ให้ Flow เป็นจรรยาบรรณ

ความรักก็เช่นกัน

Chokchai Phatharamalai
odds.team
1 min readSep 6, 2020

--

ตอนผมไปเรียน Nonviolent Communication TIP (NVC TIP) กับอาจารย์หลิ่ง (กัญญา ลิขนสุทธิ) ผมได้ทำกิจกรรมให้เห็นมุมมองที่แตกต่างของคำว่า ความรัก

Photo by Everton Vila on Unsplash

ความรักที่เป็นความต้องการ กับ ความรักที่เป็นความรู้สึก

ความรักที่เป็นความต้องการ คือการตระหนักรู้ ว่าฉันต้องการจะให้ความรัก และอยากถูกรัก พอรู้แบบนี้แล้ว ผมเต็มใจจะพยายาม เพื่อตอบสนองความต้องการของผมเอง

ความรักที่เป็นความรู้สึก คือรักที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ เกิดจากความรู้สึก spark แล้วรักเลย ก่อนแต่งงาน ผมเคยมองความรักเป็นแบบนี้ ตอนหวานอะไร ๆ ก็ดีไปหมด แต่พอความรู้สึกนี้หายไปแล้ว ผมไม่เห็นทางออกอื่น นอกจากตามหารักครั้งใหม่

ผมเลือกที่จะมองความรักเป็นความต้องการ เพราะการมองแบบนี้ เปิดพื้นที่ให้ผมพยายาม ให้ผมทุ่มเทเพื่อให้รักคงอยู่ แม้ว่ามันจะยากลำบากก็ตาม เพราะผมคิดว่า พอเราแต่งงานกันไป มีลูกด้วยกัน เด็กต้องการเติบโตมาในสิ่งแวดล้อมที่เห็นพ่อแม่รักกัน แม้ว่าคนเราจะเปลี่ยนไปทุกวัน และความรู้สึกชอบที่เค้ามีต่อกันจะเปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบไหนก็ตาม

เวลาที่ผมบอกว่าผมรักภรรยาผม ผมไม่ได้พูดจากความรู้สึกดีที่มีต่อกัน ณ ขณะนั้น แต่ผมพูดจากความตั้งใจที่จะรักษาความสัมพันธ์ของเราไว้ให้ดียิ่งกว่าเดิมเรื่อยไป ไม่ว่าต่างคนจะต่างเติบโตและเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างไรก็ตาม

มันคือความตั้งใจที่จะไม่ยอมแพ้ ไม่คิดจะเริ่มต้นใหม่กับใครอีกแล้ว และจะใช้ทุกทางที่มีเพื่อให้รักคงอยู่ชั่วชีวิตของผม

รักงาน

พอคิดมาถึงตรงนี้ บทสัมภาษณ์ Mihaly Csikszentmihalyi ที่ผมเคยอ่านก็ผุดขึ้นมา

Mihaly เคยทำงานวิจัยโดยไปสัมภาษณ์ผู้คนมากมายหลายอาชีพที่เค้าเคยอยู่ในภวังค์แล้วสร้างผลงานที่ยอดเยี่ยมออกมา เค้าตั้งชื่อสภาวะนี้ว่า Flow

ตามความเข้าใจของผม สภาวะนี้คือสภาวะที่คนเรา productive ที่สุด เป็นสภาวะที่เรามีสมาธิเต็มที่ให้กับงานที่อยู่ตรงหน้า และเราก็มีความชำนาญมากพอที่จะทำให้ร่างกายเราตอบสนองกับสิ่งที่เกิดตรงหน้าอย่างอัตโนมัติโดยเราไม่ต้องเสียเวลาคิดแล้วว่าเอายังไงต่อดี แล้วผลงานที่ดีที่สุดที่เราทำได้ก็เกิดขึ้นเอง

และประโยคทิ้งท้ายที่ Mihaly ถามทิ้งไว้คือ

จะเป็นยังไงนะ ถ้าคนทำงานทุกคนในโลกนี้ไม่ให้ Flow เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่ใช้ Flow เป็นแนวทางที่เราพยายามจะไปให้ถึงทุกชั่วขณะที่เราทำงาน ให้ Flow จรรยาบรรณ

นาทีนี้ที่บทสัมภาษณ์ของ Mihaly แวบขึ้นมา ทำให้ผมอดคิดไม่ได้ว่า Flow เป็นความต้องการที่ผมอยากจะไปถึงทุกชั่วขณะที่ผมทำงาน และถ้าผมตั้งมั่นที่จะทำทุกทางที่ผมทำได้เพื่อไปให้ถึงความต้องการที่จะอยู่ในสภาวะนั้น นั่นแหละคือนิยามของคำว่า รักงาน ทำให้ผมพูดได้อย่างสนิทใจว่า “ผมรักงานที่ผมทำ”

ตลกดี อยู่ดี ๆ ก็ขนลุก และน้ำตาก็เอ่อขึ้นมา :)

References

--

--