และยังแนะนำแนะนำให้ผมรู้จักกับหนังสือเล่มนี้อีกด้วย

สิ่งหนึ่งที่น่าทึ่งที่ผมได้เรียนจาก IFS คือเสี้ยวส่วนต่าง ๆ ของผมไม่จำเป็นต้องมีนิสัยเหมือนผม บางเสี้ยวส่วนมีนิสัยที่สุดโต่งมาก ชวนให้นึกถึงใครบางคนที่ผมหลีกเลี่ยงที่จะคุยด้วย

การฝึกอยู่กับ I และรับฟังเสี้ยวส่วนเหล่านั้น การฝึกที่จะรู้ตัวเวลาที่มีบางเสี้ยวส่วนเข้ามาแทรกแล้วตัดสินเสี้ยวส่วนอื่น ๆ บางทีเสี้ยวส่วนหลาย ๆ ตัวก็เริ่มตีกัน

การฝึกที่จะเข้าถึงทุกทุกเสี้ยวส่วนแล้วเชื่อหมดใจว่าทุกเสี้ยวส่วนมีเจตนาที่ดี ให้ความหวังผมว่าจริง ๆ แล้วคนบางคนที่ผมหลีกเลี่ยง ถ้าผมรู้จักเปิดใจ ผมอาจจะได้เห็นมุมดี ๆ ของคนเหล่านั้น และเราอาจจะเป็นเพื่อนกันก็ได้

พอเรามาถึงตรงนี้ภาพแวบหนึ่งที่มีคนถามคำถามระหว่างที่ผมกับภรรยากำลังสอนคลาส Scum master compass ก็ผุดขึ้นมา

เราจะทำยังไงกับคนที่มีปัญหามาก ๆ จนไม่สามารถจะโค้ชได้

แต่ละครั้งผมจะตอบไม่เหมือนกัน ด้วยภาษา ด้วยบริบทของคำถาม แต่ประเด็นสำคัญที่เหมือนกันในทุกคำตอบคือ “คนคนนั้นไม่มีจริง” แล้วผมก็จะลองสาธิตโดยการถามคนในห้องว่าใครเป็นคนที่มีปัญหาแบบว่าฉันไม่สามารถโค้ชได้ยกมือขึ้น

ผมทำแบบนี้มากี่ครั้งก็ไม่เคยเจอคนยกมือสักที

นั่นหมายความว่า ป้ายที่เขียนว่าคนมีปัญหา เป็นคำตัดสินที่เราเอาไว้ใช้แปะคนอื่น

ผมคิดว่าในฐานะโค้ชถ้าเราจะตัดสินใครเราไม่ควรใช้ไม้บรรทัดตัวเอง แต่ควรใช้ไม้บรรทัดของคนคนนั้นในการตัดสินตัวเค้าเอง งั้นแปลว่า คนมีปัญหา ไม่มีอยู่จริงในโลกการโค้ชของผม

สรุปแล้ว บทความนี้เปิดที่รักตัวเอง ปิดที่รักทุกคน คงเป็นเพราะ quote ประจำวันนี้ละมั๊ง

The greatest of human emotions is love. The most valuable of human gifts is the ability to learn. Therefore, learn to love. — UJ RAMDAS

Credits

--

--