เส้นทางที่เราเดินซ้ำ ๆ

Taewapon B.
odds.team
Published in
Jun 3, 2024

อยากจะมาแชร์หนึ่งในช่วงที่ผมชอบที่สุดจากคลาส Nonviolent Communication (NVC) แบบพื้นฐานของพี่จั๊ว Chokchai Phatharamalai หน่อยครับ

Photo by Lili Popper on Unsplash

ลองนึกภาพทุ่งหญ้าสีเขียวที่มีทางเดินที่เกิดจากร่องรอยที่ถูกเดินไปมาซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกลายเป็นเส้นทางเดินที่ชัดเจน มันคือทางเลือกที่เราเลือกมันอยู่ซ้ำ ๆ จนกลายเป็นเส้นทางที่เราใช้ประจำในการเดินทาง สิ่งนี้แหละคือ นิสัย หรือ Neural Path

พี่จั๊วเล่าประมาณว่าเราทุกคนมีกระจกของตัวเองคนละบานในการมองโลกใบนี้ และมันจะดีมากถ้าเรารู้ว่า เรามีรอยเลอะตรงไหนของกระจกบ้างที่ทำให้เรามองโลกนี้ในรูปแบบที่เป็นเรา (ประสบการณ์, ปม, อคติ) เราควรรู้ว่ามีรอยเปื้อนตรงไหนของกระจกเราบ้าง เราให้คุณค่ากับสิ่งไหน มีปมเรื่องอะไร ชอบ/ไม่ชอบสิ่งไหน แล้วหลังจากนั้นคือการควบคุมไม่ให้เราใช้รอยเปื้อนนั้นตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ ไปโดยอัตโนมัติ

พฤติกรรมที่เราตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ ไปโดยอัตโนมัติมันเกิดจากการที่เราได้รับนิสัยหรือ Neuron Path มา ซึ่งอาจจะมาจากทั้งผู้ปกครอง, สิ่งแวดล้อม หรือในบางครั้งเราก็สร้างมันขึ้นมาเอง และเป็นธรรมดามาก ๆ ที่คนเราจะเลือกทางเดิม เนื่องจากเราอยู่กับสิ่งนั้นมานาน และมันก็สะดวกดีที่จะใช้ อีกอย่างคนเราเมื่ออยู่ในช่วงเวลาคับขัน เราเองก็จะเลือกของที่เราคุ้นเคย มากกว่าของที่เราไม่เคยใช้มาก่อน

แล้วต้องทำยังไงไม่ให้เราโต้ตอบกลับไปแบบอัตโนมัติล่ะ ? มันคือการปูเส้นทางใหม่ ๆ (นิสัย/Neural Path ใหม่) ให้เราเดินได้โดยการหาเวลาที่เรารู้ตัวแล้วมโนสิ่งนั้นในหัวให้ชัด ชัดจนเหมือนจริง ทั้งสิ่งที่ต้องการ อารมณ์ และความรู้สึกที่เราอยากให้เป็น

เช่น ปกติเราตอบกลับแฟนด้วยอารมณ์และน้ำเสียงที่ไม่น่ารัก เราก็ลองมโนภาพที่เราต้องการให้เป็น ภาพที่เราตอบกลับเค้าแบบใจเย็น มองด้วยสายตาอ่อนโยน มโนให้ชัด ทำบ่อย ๆ จนสร้างเป็นนิสัย แล้วสุดท้ายมันจะเป็นทางแยกเล็ก ๆ ที่เราสามารถใช้ได้จริง ๆ อาจจะเดินลำบากในช่วงแรก (10 ครั้งอาจจะสำเร็จแค่ 1 ครั้ง) แต่ทางมันจะใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จนเราเดินบนเส้นทางนี้ได้อย่างสะดวกเป็นประจำในท้ายที่สุด

(จุดเริ่มต้นเลยคือการนั่งมโน ตอนที่เรารู้ตัวว่าเราโทษตัวเองให้หยุดแล้วบอกตัวเองว่าสิ่งนี้ไม่ได้เติมพลังเรา การโทษตัวเองไม่ได้ช่วยอะไร เพราะมันเป็นอดีตสิ่งที่เราทำได้คือการเปลี่ยนอนาคตต่างหาก เพราะแม้ว่าสิ่งที่เรามโนจะไม่เกิดขึ้นจริง แต่สมองบางส่วนของเราไม่รู้เรื่องนั้น เป็นเหมือนการเทรนสมองให้รองรับเหตุการณ์ล่วงหน้า ปูทางเชื่อมในสมอง หลักการเดียวกันกับ “กฏแรงดึงดูด”)

“ตราบใดที่ความสัมพันธ์นั้น ยังเป็นความสัมพันธ์ที่มีค่าแล้วคุณพร้อมจะให้เวลา ให้สมาธิแล้วอยู่กับมัน คุณสามารถโปะดินไปบนสะพานใด ๆ ก็ได้ … โปะดินไปบนสะพานเรื่อย ๆ จนกระทั่งสะพานสายสัมพันธ์นั้นมันแข็งแรง”

--

--