สรุปบทเรียน 7 Habits of Highly Effective for Agile Team

Napatsakorn Pianchana
odds.team
Published in
3 min readFeb 1, 2024
taken photo by Napatsakorn Pianchana ลืมไปเลยสิ่งนี้คืออัลไลลล

ในช่วงที่ผมเรียนมหาวิทยาลัยปี 2 มีวิชาหนึ่งที่ผมทุ่มเทแรงกายแรงใจให้กับมันมาก นั่นก็คือวิชา Analogue electronic เป็นวิชาที่ร่ำลือกันว่ายากมาก ซึ่งก็ยากจริงๆ อะนาล็อคเป็นวิชาเกี่ยวกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นแบบอะนาล็อค ซึ่งปัจจุบันไม่ค่อยถูกนำมาใช้แล้ว เราเรียนเกี่ยวกับคลื่นสัญญาณ ศักย์ไฟฟ้า กระแสไฟฟ้าของวงจรเล็กๆ ที่อยู่ในนั้น วิชานี้เป็นวิชาที่ต่อเนื่องมาจากวิชา Electric circuit ซึ่งผมได้เกรด D มาแบบคาบเส้น บวกกับตอนนั้นเกรดเคมีก็ได้ D มาเหมือนกัน ผมมองไม่เห็นซักนิดว่าเราจะไปถึงเป้าหมายของการเข้ามาเรียนในคณะวิศวกรรมไฟฟ้านี้ได้ยังไง เพราะยิ่งเรียนก็ยิ่งรู้สึกว่ายาก และเดี๋ยวคงต้องกลับมาเรียนแก้อีกแน่

ในขณะที่ผมกำลังครุ่นคิดเรื่องเหล่านี้ อาจารย์ของผมก็พูดประโยคหนึ่งขึ้นมา “คุณต้อง Begin with the end in mind สินักศึกษา” นึกภาพว่าหลังจากจบคลาสเราจะได้อะไร และหลังจากเรียนจบเราต้องการอะไร แล้วก็พาตัวเราไปสู่เป้าหมายนั้นให้ได้ นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมได้ยินเกี่ยวกับ 7 Habits อุปนิสัยของคนที่ประสบความสำเร็จ ผมรู้เพียงว่ามันเป็นแค่หนังสือเล่มหนึ่งที่อาจารย์แนะนำเท่านั้น

จนกระทั่ง 1 ปีที่ผ่านมาเป็นปีที่ผมตัดสินใจหันหลังให้กับสิ่งที่ผมเรียนมาเดินหน้าหาโอกาสใหม่ๆ ผมทิ้งดีกรีวิศวะไฟฟ้า แล้วมาหัดเขียนโค้ด และเริ่มอาชีพคนทำซอฟแวร์แบบที่ผมตั้งใจ ประมาณสิ้นเดือนสิงหา(2023) ที่ผ่านมาผมได้ข่าวว่าพี่จั๊วะศาสดาของคนธรรมดากำลังจะเปิด class 7 Habits of Highly Effective Agile Team ผมไม่รีรอรีบสมัครเรียน นี่เป็นหนึ่งใน modules ของ Scrum master class ที่พี่จั๊วะและพี่เก๋ตั้งใจจะเปิดสอนให้กับคนที่อยากทำงานเป็น Scrum master

Key Takeaway

  • The Root
  • Interactive
  • Maintainable

พี่จั๊วะบอกว่าถ้าให้เราเปรียบ 7 Habits กับบางสิ่งบางอย่างเราสามารถเปรียบ 7 Habits ได้ว่ามันคือต้นไม้ 3 อุปนิสัยแรกมันก็คือราก ที่เรา “ทำ” และ “รู้สึก” ได้ด้วยตัวของเราเอง ที่สำคัญมันเป็นสิ่งที่คนอื่นไม่มีทางเห็น

