Comfort zone

Chokchai Phatharamalai
odds.team
Published in
1 min readJun 24, 2024
Photo by kike vega on Unsplash

“คุณกำลังอยู่ใน comfort zone”

ถ้าคุณเคยได้รับ feedback แบบนี้เหมือนกับผม น่าจะเข้าใจความรู้สึกผมว่าคำนี้มันกลืนยากขนาดไหน

30 ขวบปีแรกในชีวิตผม การออกนอก comfort zone ต้องใช้ความกล้าและความพยายาม การออกนอก comfort zone เป็นเรื่องยากลำบาก หลายครั้งที่ผมให้กำลังใจตัวเองว่า

อยากเป็นดาบที่คมกริบ จะหนีจากการทุบตีและเปลวไฟที่ร้อนแรงไม่ได้ เหล็กที่ถูกเผาจนแดงฉาน และถูกทุบครั้งแล้วครั้งเล่าเท่านั้น ที่จะกลายเป็นยอดดาบได้

แล้วการเรียนโยคะกับครูน้อง ก็ทำให้ความหมายของคำว่าออกนอก comfort zone ผมเปลี่ยนไปตลอดกาล

เช้าวันเสาร์ที่อากาศเย็นสบาย มีแสงแดดแรกของยามเช้าอ่อนส่องผ่านกระจกใสของห้องโยคะที่อยู่ชั้น 7 ของคอนโดแห่งหนึ่ง นอกหน้าต่างมีพุ่มไม้เขียว ๆ พุ่มเล็ก ๆ ที่คอนโดประดับไว้ มองไปไกล ๆ เห็นตึกใหญ่น้อยตามประสาย่านใจกลางเมือง

ครูน้องกำลังสาธิตการ drop back แบบไต่กำแพงลงไปเป็นสะพานโค้งให้ดู ครูยืนหันหลังให้กำแพง ห่างออกมา 1 ช่วงแขน แล้วครูก็ค่อย ๆ หงายหลังไป เอามือค่อย ๆ ไต่กำแพงลงไป พร้อมกับอธิบายไปพลาง ๆ

“ยืดอกไว้ตลอดนะ หายใจเข้า ค่อย ๆ หงายไป ใช้กระดูกสันหลังทีละข้อ พอใช้หลังสุดแล้วก็ค่อย ๆ งอขาช่วย ขาที่เป็นฐานต้องแข็งแรงตลอดเวลา”

หลังจากไต่ลงไปเป็นสะพานโค้งแล้วไต่ขึ้นมายืนเสร็จ ครูก็หันมายิ้มให้แล้วบอกว่า

“ลองให้โอกาสตัวเองลองดู ไม่ได้ก็ช่างมัน”

เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในคลาส ผมได้ทำอะไรที่ตัวเองไม่เคยทำมาก่อน ทุกครั้งที่คุณครูเอาสิ่งใหม่มาให้ลอง มันจะเป็นอีกก้าวนึงจากของที่ผมเคยทำพอดี

จากที่เคยหงายไปให้เห็นกำแพงแล้วกลับมายืน ก็เริ่มเอื้อมมือไปแตะ จากแตะก็ลองเอามือไต่ จากไต่ก็ลงลึกขึ้น ๆ จนถึงพื้น จากพื้นก็ค่อย ๆ ไต่กลับขึ้นมา

แต่ละสัปดาห์ที่ผ่านไป คุณครูจะมาพร้อมกับก้าวใหม่ ก้าวที่เป็นบันไดขั้นถัดไปของขอบความสามารถที่ผมเคยทำได้ เป็นบันไดขั้นที่ไม่ได้ทำให้ผมสิ้นหวังแบบไม่มีหวังจะทำได้ แต่ก็ไม่ได้ง่ายแบบที่เห็นภาพว่าตัวเองจะทำมันออกมาได้อย่างไร เป็นของที่มันอยู่ตรงกลางแบบที่ไม่รู้จริง ๆ ว่าจะทำได้ไหม เพราะไม่เคยทำมาก่อน ถ้าอยากรู้ก็มีแต่ต้อง “ลองดู”

