รู้จักการทำ Retrospective ด้วย Good, Bad, Try

Chonlasith Jucksriporn
odds.team
Published in
2 min readAug 20, 2019

ท่า Retrospective ยอดนิยมอย่าง Good, Bad, Try ที่ประกอบด้วยส่วนหลัก ๆ คือการแชร์ความรู้สึกและไอเดียบนขอบเขตที่ว่าตลอดช่วง Sprint ที่ผ่านมาพบเจอเรื่องราวอะไรดี ๆ บ้าง ผ่าน Good และพบเจอเรื่องราวอะไรที่ไม่ดี อยากจะแก้ไข ผ่าน Bad และสุดท้าย อยากจะลองทำอะไรใหม่ ๆ ที่ไม่เคยทำบ้าง ผ่าน Try พอทุกอย่างถูกประกอบกันกลายเป็นกิจกรรมในชื่อ Good, Bad, Try หลาย ๆ ครั้งความตั้งใจเดิมทีก็ถูกส่งไปไม่ถึงผู้เข้าร่วมกิจกรรม เหลือเพียง ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร และจะทำอะไร เมื่อจิตวิญญาณของกิจกรรมไปไม่ถึง เราจะคาดหวังอะไรกับผลลัพธ์ของกิจกรรมกันได้อีก ที่ร้ายที่สุดคือ เหลือเพียงแค่คำพร่ำบ่นว่า Good, Bad, Try อีกแล้วเหรอ

มันคงจะดีที่เราจะทำความรู้จักกิจกรรมนี้อีกครั้ง ผสมกับมุมมองของผมที่มีต่อกิจกรรมนี้ลงไปอีกนิด น่าจะทำให้คนเข้าร่วมกิจกรรม รวมถึง Facilitator ของกิจกรรม ได้เห็นความสำคัญของกิจกรรมที่ดูง่าย ๆ อย่าง Good, Bad, Try ขึ้นมาอีกนิด

Good

หลัง ๆ ผมมักจะเรียก Good ว่า I Love This เพราะว่าผมเชื่อว่าการที่เราให้ความรักกับสิ่งดี ๆ ถึงแม้สิ่งดี ๆ นั้นจะเล็ก มันจะโตขึ้นและมีคุณค่าต่อจิตใจ

การมองโลกในแง่ร้าย ย่อมส่งผลลัพธ์ที่เป็นด้านลบต่อผู้มอง และผลลัพธ์นั้น ย่อมส่งผลกระทบกับทีม รวมไปถึงงานที่ส่งมอบ ดังนั้น การเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อกระบวนการทำงาน เพื่อนร่วมงาน ทีม ไปในด้านบวก ถึงแม้เพียงเล็กน้อย ย่อมส่งผลทางจิตวิทยาต่อความรู้สึกและทีมเวิร์คที่ดีกว่ามองโลกในแง่ร้ายแน่นอน

เมื่อเราได้มีโอกาสหยุดทบทวน แล้วมองย้อนกลับไปตลอดช่วง Sprint ที่ผ่านมาถึงเรื่องราวดี ๆ มันย่อมเป็นช่วงเวลาเล็ก ๆ ที่ทำให้เราสามารถรู้สึกดื่มด่ำกับความรู้สึกดี ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นการที่สามารถส่งมอบงานได้ทันเวลา มีเพื่อนซื้อน้ำมาให้ Product Owner ชื่นชมถึงผลลัพธ์จากการทำงาน หรือแม้แต่เรื่องเล็ก ๆ อย่าง ปากกาไวท์บอร์ดใหม่เขียนลื่นมาก และไม่มีกลิ่นเลย

เมื่อเราเห็นเรื่องดี ๆ ผ่านมุมมองของเราแล้ว เมื่อเราแชร์ให้เพื่อน ๆ ในทีมได้รับรู้ เรื่องบางเรื่องอาจจะเป็นเรื่องดี ๆ ที่เพื่อน ๆ ในทีมไม่เคยสังเกตเห็นมาก่อนก็ได้ และแน่นอน มันช่วยสร้างพลังทางบวกให้กับทีม