Photo by Norbert Kaźmierczak on Unsplash

ในโลกของจิตใจ เราสนใจสิ่งไหนสิ่งนั้นจะโตขึ้นเรื่อยๆ นี่เป็นสัจธรรม

  1. Be proactive อย่าทำตัวเป็นรีโมท ให้ใครกดก็ได้ บ่อยครั้งเหลือเกินที่เราถูกบางสิ่งบางอย่างมากดเรา มาบีบเราให้เรากังวลถึงเรื่องที่เราควบคุมไม่ได้แต่เราไม่รู้ว่ามันคืออะไร กังวลไปก็ไร้ประโยชน์ พี่จั๊วะเปรียบเทียบการมานั่งกังวลเหมือนการนั่งโล้ชิงช้า สิ่งนี้ทำให้เรามีอะไรให้ทำแต่โล้ไปก็แกว่งกลับมาที่เดิมไม่มีประโยชน์ให้เรา “ต้องทำ” บางอย่างจนลืมไปว่า ใครกันนะที่จะมาบีบบังคับเราได้ ไม่มีนี่นา การเป็นคนที่ proactive มันจึงบอกเราว่า จงรับผิดชอบสิ่งที่เราทำลงไปด้วยตัวเองซะ ควบคุมสถานการณ์ให้ได้ เพราะเราเองเป็นคน “เลือกที่จะทำมัน” จงจดจ่อเฉพาะสิ่งที่เราควบคุมได้ เมื่อเรามีสติ ระลึกอยู่เสมอว่าเราทำอะไรอยู่ จะไม่มีใครทำอะไรเราได้เลย
  2. Begin with the end in mind ให้ฝันถึงสิ่งที่ต้องการ แล้วขับเคลื่อนชีวิตเพื่อให้เกิดสิ่งนั้นขึ้น ผมเข้าใจว่านี่เป็นอีกหนึ่งวิธีในการจัดการความฝันและการใช้ชีวิต ซึ่งวิธีของการฝึกสิ่งนี้คือการให้เราลองหลับตานึกถึงวันเกษียณอายุการทำงานหรือวันที่เราใช้ชีวิตจนเรารู้สึกว่าเราประสบความสำเร็จกับสิ่งที่เราทำแล้ว ให้ลิสต์ว่าในความฝันนั้นมี ใคร บ้างที่จะมาร่วมแสดงความยินดีกับเราแล้วเราอยากบอกอะไรกับพวกเขาแต่ละคน และอย่างที่สองลองลิสต์ในมุมของความเป็นจริงจะมีใครบ้างนะที่มาอยู่กับเราจริงๆ นำทั้งสองลิสต์มาเทียบกัน
    สิ่งไหนก็ตามที่ทำแล้ว contribute ให้เราเดินทางไปถึงเป้าหมาย สิ่งนั้นเรียกว่า “สำคัญ”
  3. Put First things first หลายครั้งที่เราใช้ชีวิตเรื่อยเปื่อย นอนเล่นติ๊กต็อกตอนเพิ่งลืมตาบนเตียง จนเราไม่รู้ว่าจะทำอะไรก่อนดีในวันนี้ อุปนิสัยข้อดีบอกว่าเราควรที่จะฝึกจัดลำดับความสำคัญ ยกตัวอย่างโมเดลง่ายๆ เฟรมเวิร์กบริหารเวลาของ Eisenhower Matrix
    จงทำกิจกรรมที่ด่วนและสำคัญ วางแผนกิจกรรมที่ไม่ด่วนแต่สำคัญ มอบหมายงานที่ด่วนแต่ไม่สำคัญให้กับคนอื่นทำบ้าง เพราะมันเป็นแค่เรื่องยุ่งๆ ที่เราไม่ต้องทำเองก็ได้ และสุดท้ายจงโยนสิ่งที่ไม่ด่วน และไม่สำคัญออกไปซะ
  4. Think win-win ความเชื่อว่าเราจะได้ในขณะเดียวกันก็จะมีทางให้อีกฝ่ายได้ในสิ่งที่ต้องการเช่นกัน ตรงกันข้ามกับ lose — win การไม่ยอมให้คนอื่นได้โอกาสเพราะกลัวตัวเองจะเสียบางอย่างไป การคิดแบบ win-win จึงเป็นการที่ทั้งสองฝ่ายละทิ้งวิธีการ และสร้างสรรค์วิธีการใหม่เพื่อให้ “เรา” ได้ในสิ่งที่ต้องการ ขอโน้ตไว้อีกว่า เราควรพาตัวเราให้ไปสู่ longterm win-win ให้ได้ หมายความว่าจงเลือกหนทางที่แม้จะผ่านไปนานเราก็จะสามารถยอมรับวิธีการเดียวกันนี้ได้ เพราะถ้าหากเรายอมแบบส่งๆ ไปก่อนเพื่อให้อีกฝ่ายสบายใจผลลัพธ์ย่อมเกิดเป็นความสัมพันธ์แบบ lose-lose ในที่สุด
  5. Seek first to understand, then to be understood ก่อนจะอยากให้ใครมาเปิดใจฟัง และเข้าใจคุณ ตัวคุณเองก็ควรหาพื้นที่ในการฟัง และเข้าใจเขาก่อน เพราะสุดท้ายคนเหล่านั้นไม่สนใจหรอกว่าคุณจะรู้มากแค่ไหน แต่เขาจะสนใจก็ต่อเมื่อรู้ว่าคุณแคร์คนเหล่านั้นมากแค่ไหน สิ่งนี้นำไปสู่ Empathic listening เป็นสกิลในการฟังผู้อื่นอย่างเห็นอกเห็นใจ
  6. Synergize การรวมกัน การประสานกัน การร่วมมือกันกับคนอื่นอย่างสร้างสรรค์ ยอมรับในคุณค่าของตนเอง แต่ก็ไม่หลงระเริง และภูมิใจในความสำเร็จที่ผ่านมามากจนเกินไป จนลืมที่จะฝึกฝนตัวเองซึ่งนำไปสู่ข้อสุดท้าย จะเห็นว่าอุปนิสัยข้อที่ 4 5 และ 6 นั้นเป็นอุปนิสัยที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นทั้งสิ้น เราจึงเรียก 3 ข้อนี้ว่าเป็น “Interactive Habits”
  7. Sharpen the saw เราตีความ Sharpen นี้ว่ามันคือ Goal ที่เราวางไว้ตั้งแต่ Begin with the end in mind ซึ่งเก่งไม่เก่งเราก็อาจจะทาบวัดมันด้วยไม้บรรทัดของเราเองก่อน อย่างไรก็ตามถ้าเราอยากให้เราไปถึงฝันที่เราวาดไว้เราก็ควรที่จะลับคมขวานของเราให้บ่อย เพราะศิลปินที่ดีจะฝึกฝนตัวเองแม้ในยามที่หลับตา