และทุกการฝึก โอกาสลองจะมีแค่ 2–3 ครั้ง แล้วเราก็ต้องไปต่อ เพราะเวลาในคลาสมันจำกัด เพราะรู้ว่าโอกาสมีแค่นี้ ทุกครั้งที่ลองผมก็จะทำสุดความสามารถเพื่อจะได้ไม่เสียดายโอกาส

ในทางกลับกัน คุณครูจะคอยเตือนให้ผมอยู่กับลมหายใจ “ไม่เค้นลมนะ” “ถ้าหายใจไม่สะดวกแล้วก็พอ” “หมั่นสังเกตร่างกายตัวเอง” ครูคอยพร่ำเตือน

ประสบการณ์แต่ละคลาสค่อย ๆ ขัดเกลาคำว่า “ออกนอก comfort zone” ของผมให้เปลี่ยนไปทีละนิด การออกนอก comfort zone มันฝืนน้อยลง ใช้ความพยายามน้อยลงเรื่อย ๆ และมีความอ่อนโยนให้กับตัวเองมากขึ้นในทุก ๆ ครั้งที่สังเกตลมหายใจตัวเอง

แล้วปรากฏการณ์ใหม่ก็ผุดขึ้นมาจากขอบเส้นของ comfort zone นี้ ราวกับต้นกล้าเล็ก ๆ ที่แทรกใบอ่อนขึ้นมาเหนือดิน มันคือ “ความสนุก”

มันตื่นเต้นมาก เพราะไม่รู้ผมจะทำมันได้ไหม ถ้าร่างกายมันอนุญาตก็ดี ถ้าไม่ก็ช่างมัน ไม่คาดหวังกับผลลัพธ์ ไม่เปรียบเทียบกับใคร แค่ลองดูเพียงเพราะอยากรู้ผลเท่านั้นว่าทำได้ไหม

พออยู่ในสภาวะนี้ กระบวนการสร้างทักษะของร่างกายก็ทำงานของมันเอง ความยืดหยุ่น ความแข็งแรง ใยประสาทที่เชื่อมโยงไปยังกล้ามเนื้อมัดต่าง ๆ ที่ผมไม่เคยรู้จัก เทคนิคใหม่ ๆ และความเข้าใจในเรื่องการทรงตัว ถ่ายน้ำหนัก สมดุลย์

เก็บสะสมทุก ๆ เกร็ดทักษะเหมือนหยอดเหรียญใส่กระปุก แล้ววันนึง จากบันไดที่ก้าวขึ้นไปไม่ได้ ก็เริ่มได้บ้างเมื่อองค์ประกอบมันสมบูรณ์ จนกลายเป็นบันไดที่ผมก้าวผ่านซ้ำ ๆ จนไม่ต้องคิดอะไรมากแล้ว ทุกท่วงท่ามันเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติเหมือนแปรงฟัน

พอมองย้อนกลับไปเห็นตัวเองที่เคยมองบันไดก้าวนั้นด้วยความตื่นเต้นแบบที่ไม่รู้ว่าจะทำมันได้ไหมตอนลองครั้งแรก มัน 50/50 แบบไม่รู้จะออกหัวหรือก้อย ก็อดภูมิใจในพัฒนาการของตัวเองไม่ได้

ที่ผมหยิบเอาเรื่องนี้มาแบ่งปันเพราะการออกนอก comfort zone มันอาจจะไม่ต้องยากก็ได้ อยู่กับลมหายใจ ทำให้มันสนุก แล้วมันจะยั่งยืน

ปิดท้ายด้วย quote จากโค้ชกระสุน ในงาน ODDS Fest ครั้งที่ผ่านมา โค้ชมาแบ่งปันเรื่องการออกกำลังกาย ในช่วงถามตอบท้ายเรื่อง ผมยกมือถามโค้ชว่าเส้นแบ่งระหว่าง ฝืน กับ พยายามอยู่ตรงไหน

ถ้ามันไม่สนุก มันก็ไม่ใช่ความพยายามละ มันเป็นความดันทุรัง — โค้ชกระสุน

Credit

ครูน้องที่เป็นทั้งครูในเรื่องโยคะ, การโค้ชรวมถึงปรัชญาการใช้ชีวิตที่สะท้อนออกมาจากเสื่อโยคะ

--

--