เรื่องดี ๆ เหล่านั้น เราก็ควรรักษาเอาไว้ใน Sprint ถัด ๆ ไปเพื่อรักษาพลังด้านบวกให้อยู่กับทีมไปตลอด

Bad

โดยส่วนตัวผมไม่ค่อยชอบคำนี้เท่าไหร่ เพราะมันชี้นำให้เรามองถึงแต่สิ่งแย่ ๆ มองเป็นด้านลบเสมอ ๆ หลังจากที่ผมได้มีโอกาสได้ไป co-train กับ ODDS หลาย ๆ คน ผมก็ได้แนวคิดที่น่าสนใจกว่า นั่นคือ สิ่งที่เราไม่ชอบ มันคือโอกาสให้เราได้พัฒนาให้ดีขึ้น

ดังนั้น ในเรื่องนี้ ผมมักจะเรียกมันว่า Chance to Improve สิ่งที่เราไม่ชอบ สิ่งที่เราผิดพลาดไป ลองให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ลองคิดวิธีที่จะทำให้มันดีขึ้นกว่าเดิม (Constructive) ไม่ใช่เพียงแค่พร่ำบ่น (Negative) โดยไม่ลองมองหาทางออกจากปัญหาที่เผชิญอยู่

Try

ในเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่ท้าทายมากสำหรับองค์กรที่มีวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นแบบล้มไม่ได้ เพราะสำหรับผม ผมมักจะเรียกมันว่า To be Experimented

ในองค์กรที่อยากจะเปิดรับการเปลี่ยนแปลง หากวัฒนธรรมองค์กรไม่เอื้อ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของ KPI หรือ Standard ก็ตาม โอกาสที่จะให้พนักงานในองค์กรกล้าที่จะออกจากกรอบการทำงานเดิม ๆ มาทดลองอะไรใหม่ ๆ ค้นหาวิธีใหม่ ๆ ก็คงเกิดขึ้นได้ยาก เพราะทุกคนก็ล้วนแต่จะโฟกัสแต่ KPI หรือ Success อย่างเดียว

ในวัฒนธรรมที่เป็น Growth Mindset เข้มแข็ง การเปิดโอกาสให้ล้มได้ เป็นสิ่งจำเป็น แต่ก็ไม่ได้หมายถึงการที่จะให้ล้มซ้ำ ๆ แบบเดิม ๆ ซ้ำไปซ้ำมาไม่มีที่สิ้นสุด แต่เป็นการล้มที่ล้มแล้วเรียนรู้จากสาเหตุ เพื่อป้องกันการล้มซ้ำ ๆ โดยเฉพาะล้มด้วยสาเหตุเดิม ๆ

จั๊วะเคยพูดประโยคหนึ่งในงาน Agile สักงาน ผมฟังแล้วผมชอบมาก แต่ผมจำประโยคเป๊ะ ๆ ไม่ได้ คือ การที่คุณมีประสบการณ์ทำงาน 12 ปี คุณต้องแยกให้ออกระหว่าง คุณมีประสบการณ์ทำงาน 1 ปี 12 ครั้ง หรือคุณมีประสบการณ์ทำงาน 12 ปี จริง ๆ ถ้าเป็นแบบแรก คุณอาจจะไม่ได้เรียนรู้อะไรมากเท่าไหร่ เมื่อเทียบกับเวลาที่คุณได้เสียไป

ดังนั้น Try หรือ To be Experimented มันเลยเป็นเรื่องของการพยายามเปิดวัฒนธรรมองค์กรให้กว้างขึ้น เพื่อให้ทีมสามารถได้เติบโต และแข็งแรงขึ้นได้เอง

กิจกรรม Good, Bad, Try สำหรับผม มันเลยไม่ใช่เป็นแค่กิจกรรมที่แค่จะมาหา Action Item ที่ต้องทำแล้วจบ ๆ กันไป แต่มันยังช่วยให้เราได้มองภาพย้อนกลับไปเพื่อที่จะดื่มด่ำกับความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ และเตรียมความพร้อมที่จะพัฒนาตัวเอง พัฒนาทีม พัฒนาวิธีการทำงานร่วมกัน ใน Sprint ถัด ๆ ไปด้วยเช่นกัน

--

--