สรุปบทเรียนจากวิชา “รักตัวเอง”
ครั้งแรกที่ได้ยินว่าในวันอังคารนั้น จะได้เรียนเรื่องนี้ เราก็แอบตกใจว่า “มันมีวิชานี้ด้วยหรือ ?” หรือการมีตัวตนของวิชานี้เพราะ “เรารักตัวเองไม่มากพอหรือเปล่า”
วิชานี้เกิดขึ้นแบบ Online Meeting โดยพี่จั๊วะ Chokchai Phatharamalai ผู้สอนของเราในคาบนี้ได้เริ่มจากในทุกคนทักทายกัน พร้อมกับเปิดหน้ากล้อง และเปิดไมค์ตลอดทั้งกิจกรรมนี้ กฎสำคัญที่เราจะเอามาใช้ในกิจกรรมนี้คือ Chatham House Rule
เรื่องราวทุกอย่างที่ทุกคนเล่าออกมาหรือแบ่งปัน จะอยู่กับในช่วงเวลากิจกรรมนี้เท่านั้น หากต้องการนำมาเผยแพร่ จะต้องมีการขออนุญาตเจ้าของเรื่องราวนั้นก่อน
โดยในบทความนี้ เรื่องราวที่ทุกคนจะได้อ่านได้มีการขออนุญาตเจ้าของเรื่องเรียบร้อย และเนื้อหาบางส่วนจะปรับเปลี่ยนให้ใกล้เคียงกับเจ้าของเรื่อง
หลังจากการทำความรู้จักกัน พี่จั๊วะให้ทุกคนแบ่งกลุ่มกันประมาณ 3 คน โดยให้ทุกคนยกตัวอย่างเหตุการณ์ในชีวิตที่เราพบกับปัญหาพร้อมกับทางเลือกหลายทาง ราวกับว่ามีเสียงของใครหลายคนในหัวของเราทะเลาะกันอยู่
ส่วนมากเหตุการณ์ดังกล่าว มาจากเรื่องงานเร่งด่วนที่ต้องรีบตัดสินใจ, ตัดสินใจในการเลือกเรียนต่อ หรือแม้กระทั่งตัดสินใจเลือกซื้อของในช่วง Sale
ถ้าใครยังนึกไม่ออก อยากให้นึกถึงการ์ตูนเรื่อง Inside Out ที่เปรียบจิตใจเราเหมือนแผงวงจรหลักขนาดใหญ่ และมีคนแต่ละบุคลิกมาควบคุมความคิดและการตัดสินใจเรา
สิ่งที่จะมาอธิบายเรื่องนี้ได้ดีที่สุด คือ IFS (Internal Family System) ตัวตนย่อยที่อยู่ภายในจิตในเรานั่นเอง พวกเขาคือครอบครัวเล็ก ๆ ที่อาศัยอยู่ในจิตใต้สำนึกของคุณ และพวกเขาจะมีอุปนิสัยเฉพาะตัว เช่น เป็นคนรอบคอบ, เป็นคนขี้ระแวง หรือแม้แต่เป็นคนเจ้าอารมณ์
พี่จั๊วะเลยถามต่อว่า เมื่อพวกครอบครัวเล็ก ๆ เหล่านี้ส่งเสียงออกมาในหัว มันเงียบลงและหายไปได้อย่างไร
มีหลายคำตอบมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการนั่งสมาธิ, การพยายามคิดทบทวนตัวเอง หรือแม้กระทั่งการออกกำลังกาย ใช้เวลากับตัวเอง ซึ่งก็ไม่มีทั้งคำตอบที่ถูกหรือผิด
ต่อมา พี่จั๊วะได้ขออาสาสมัคร 1 คน เพื่อสาธิตเหตุการณ์เวลาที่ครอบครัวเล็ก ๆ ในหัวของเรานั้นทะเลาะกัน
พี่เอ (นามสมมติ) ได้มาเป็นอาสาสมัครในครั้งนี้พร้อมกับเหตุการณ์ที่ตัวเองที่กำลังเผชิญอยู่ นั่นคือ กำลังจะซื้อรถยนต์คันใหม่
แน่นอนว่ารถยนต์นั้นเป็นของชิ้นใหญ่ และราคาที่สูง เลยทำให้มีปัจจัยหลายอย่าง ที่ต้องตัดสินใจ
เสียงที่พี่เอได้ยินและตีกันในหัว มีทั้งหมด 3 เสียง “รถสวย”, “มันต้องมี”, “ไม่คุ้ม”
หลังจากนั้นก็ให้เพื่อน 3 คนในห้องนั้น พร้อมกับคำพูดคนละคำไปให้พูด เปรียบเสมือนว่า พวกเขาคือตัวตนย่อยที่ทะเลาะกันในหัวของพี่เอ
รถสวย! มันต้องมี! ไม่คุ้ม! รถสวย! มันต้องมี! ไม่คุ้ม! รถสวย! มันต้องมี! ไม่คุ้ม! รถสวย! มันต้องมี! ไม่คุ้ม!
