ส่วนผสมที่กลมกล่อม

Chonlasith Jucksriporn
odds.team
Published in
2 min readDec 27, 2018

ได้มีโอกาสดูคลิปหนึ่ง ที่ตัดมาจากการพูด TED Talk ของ Yves Morieux เขาพูดถึงการแข่งวิ่งผลัดของทีมชาติฝรั่งเศสแข่งกับทีมชาติอเมริกา ในช่วงแรกเขาเปรียบเทียบให้ดูแบบรายคน ก็พบว่า นักกีฬาของอเมริกาแต่ละคน วิ่งเร็วกว่านักกีฬาของฝรั่งเศส ดังนั้นเราสามารถเดาได้เลยว่า ตอนเวลาแข่งวิ่งผลัดจริง ๆ ทีมชาติอเมริกาจะต้องชนะแน่ พวกเราส่วนใหญ่ ก็คงคิดแบบนั้นเหมือนกันกัน

ลองไปดูคลิปที่ว่าบน Youtube กันเลย https://www.youtube.com/watch?v=Rgm_408HV38

เราจะเห็นว่ามันไม่ใช่อย่างที่พวกเราคาดเดากัน ทีมชาติฝรั่งเศสกลับชนะทีมชาติอเมริกาไปได้ สิ่งที่เขาบอกคือ การร่วมมือกันของทุกคนในทีมต่างหากที่ทำให้ทีมชาติฝรั่งเศสเอาชนะทีมชาติอเมริกาได้ เรื่องแบบนี้ตรงกับคำกล่าวของอริสโตเติลที่ว่า

The Whole is Greater than the Sum of its Parts
— Aristotle

หรือหมายความว่าคุณค่าของทั้งหมดมีค่ามากกว่าการเอาคุณค่าของแต่ละอย่างมารวมกัน … นั่นไง แม่งชวนงงกว่าเดิมอีก เอาเป็นว่าเรียกสั้น ๆ ง่าย ๆ ว่า “1+1 > 2” ละกัน

พอลองเอามาคิดถึงเรื่องการกินอาหาร ตอนเวลาเราไปกินข้าวที่ร้านอาหารไทย เรามักจะสั่งอาหารหลาย ๆ ประเภท เช่น ผัด ทอด แกง คละ ๆ กัน เพื่อให้ได้ความหลากหลายในการกิน แต่ถ้าเราสั่งอาหารหลายอย่างแต่เป็นประเภทเดียวกันทั้งหมด ถึงแม้จะเป็นอาหารขึ้นชื่อ แต่ละอย่างก็อร่อย เอามากินรวม ๆ กันก็คงไม่อร่อย เช่น ทั้งโต๊ะสั่งแต่แกงจืด 4–5 อย่าง รสชาติรวม ๆ ก็จะออกไปทางเดียว ทำให้อาหารมื้อนั้นดูจืดชืด ขาดความหลากหลาย ถึงแม้จะบอกว่าอาหาร 5 อย่าง จะเป็น “1+1+1+1+1 > 5” ก็ตาม ก็คงได้กว่า 5 ไม่มากนัก ยิ่งกินไปนาน ๆ อาจจะพาลให้เหลือน้อยกว่า 5 เสียอีก

ความหลากหลายนี่เองที่เป็นส่วนทำให้อาหารทั้งโต๊ะความอร่อยมันเพิ่มมากขึ้น เพราะรสชาติที่มันสนับสนุนกันและกัน สมมติให้ความอร่อยของผัดผักเป็น 1 คะแนน ความอร่อยของปลาทอดเป็น 1 คะแนน ความอร่อยของต้มยำเป็น 1 คะแนน ความอร่อยของผักลวกจิ้ม 1 คะแนน ความอร่อยของเครื่องดื่มอีก 1 คะแนน แต่พอเราเอาคะแนนมารวมกัน กลับไม่ใช่ 5 คะแนนตรงไปตรงมา กลับเป็นตัวเลขที่มากกว่านั้นและถ้ามันลงตัวพอดี มันจะไม่ใช่เลย 5 มานิดหน่อย แต่จะเลย 5 ไปมากเลยทีเดียว เราเรียกสิ่งนี้ว่า Diversity and Inclusion

Diversity มีความหมายว่า ความหลากหลาย ความหลากหลายนี้จะหมายถึงความหลากหลายในเชื้อชาติ เพศ ศาสนา อายุ ชนชั้นในสังคม กายภาพ ชาติกำเนิด ความเชื่อทางการเมือง และแน่นอนสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ ความหลากหลายในเรื่องความสามารถส่วนบุคคลด้วย

ส่วน Inclusion จะหมายถึงการมีส่วนร่วม ซึ่งนอกจากจะให้มีส่วนร่วมแล้ว จำเป็นต้องจะให้อำนาจในการมีส่วนร่วมด้วย (empowerment) หากเพียงแค่เข้ามามีส่วนร่วมแล้ว แต่ไม่ให้อำนาจอะไร ไม่ให้มีบทบาทอะไร ก็คงจะเรียกว่ามีส่วนร่วมได้ไม่เต็มปาก

