Boundary
จากสกรัมมาสเตอร์เช็คลิสต์ สกรัมมาสเตอร์ดู 4 อย่าง
ตอนผมเป็นสกรัมมาสเตอร์มือใหม่สี่อย่างนี้เป็นเหมือนโฟลเดอร์
บางวันผมก็เปิดเช็คลิสต์ของ product owner แล้วก็ไล่เช็คทีละข้อ
บางวันผมก็เปิดเช็คลิสต์ของทีมแล้วก็ไล่เช็คเหมือนกัน
บางวันก็เปิด engineering practice แล้วบางวันก็เปิด organization
เพราะทำมานาน ๆ เส้นแบ่งระหว่าง 4 อย่างนี้มันก็จางลงเรื่อย ๆ
ผมเริ่มสอนสมาชิกในทีมว่าหน้าที่ของเขาไม่ใช่แค่เขียนโค้ดแต่เป็นการถนอมความรู้ที่เกิดขึ้นระหว่างการพัฒนาไปด้วย ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของ comment ในโค้ดหรือในรูป automate test แบบไหนก็ตาม ถามว่าสิ่งที่ผมกำลังสอนทีมอยู่นี่ เป็นการดูแลเรื่องทีมหรือ engineering practice ผมเองก็ไม่รู้เหมือนกัน
บางทีทีมสองคนแก้โค้ดตรงเดียวกันแล้วก็เกิด conflict การนั่งสังเกตุดูว่าเขา resolve conflict ยังไงเป็นการดูทีม, engineering practice หรือ organization นะ?
อีกตัวอย่างคือ การสังเกตดูสะพานใจระหว่าง product owner กับทีมว่ายังดีอยู่ไหมเป็นการดู product owner หรือทีมหรือ organization ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน
การสังเกตวิธีที่ product owner และทีมช่วยกันวางแผนของที่จะเข้าใน sprint ด้วยกันโดยคำนึงถึง dependency อื่น ๆ ในองค์กร ไม่รู้อยู่ในหมวด product owner, ทีมหรือ organization กันแน่
บางครั้งผมก็เห็นว่า dependency ที่เกิดขึ้นกับสกรัมทีมอีกทีมหนึ่งเป็นสัญญาณบอกให้เรารวม backlog เข้าด้วยกัน เพื่อขยาย definition ของ product ของทีมให้กว้างขึ้น แต่การรวม backlog มันไม่ง่าย ใครจะเป็น product owner, ทีมจะอยู่ร่วมกันอย่างไร, ทักษะที่ไม่เท่ากันจะถูกแลกเปลี่ยนอย่างไร โดยยังคงสภาพ self-organized, co-located ทีมอยู่ ของเหล่านี้มันซับซ้อน ต้องมองหลายมิติ และถ้าถามผมว่านี่คือเรื่องของทีม, product owner หรือ organization มากกว่ากัน ผมได้แต่ยอมแพ้ ยิ้มเจื่อน แล้วขอตอบว่าช่างมันได้ไหม?
เดี๋ยวนี้ไม่ว่าจะเป็น product owner, ทีม, engineering practice หรือ organization มันไม่ใช่โฟลเดอร์สำหรับผมอีกต่อไปแล้ว มันเป็น tag นั่นหมายความว่าบ่อยครั้งผมจะเห็นว่าแต่ละอย่างที่ผมกำลังสังเกตหรือ intervene มันสัมพันธ์มากกว่าหนึ่งหมวดในของที่สกรัมมาสเตอร์ต้องสนใจ
นอกจากขอบเขตระหว่างสี่เรื่องนี้จะเบลอแล้ว ขอบเขตของสกรัมกับ Agile methodology อื่น ๆ ก็เบลอเลยด้วยเช่นกัน
ยกตัวอย่างเช่น Test-Driven Development ก็เป็นหนึ่ง engineering practice ที่ถูกคิดใน eXtreme Programming และเป็นที่ยอมรับแพร่หลายในหลายสกรัมทีมว่าเป็น engineering practice ที่ดี
หลายสัปดาห์ก่อนผมโพสต์บทความว่ามันไม่มีบทบาทอไจล์โค้ชในสกรัมนะ ซึ่งเนื้อหาในบทความนะเหมือนเกรี้ยวกราดเกินกว่าที่ผมจะชอบ แม้มันจะถูกแชร์เยอะกว่าบทความอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัดก็ตาม ผมตีความว่าคนไทยชอบอาหารรสจัด :P
หลังจากโพสต์เสร็จผมก็ภาวนาว่าวันนึงผมจะมีโอกาสได้เล่าเรื่องนี้แบบที่เกรี้ยวกราดน้อยลงบ้าง แล้วผมคิดว่าบทความที่กำลังพรั่งพรูออกมานี้คือการที่สมองของผมพยามจะตอบสนองกับคำภาวนานั้น