ปฏิกิริยาของพี่เอนั้น พี่เอกบอกว่า ยังคงมีเสียงเหล่านี้พูดเหมือนเดิม
และก็ได้เปลี่ยนจากพูดพร้อมกัน เป็นพูดทีละคน
รถสวย! รถสวย! รถสวย! รถสวย! รถสวย!
มันต้องมี! มันต้องมี! มันต้องมี! มันต้องมี! มันต้องมี!
ไม่คุ้ม! ไม่คุ้ม! ไม่คุ้ม! ไม่คุ้ม! ไม่คุ้ม! ไม่คุ้ม!
แต่ทันใดนั้น ดันมีเสียงที่ 4 ออกมาในหัวของพี่เอ
รับผิดชอบ …
เป็นเสียงที่ออกมาเบา ๆ จากที่พี่เอเล่า แต่มันทำให้พี่เขาสะท้านไปชั่วครู่ และจากนั้นมันเริ่มชัดขึ้น
มันไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ที่เขาเพิ่งออกมา แต่มันเป็นเพราะตัวตนตัวนี้มันไม่ได้ถูกใส่ใจ หรือถูกพูดคุยด้วย เมื่อเวลาที่เราสูญเสียการควบคุมจิตใจของเรา เขาจะออกมาแย่งชิงพื้นที่ตัวตนตัวอื่น
จริง ๆ ตัวตนในจิตใจของเรา ก็เหมือนครอบครัวของเรา ที่ทุก ๆ คนต้องการการดูแลและเอาใจใส่ เรามักเข้าใจว่าการดูแลใครคนใดคนหนึ่ง หรือสนใจแต่ตัวตนที่เราคิดว่าเขาดี และทิ้งเขาไว้ข้างหลังนั้น เขาจะแอบร้องไห้อยู่ภายใต้ส่วนใดส่วนหนึ่งของจิตใต้สำนึกเรา และเขาก็ยังคงร้องไห้ จนกว่าเขาจะได้สิ่งที่ต้องการ
บางครั้ง เราเองก็ไม่สามารถที่จะตามใจทุกคนในครอบครัว หรือตัวตนในจิตใต้สำนึกของคุณ เหมือนเวลาที่เราทำให้น้องชาย หรือน้องสาวของเราร้องไห้ แต่เมื่อใดก็ตามที่คุณมีเวลามากพอที่จะดูแลพวกเขา ก็อย่าลืมพูดคุยและปลอบหัวใจดวงน้อย ๆ ของพวกเขา
หลังจากนี้คำถามที่ควรถามนั้น ไม่ใช่ว่า “คุณรักตัวเองแล้วหรือยัง ?” แต่ควรจะถามว่า
“คุณรักตัวเองเป็นหรือยัง ?”