ถ้าเราอยากให้สิ่งที่เราสั่งสมมาถูก maintain ไว้อย่างดี เมื่อถึงเวลาที่ต้องใช้ก็หยิบออกมาได้ไม่ขัดข้อง เราก็ควรฝึกฝนอุปนิสัยข้อที่ 7 อย่างสม่ำเสมอ

source: https://asana.com/resources/eisenhower-matrix

Compare with Agile Team

  1. Be proactive เปรียบได้กับ Daily Meeting เพราะเป็นพิธีกรรมที่ทีมจะต้องมาอัพเดทว่า เมื่อวานทำอะไรไปบ้าง วันนี้จะทำอะไร และมีสิ่งไหนที่เป็นอุปสรรคในการทำงานของคนในทีมบ้าง การมีความ Be proactive นอกจากจะหมายถึงการมีสตินึกคิดอยู่กับสิ่งที่ทำ ก็อาจหมายความว่าทีมควรที่จะยื่นมือเข้าไปแก้ไขปัญหา รวมไปถึงการที่ทีมจะต้อง Be proactive ต่อเป้าหมายของ Product owner ด้วย
  2. Begin with the end in mind เปรียบได้กับ Sprints Planing เพราะเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นของการตั้งคำถามว่า Why, What, How, How much ว่าสุดท้ายแล้วใน Sprint นี้ อะไรที่สามารถสร้าง Values ให้กับ Product owner ได้ จึงเป็นความร่วมมือของทีม และ Product owner ในการช่วยกันร่างภาพสุดท้ายของสิ่งที่ปรารถณาให้ออกมาเป็น Card แต่ละใบ
  3. Put First Things First เปรียบได้กับการทำ Sprints Planing เช่นเดียวกันเพราะเป็นการลำดับความสำคัญของสิ่งของระหว่างทางได้แก่ card ใน product backlog จนกว่าที่เราจะไปถึงภาพสุดท้าย จงคิดเสมอว่าเป็นเรื่องปกติที่ของใน product backlog จะถูกสับเปลี่ยนได้เสมอ
  4. Think Win/Win ในขณะที่เราทำงานเป็นเรื่องปกติที่เราจะต้องทำงานกับหลายๆ paties เราเลยจำเป็นที่จะต้องดีลให้ระหว่าง Team และ Stakeholders ให้เกิดความสัมพันธ์แบบ Win/Win เช่น ในเคสที่เกิดมี defect เข้ามาแทรกใน Sprints เป็น defect ก้อนใหญ่มาก แต่เราเหลือเวลาในการทำงานน้อยลงมากเลยนะ แล้วการ์ดที่เหลือล่ะ ทีมอาจจะเสนอว่า Feature ที่ทำเสร็จอาจจะน้อยลงนะ และขอให้ product owner เรียงลำดับการ์ดเหล่านั้นใหม่ สุดท้าย defect นั้นถูกแก้ และ Team ก็ได้ทำทุกอย่างโดยเต็มที่ที่สุดเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายพอใจในผลลัพธ์ในตอนสุดท้าย
