สนับสนุนมหาลัย ได้อะไรมากกว่าที่คุณคิด

Thanthiya Phatharamalai
odds.team
Published in
2 min readSep 10, 2017

เมื่อสองวันที่แล้ว บริษัทได้ต้อนรับนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ น้องๆ ไม่ได้แค่มาเยี่ยมชมบริษัท แต่ได้ทำ workshop ที่พวกเราเตรียมไว้ให้ด้วย เป็นการมาดูงานวันเสาร์เพราะจะได้ไม่กระทบงานของพวกเรา และได้ให้เวลาน้องๆ อย่างเต็มที่ ดังนั้นการอธิบายวิธีการทำงานของพวกเรา ไม่ใช่แค่การเปิด slide แต่มันคือการทำเป็นตัวอย่างให้ดู และให้น้องได้ลงมือทำจริงๆ ในวันนั้นพวกเรารู้สึกปลื้มปริ่มที่ได้แชร์ให้คนเพิ่มอีกกลุ่มหนึ่งรู้ว่าพวกเราเจ๋งยังงัย และน้องๆ เองก็ปลื้มไม่แพ้กัน เรารู้สึกได้

เนื่องจากโดยปกติที่บริษัทจะตอบรับการเยี่ยมชมจากภายนอกโดยตลอด ไม่เฉพาะมหาวิทยาลัย แต่องค์กรต่างๆ ก็เคยมาดูงาน เราจึงไม่เคยรู้เลยว่า ปกติมันเป็นเรื่องยากที่จะเปิดให้คนอื่นเข้ามาเยี่ยม เพราะมันขึ้นกับเวลางาน ลักษณะองค์กร นโยบาย ขนาดสถานที่ และการให้ความร่วมมือของคนที่อยู่ในบริษัท จึงเป็นเหมือนทำให้บริษัทเกิดความลำบากมากกว่าที่จะได้ประโยชน์

เราได้ช่วยน้องๆ จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ในการหาที่เยี่ยมชมงานเพิ่มเติมเพราะเค้าโดน cancel ไป การมาจากนครศรีธรรมราชทำให้ต้องใช้เวลาทุกนาทีอย่างมีค่า ตอนแรกก็นึกว่าจะหาง่ายๆ เพราะมี connection เยอะ แต่ปรากฏว่ามันไม่ง่ายเลย ติดต่อไปเกือบ 10 ที่ บางที่สถานที่ไม่พอสำหรับจำนวนนักศึกษา บางที่ไม่สะดวกพอดี (เพราะเรากำหนดวันเวลาจะไปที่เป๊ะมาก และบอกในเวลากระชั้นชิดเกินไป) บางที่ไม่มีนโยบาย เกือบยอมแพ้แล้ว สุดท้ายมาลงตัวที่ Taskworld ทำให้น้องๆ โชคดีมากๆ ที่ได้เห็นบริษัทอีกที่นึงที่เจ๋งมากๆ แต่ก็ต้องขอบคุณทุกๆ ที่ ที่พยายามจะให้การสนับสนุน พวกเราขอบคุณจากใจ และบอกบางที่แล้วว่าจะกลับไปรบกวนแน่นอน

สิ่งที่อยากแชร์จากเรื่องนี้คือ อยากให้ทุกบริษัทเห็นความสำคัญของการสนับสนุนมหาวิทยาลัย ทั้งในเรื่องการเยี่ยมชมงาน การรับนักศึกษาฝึกงาน การกลับไปให้ความรู้ที่มหาลัย เพราะถ้าไม่มีบริษัทต่างๆ น้องๆ ก็ไม่มีทางได้เห็นของจริง และนี่เป็นสิ่งหนึ่งที่เราจะตอบแทนมหาลัยที่เราจบมา