เมื่อพูดถึงทีมที่เราทำงานอยู่นั้น Diversity and Inclusion เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะความหลากหลาย ย่อมก่อให้เกิดไอเดีย เกิดความคิดใหม่ ๆ ในหลาย ๆ มุมมอง และทางออกของหลาย ๆ ปัญหา มักจะเกิดจากการเอาไอเดียหลาย ๆ ด้านมารวมกันจนได้เป็นคำตอบ

พอมองย้อนกลับมาที่ทีม developers หากในทีมเรามีแต่คนที่เขียน API อย่างเดียว อีกทีมทำแต่ mobile ที่เป็น iOS อย่างเดียว อีกทีมทำแต่ android อย่างเดียว อีกทีมทำ web front end อย่างเดียว เราเรียกทีมแบบนี้ว่า component teams ปัญหาของการทำทีมแบบนี้คือ ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า requirement inventory ก็คือในบางช่วงของการ develop product อาจจะมี feature ใหม่ที่ต้องทำเฉพาะบน API อย่างเดียว นั่นแปลว่า requirement มันจะมากองอยู่ที่ทีมที่ทำ API ส่วนทีมอื่น ๆ เหรอ ก็ว่างไง หรือไม่ก็ทำของที่ยังไม่ได้มีคุณค่าให้กับองค์กรตอนนั้น เรียกง่าย ๆ ว่า ทำของที่ไม่มีประโยชน์อยู่ก็ได้

การแก้ปัญหาง่าย ๆ คือ เอาคนที่มีความสามารถต่าง ๆ กัน มาคละกัน ให้ทุกทีมสามารถทำได้ทุกอย่าง เพื่อให้งานสามารถไหลเข้าทีมไหนก็ได้ ทีมที่มีคนที่มีความสามารถต่าง ๆ มาอยู่รวมกันแบบนี้ เราเรียกว่า cross-functional team

การสร้าง cross-functional team ไม่ได้ทำได้แค่วิธีคละทีมใหม่วิธีเดียว แต่ยังสามารถใช้เทคนิคการเพิ่มความสามารถให้แต่ละคนในทีมได้ด้วยเช่นกัน คนในทีมเดิมอาจจะมีความสามารถในลักษณะ I-Shaped อยู่ คือรู้ลึกเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่ไม่รู้เรื่องอื่นเลย เช่น เขียน API ก็จะเขียนแต่ API ได้อย่างเดียว ไม่สามารถทำ mobile ได้ หรือไม่สามารถทำ UX/UI ได้ หากเราสามารถเพิ่มความสามารถด้านอื่น ๆ ที่เขาไม่เชี่ยวชาญทีละเล็กทีละน้อยให้เปลี่ยนจาก I-Shaped เป็น T-Shaped คือ รู้ลึกเรื่องใดเรื่องหนึ่งเหมือนเดิม แต่รู้ตื้น ๆ อีกหลายเรื่อง สามารถทำงานได้หลากหลายมากขึ้น แต่อาจจะทำได้ช้าหน่อย แต่เขาจะเชี่ยวชาญหลากหลายมากขึ้น เราเรียกว่า Skill/Knowledge Acquisition บางคนอาจจะเพิ่มความสามารถด้าน UX/UI เข้ามา บางคนเริ่มทำ web frontend ได้ ความหลากหลายก็จะเพิ่มมากขึ้นได้เช่นกัน เมื่อเวลาผ่านไป T-Shaped ก็จะมีความสามารถที่กว้างขึ้น และเริ่มลึกขึ้น

เมื่อมองย้อนกลับไปที่คลิป TED talk ในตอนแรก จะเห็นได้ว่า นักวิ่งผลัด จริง ๆ เขาอาจจะไม่ได้ต้องการความหลากหลาย เพราะเป้าหมายของเขาคือความเร็วในฐานะทีมวิ่งผลัด สิ่งที่เขาต้องการคือความสามารถในการวิ่ง และการประสานงานกันและกัน เขาสามารถเพิ่มความสามารถเชิงลึกเพียงอย่างเดียวได้ แต่พอเป็นเรื่องอาหาร เป้าหมายของอาหารไม่ใช่เพียงแค่ทำให้ตัวเองอร่อย แต่ต้องทำให้ส่วนรวมอร่อยด้วย จึงไม่สามารถเน้นความอร่อยเชิงลึกเพียงอย่างเดียวได้ แต่ต้องสนับสนุน และผลักดันความอร่อยของอาหารที่อยู่บนโต๊ะเดียวกันด้วย

ลองมองกลับไปที่ทีมที่เราทำงานด้วยตอนนี้นะ ทีมเราถูกสร้างมามีเป้าหมายเพื่ออะไร ส่วนผสมในทีมลงตัวไหม หากมองทีมเป็นอาหารบนโต๊ะตัวหนึ่งแล้ว ทีมเรากลมกล่อมพอแล้วหรือยัง

pingback: https://chonla.com/2018/12/27/perfect-ingredient/

--

--