  5. Seek First to Understand, Then to be Understood เวลาที่เกิดปัญหาขึ้นเรามักจะโทษว่าเป็นความผิดของคนอื่นก่อน หรือเวลาที่เกิดความคิดเห็นที่หลากหลายเราก็ปิดหูไม่ยอมฟังคนอื่นเลย Habit ข้อนี้เลยบอกว่างั้นก็จงฟังก่อน ฟังถึงปัญหาให้ถ่องแท้ ก่อนที่เราจะตีโพยตีพายไปก่อน เมื่อเราเข้าใจปัญหาเราก็จะหาวิธีที่ดีที่สุดในการออกจากปัญหานั้นได้ สิ่งเหล่านี้มักเกิดขึ้นในพิธีกรรม Retrospective
  6. Synergize สำหรับ Agile team การร่วมมือกันคือกุญแจสำคัญที่จะประสานพลัง Synergize ให้กับทีม เมื่อมีสมาชิกคนใดคนหนึ่งเกิดติดปัญหา เราจะกระโดดเข้าไปช่วยทันที เพราะเรารู้ดีว่าถ้าปัญหาไม่ถูกแก้ สิ่งที่เรา Begin with the in mind จะไม่มีทางเกิดขึ้นเลย มีหลายเครื่องมือที่จะช่วยเพิ่ม Synergize ให้กับทีมได้ เช่น การมี Calendar Sharing ในแต่ละสัปดาห์มี 1 วัน 1–2 ชั่วโมง ที่ทีมหันหน้าคุยกันแล้วแชร์ความรู้ ปัญหา และวิธีการแก้ปัญหาเหล่านั้น
  7. Sharpen the Saw บ่อยครั้งที่เราบอกกันนักกันหนาว่า Agile team ในอุดมคติคือทีมที่เป็น Cross functional team นะ สมาชิกหนึ่งคนสามารถมีสกิลที่หลากหลาย สามารถขับเคลื่อนงานให้ลุล่วงได้ แม้จะขาดคนใดคนหนึ่งไป ดังนั้น Agile team โดยเฉพาะพวกเราที่ ODDS จึงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องการฝึกฝนตัวเองมาก เพราะเราเชื่อว่าสิ่งนี้จะทำให้เราส่งมอบของให้กับลูกค้าได้อย่างมีคุณภาพ และยั่งยืน :)

สุดท้ายหลังจากจบคลาส ผมพยายามตกผลึกความรู้สึกนึกคิดหลังจากที่ได้ลองวาดภาพวันที่ผมจัดงานเกษียณในความฝันและความเป็นจริง ว่าจะมีใครมาที่งานของผม และพูดอะไรกับผมบ้าง สิ่งที่ได้จากบทเรียนครั้งนี้คือ ผมพบว่าอาจมีคนสำคัญหลายคนที่ผมฝันว่าอยากจะเจอเค้าในวันนั้น แต่มีหลายต่อหลายคนที่ผมคิดว่าเราคงไม่ได้เจอกันอีก เพราะในความจริง เราได้ถูกคั่นด้วยโลกแห่งความเป็นและความตาย ยิ่งทำให้ผมฉุดคิดขึ้นได้ว่า

เราควรที่จะ take effort พลังแรงกายพลังแรงใจ ไปกับบุคคลเหล่านั้นก่อน เพราะแม้ถึงเวลานั้น ความฝันจะไม่สามารถกลายเป็นความจริงได้ เราก็ได้ทำทุกอย่าง อย่างสุดความสามารถ และมันมีค่ามากพอแล้ว

ขอบคุณทุกท่านที่อ่านมาจนถึงตอนจบ ขอขอบคุณพี่จั๊วะที่เปิดคลาสที่ดีอีกคลาสของปี 2023 และแม้ผ่านล่วงเลยมาจนถึงปีใหม่ 2024 คลาสนี้ก็ยังเป็นคลาสที่ผมประทับใจมากสุดๆ อยู่ดี

--

--

Napatsakorn Pianchana
odds.team

เข้าใจตัวเองให้มากกว่าเข้าใจคนอื่น ฟังให้มากกว่าพูด และจงผิดพลาดซะ เพราะนั่นคือหนทางเดียวที่จะเรียนรู้ ODDS|