จริงๆ แล้ว สิ่งที่ทางบริษัทได้จากเรื่องเหล่านี้ ก็มีอยู่มาก การให้น้องๆ มาเยี่ยมชม ทำให้บริษัทได้โฆษณาไปในตัว หรืออาจจะได้ feedback เพื่อมาปรับปรุงให้ดีขึ้น การรับน้องฝึกงานก็เช่นกัน มันไม่ใช่ภาระ แต่มันเป็นประโยชน์มาก เพราะมันคือการสัมภาษณ์ที่ใช้เวลา 2–3 เดือน เราจะได้เห็นเด็กคนนึงในทุกๆ ด้าน มันดีกว่าการคุยกัน 2–3 ชั่วโมงแน่นอน ตัวน้องเองก็เหมือนกัน ก็จะได้ศึกษาว่าสรุปแล้วเค้าชอบที่จะทำงานแบบนี้มั้ย การทำงานด้วยกัน 2–3 เดือนแล้วจากกัน มันไม่เจ็บเท่าตัดสินใจว่าจะอยู่ด้วยกันไปตลอดแล้วอยู่ไม่ได้ ทุกบริษัทก็คงเบื่อกับเหตุการณ์แบบนี้ ใครๆ ก็อยากจะได้คนที่อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขและไม่สร้างปัญหา ยิ่งเราสอนน้องฝึกงานให้ทำงานได้จริงมากเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งได้เห็นความสามารถของน้องมากเท่านั้น เราก็ตัดสินใจได้ง่ายว่าน้องเหมาะจะทำงานด้วยกันกับเรามั้ย และนอกจากนั้น การมีนักศึกษาฝึกงาน ทำให้เรามี list ของ candidate เก็บไว้ เวลาเราต้องการคน เราก็จะมาที่กลุ่มนี้ก่อน เรียกว่าแทบไม่ต้องพึ่งพาเว็บไซต์จัดหางานเลย ทุกอย่างเกิดเพราะ relationship ดีๆ ที่เราสร้างกับสังคม

และอีกอย่างที่สำคัญที่น้องๆ ในทีมจะได้คือ การที่มีน้องฝึกงาน จะทำให้น้องๆ ในทีมโตขึ้นเพราะต้องดูแลคนที่เด็กกว่า จะเห็นข้อเสียตัวเองได้ชัดขึ้นเพราะได้เห็นข้อเสียของคนอื่น บางทีเค้าจะเรียนรู้ได้เองว่าเค้าควรจะทำงานยังงัย เพื่อให้น้องๆ ดูเป็นตัวอย่างได้ และเรียนรู้ว่าควรทำงานอย่างไรให้คนอื่นเรียนรู้ได้ง่าย และร่วมงานด้วยง่าย ไม่ใช่ใครๆ ก็แตะอะไรไม่ได้ ยกเว้นตัวเองคนเดียว

ส่วนตัวก็หวังเล็กๆ ที่จะให้ทุกบริษัท มีนโยบายการคืนกำไรสู่สังคม ใส่ mindset นี้ให้กับสิ่งแวดล้อมในการทำงาน ให้ทุกคนเคยชินกับการแบ่งปัน ไม่รู้สึกเหนื่อย แต่รู้สึกดีที่ได้เป็นผู้ให้ ในระยะยาวมันจะทำให้มีพลังงานในการทำงานและการใช้ชีวิต ไม่ใช่ทำงานเพื่อเลี้ยงชีพไปวันๆ เท่านั้น มันจะดีกับบริษัทแน่นอน การที่บริษัทเต็มไปด้วยทีมงานที่มีน้ำใจให้กับผู้อื่น ย่อมทำให้สิ่งแวดล้อมในการทำงานดีไปด้วย

และถ้าใครคิดไม่ออกว่าในชีวิตเราจะช่วยพัฒนาประเทศชาติยังงัย นี่เป็นอีกหนึ่งหนทางที่คุณทำได้ โดยที่ไม่ต้องเป็น หมอ พยาบาล ทหาร หรือตำรวจ

Pronto Group, we are always hiring.

--

--

Thanthiya Phatharamalai
odds.team

Agile Coach ผู้ชื่นชอบในการทำ Organization Transformation องค์กรไหนก็ได้ เอามา เราสู้!!!