รับรู้ความรู้สึก ต่างกับ การคาดเดา

Empathic sensing vs. intellectual guessing

Chokchai Phatharamalai
odds.team
Dec 11, 2023

--

Photo by Hannah Busing on Unsplash

เคยไหม กำลังเปิดประตูเข้าไปในห้องประชุมด้วยอารมณ์แจ่มใส แต่พอเปิดเข้าไปปุ๊บ ก็รู้สึกได้ทันทีว่าบรรยากาศมาคุ ในสถานการณ์นั้น เราจะรู้สึกได้เลยว่าอารมณ์ในร่างกายเรามันเปลี่ยนภายในไม่กี่วินาทีเลย ความแจ่มใสหายไป ความตึงเครียดคืบคลานเข้ามาเกาะกุมจิตใจ

มนุษย์มีระบบประสาทส่วนหนึ่งที่เรียกว่า mirror neurons หรือระบบประสาทสะท้อน ประสาทส่วนนี้ทำงานเหมือนกระจกสะท้อนความรู้สึก เป็นส่วนประกอบสำคัญที่ทำให้มนุษย์ถูกจัดอยู่ในสัตว์สังคม เพราะมันคอยปรับสารเคมีต่าง ๆ ในร่างกายของเราให้เป็นไปตามตัวอื่นๆ ในฝูง

รับรู้ความรู้สึก, empathic sensing

การรับรู้ความรู้สึกของอีกฝ่าย เป็นการใช้ระบบประสาทสะท้อนนี้แหละในการรับรู้อารมณ์ของอีกฝ่ายเวลาเราฟังเรื่องราวที่เค้าแบ่งปัน

ช่วงเวลาที่ผมใช้ ผมจะชัดเจนมากว่าความรู้สึกที่กำลังเกิดขึ้นในร่างกายผมนั้น ไม่ได้มีที่มาจากความรู้สึกนึกคิดของผมเอง แต่มาจากการสะท้อนความรู้สึกของอีกฝ่ายล้วน ๆ ทำให้ผมรู้ว่า ผู้พูดก็กำลังรู้สึกอย่างไร

บางคนเรียกทักษะนี้ว่าสัมผัสด้วยใจ

การคาดเดา, intellectual guessing

การคาดเดาเป็นการวิเคราะห์ความรู้สึกนึกคิดของอีกฝ่ายจากสิ่งที่ผมสังเกตได้ อาจจะเป็นน้ำตา, น้ำเสียงที่เปลี่ยนแปลง หรือท่าทางของร่างกาย ซึ่งบ่อยครั้ง ข้อสังเกตเหล่านี้จะกระตุ้นให้ผมเกิดความรู้สึก เช่น พออีกฝ่ายเล่าเรื่องเศร้าแล้วก็มีน้ำตาออกมา ภาพที่ผมเห็นกระตุ้นให้ผมเกิดความสงสาร แต่ความรู้สึกสงสารที่กำลังเกิดขึ้นภายในใจผม ไม่ได้เกิดจากการสั่นพ้องไปกับอารมณ์ของผู้พูด แต่เป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นเองของผมจากภาพที่ผมเห็น ซึ่งผมจะไปทึกทักเอาว่าผู้พูดหรือผู้ฟังคนอื่นกำลังรู้สึกสงสารเหมือนผมไม่ได้ เพราะนี่เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นภายในตัวผมเอง

อีกตัวอย่างที่ยากขึ้นคือเวลาที่เรื่องราวที่ผู้พูดแบ่งปันมามันทำให้ผมหวนนึกถึงประสบการณ์ในอดีตที่คล้ายคลึงกันขึ้นมา แล้วผมก็เกิดอารมณ์ร่วมกันไปกับเรื่องราวด้วย แต่อารมณ์ที่เกิดขึ้นมานี้ ก็เป็นการทำงานของผมจากประสบการณ์ในอดีตของผมเองอีก ซึ่งผมจะไปทึกทักว่าคนอื่นรู้สึกแบบเดียวกันกับผมไม่ได้ เพราะคนอื่นไม่ได้ผ่านประสบการณ์เดียวกันกับผมมา

วิธีแยกแยะ

จากตัวอย่างด้านบนเราน่าจะพอเห็นว่าสองอย่างนี้แยกออกจากกันยากพอสมควร สำหรับผมในวันนี้ ผมสังเกตว่าความรู้สึกที่กำลังเกิดขึ้นเป็นการสัมผัสด้วยใจก็ต่อเมื่อผมทบทวนดูแล้วมั่นใจว่าผมกำลังฟังด้วยใจที่เป็นเหมือนภาชนะที่ว่างเปล่า และด้วยทักษะนั้นอารมณ์ที่กำลังดำเนินไปน่าจะเกิดจากการทำงานตามธรรมชาติของระบบประสาทสะท้อน เลยเชื่อว่าอารมณ์ในภาชนะนี้เป็นอารมณ์เดียวกันกับที่ผู้พูดกำลังรู้สึก เป็นอารมณ์ที่ผมสัมผัสมาด้วยใจ

และเมื่อใดที่ผมรู้ตัวว่าต้นเหตุของอารมณ์ที่เกิดขึ้นถูกกระตุ้นขึ้นมา ก็แสดงว่าอารมณ์นี้เป็นของผมเอง และเมื่อใดที่ใจผมมีอารมณ์ของผมเองอยู่เต็ม ผมก็ไม่เหลือพื้นที่ให้อารมณ์ของผู้พูดอีก ในสถานการณ์แบบนั้นผมทำได้แค่คาดเดาอารมณ์ของผู้พูดจากสิ่งที่ผมสังเกตเห็น

สรุป

หลักของ NVC หรือการสื่อสารเพื่อสานสัมพันธ์ อยากให้อยู่กับการสัมผัสด้วยใจมากกว่าการคาดเดาอารมณ์ของผู้พูด

ผมพบว่าพอผมทำงานกับตัวเองมากขึ้น ๆ การแยะแยะว่าอารมณ์ไหนเป็นของผมเอง และอารมณ์ไหนที่ผมสั่นพ้องมาก็ง่ายขึ้น ๆ อย่างเป็นธรรมชาติ อย่างไรก็ดี ในวันนี้ที่มันยังแยกแยะได้ยาก ผมก็เผื่อใจไว้เสมอว่าผมอาจจะเข้าใจผิด อารมณ์ที่ผมคิดว่าสั่นพ้องมาอาจจะเกิดจากอดีตของผมที่กำลังทำงานโดยที่ผมไม่รู้ตัวก็ได้ ฉะนั้นก็หมั่นเช็คกับผู้พูดบ่อย ๆ ว่าเค้ารู้สึกอย่างนี้หรือเปล่านะ และให้ความเคารพกับความรู้สึกที่ผู้พูดแบ่งปันออกมาไม่ว่ามันจะตรงใจเราหรือไม่ก็ตาม ถ้าทำได้แบบนี้ การสื่อสารก็น้าจะช่วยกระชับความสัมพันธ์ของผมกับผู้พูดและเปิดโอกาสให้ผมได้รับรู้ประสบการณ์ที่กว้างขึ้นกว่าที่ผมเคยเจอมาเอง

บทความที่เกี่ยวข้อง

--

--