Constructive Disagreement

image source: https://irc.queensu.ca/5-benefits-of-workplace-conflict/

เทคนิคนึงที่ผมใช้บ่อยมากในช่วงหลังๆนี้คือ Disagress & Commit ซึ่งถ้าใครไม่คุ้นเคยกับคำๆนี้ ผมอยากให้ลองอ่านบทความที่พี่รูฟ Ruv 48 เขียนไว้ ที่นี่ครับ https://shorturl.at/fzGT5 แต่ผมพบว่าการทำให้คนที่มีความเห็นไม่ตรงกันสามารถทำงานต่อไปได้อย่างวางใจโดยที่ไม่กลับมาด่ากันว่า “เห็นไหม กูบอกแล้ว” เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาภายหลังนั้นไม่ง่ายเลย มันน่าจะมีอะไรมากกว่านั้นนะ จนกระทั่งได้กลับมาอ่านหนังสือ Coaching Agile Teams แล้วมาเจอคำว่า “Constructive Disagreement” ก็พบว่า อ้อ มันมีองค์ประกอบในรายละเอียดอีกนะ ที่จะทำให้คน ok ที่จะไปต่อได้แม้จะไม่เห็นด้วย ลองมาดูกันครับว่าผมพบอะไรบ้าง

  1. เจตนา (Intention) — ในการถกเถียงกันแล้วโดนอีกฝั่งพูดแรงๆใส่ เราจะมีความรู้สึกด้านลบของคนโดนกระทำ (โดยคำพูดแรงๆ) ในหนังสือ Coaching Agile อธิบายถึงการมองทีม (ในฐานะ Agile Coach) ว่า เขาเชื่อว่าทุกคนมีความดีอยู่ถึงแม้ว่าคนคนนั้นจะมีพฤติกรรมที่รับมือได้ยาก (hard person) เพราะสุดท้ายแล้ว ทุกคนที่อยู่ในวงที่กำลังถกเถียงอยู่ ก็มีเจตนาเดียวกันคือ พยายามแก้ปัญหาเหมือนกัน เพราะฉะนั้น เราต้องฝึก แยกเจตนาที่จะแก้ปัญหา ออกจาก พฤติกรรมหรือคำพูดที่ไม่เข้าหู ออกจากกันก่อน ทั้งเขาและเราต่าวก็มีเจตนาที่ดีเหมือนกัน
  2. ความต้องการ กับ วิธีการ — สิ่งหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้จากการเรียน NVC (Non-Violent Communication) คือ คนทั่วไปมักจะคุ้นเคยกับการสื่อ “วิธีการ” ออกไป โดยไม่ได้สื่อสาน “ความต้องการ” ไปด้วย เลยทำให้คนฟังเข้าใจผิด
    — — — ตัวอย่างเช่น หัวหน้าเดินมาถามลูกน้องว่า “รู้ไหมว่านาย A อยู่ไหน” คนที่ได้ยินก็จะตีความเลยว่า นาย A ซวยละ ไม่รู้ว่าหัวหน้าจะพูดเรื่องอะไร เพราะหัวหน้าสื่อสารแค่วิธีการ คือ ให้บอกมาว่านาย A อยู่ที่ไหน
    — — — แต่ถ้าหัวหน้าบอกว่า “ผมติดงานนิดหน่อย อยากให้นาย A ช่วย รู้ไหมว่านาย A อยู่ไหน” แบบนี้เคลียร์กว่าเยอะ เพราะหัวข้อบอกความต้องการไปก่อนแล้วค่อยบอกวิธีการ
    ในการถกเถียงกัน เรามักจะสื่อสารถึง “วิธีการ” ที่เราคิดว่าดีกว่า โดยที่บ่อยครั้งเราไม่ได้สื่อถึง “ความต้องการ” หรือเหตุผลเบื้องหลังวิธีการนั้น อีกฝั่งเมื่อได้ยินแค่วิธีการไปเปรียบเทียบกับวิธีการของตัวเองและเกิดการเถียงกันที่วิธีการ โดยลืมวัตถุประสงค์หลักไป
  3. เป้าหมาย (Goal) — อีกเรื่องก็คือ เป้าหมายหรือปัญหาที่เราต้องการจะแก้ บ่อยครั้งที่ทุกคนมันจะไหลไปกับการสนทนาจนลืมว่าเราเถียงกันไปทำไม เช่น ทีมกำลังเถียงกันว่า จะออกแบบหน้าจอยังไง ซึ่งฝ่ายหนึ่งยึดแนวทาง Apple แต่อีกฝั่งยึดตามแนวทาง Google โดยลืมไปว่า user กำลังลำบากกับเรื่องอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวกับแนวทางของการออกแบบหน้าจอเลย เป็นต้น

เมื่อเราเข้าใจแล้วว่า วัตถุประสงค์ที่เรากำลังถกเถียงกันคือเรื่องอะไร คราวนี้ก็กลับมาที่แนวทางในการถกเถียงกันอย่างสร้างสรรค์ จะดีกว่าไหมที่แม้จะไม่เห็นด้วย แต่การเสนอความคิดที่แตกต่างนั้น นำไปสู่การเห็นภาพร่วมกันที่กว้างกว่าเดิม ครบมุมกว่าเดิม แต่ได้ผลลัพธ์ที่แก้ปัญหาได้อย่างที่ควรจะเป็น

แนวทางที่เป็นไปได้ เช่น

  1. วางวิธีการของตัวเองลงก่อน (อาจจะ note ใส่กระดาษเผื่อลืม) แล้วบอกไปว่าเราไม่เห็นด้วยนะ แต่อยากขอให้ช่วยอธิบายเพิ่มเติมว่า วิธีการที่อีกฝ่ายเสนอมานั้น มีเหตุผลอะไร ทำไมเสนอวิธีการนั้น ซึ่งจะช่วยให้เห็นมุมมองที่กว้างขึ้น
  2. ชวนให้กลับมามองปัญหาดั้งเดิม ว่าที่คุยกันยังอยู่ในกรอบเดิมอยู่ไหม หรือจริงๆแล้วกรอบเปลี่ยนไปแล้ว
  3. เสนอแนวทางที่แตกต่าง จากเหตุผลก่อนว่าเห็นต่างอย่างไร แล้วค่อยเสนอวิธีการที่เราคิดว่าดีกว่า แล้วขอ feedback ว่าเมื่อได้ยินแล้วมันดีกว่าหรือแย่กว่า มีข้อดีหรือข้อเสียยังไง
  4. หรือจากวิธีที่อีกฝ่ายเสนอมา เราอาจเสนออะไรบางอย่างเสริมเพื่อให้เห็นครบมุมขึ้น โดยอธิบายด้วยว่าอะไรที่เราเห็นว่ามันขาดไป จะดีกว่านะถ้ามีเรื่องนี้ด้วย

ด้วยแนวทางประมาณนี้ การถกเถียงก็จะสร้างสรรค์ขึ้น (more constructive) ได้รายละเอียดครบมุมขึ้น ได้เห็นทั้งเป้าหมาย ปัญหาที่อยากแก้ บริบทของการโต้เถียง วิธีการที่หลากหลาย ข้อดีข้อเสียของแต่ละวิธี หรืออาจะได้วิธีการใหม่ๆที่ผสมกันของหลายๆไอเดียก็เป็นได้ ถึงแม้สุดท้ายแล้วเราจะไม่เห็นด้วยก็ตาม

ก็อยากฝากไว้ครับ Constructive Disagreement และ Disagree & Commit ครับ

Reference:

--

--