Delegation poker

Chokchai Phatharamalai
odds.team
Published in
1 min readAug 21, 2019

ในการทำงานร่วมกัน บ่อยครั้งที่ผมอยู่ในสถานการณ์ที่กลุ่มต้องตัดสินใจร่วมกัน แล้วมันอึดอัดมาก เพราะการตัดสินใจเรื่องยาก ๆ โดยไม่ตกลงกันก่อนว่าเรื่องนี้ใครจะเป็นคนตัดสินใจกันแน่ มันทำให้ทุกอย่างดำเนินไปช้าจนน่าอึดอัด พออึดอัด เราก็อยากจะรีบ ๆ ตัดสินใจให้เสร็จ ๆ เพื่อให้ช่วงอึดอัดนี้ผ่านพ้นไป ปรากฏว่าทุกคนไม่เข้าใจเพราะเราคุยกันไม่พอ หรือเข้าใจแต่แอบไม่เห็นด้วย เพราะไม่มีโอกาสได้แสดงความเห็นว่าผมกังวลเรื่องอะไรในวิธีนี้ ทำ ๆ ไป ก็ระแวงไป แล้วก็ไม่ประสบผล ต้องกลับมาคุยกันใหม่ ตัดสินใจกันใหม่ ยิ่งเสียเวลากว่าเดิม

Delegation poker เป็นไพ่ที่ใช้คุยกันว่าเรื่องนี้หัวหน้าหรือทีมจะเป็นคนตัดสินใจ และจะมีส่วนร่วมกับการตัดสินใจมากน้อยแค่ไหน โดยแบ่งเป็น 7 level ดังนี้

Delegation poker, source: https://vividbreeze.com/delegation-poker/

3 level ทางซ้าย หัวหน้าเป็นคนตัดสินใจ 3 level ขวา ลูกน้อง empower แล้ว ตัดสินใจเองได้ มาทำไมความเข้าใจ 7 level กันก่อน

  • Tell — หัวหน้าบอกให้ลูกน้องทำตาม
  • Sell — หัวหน้าตัดสินใจ แล้วพยายามขายไอเดียให้ลูกน้องซื้อ
  • Consult — หัวหน้าถามความเห็นจากลูกน้อง แล้วตัดสินใจตามลำพัง
  • Agree — หัวหน้าหารือกับลูกน้องจนกว่าจะเห็นพ้องต้องกัน แล้วจึงตัดสินใจร่วมกัน (level นี้การตัดสินใจจะใช้เวลามากที่สุด เพราะไม่มีคนฟันธง)
  • Advise — หัวหน้าแนะนำลูกน้องว่าควรคำนึงเรื่องอะไรบ้างแล้วปล่อยให้ลูกน้องตัดสินใจ
  • Inquire — ลูกน้องตัดสินใจเอง ถ้าต้องการข้อมูลเพิ่มให้วิ่งมาถาม
  • Delegate — ลูกน้องตัดสินใจไปเลย ไม่ต้องกลับมาบอกผลด้วย ทำเอง เจ็บเอง รับผิดชอบเอง

เมื่อไหร่ควรใช้แบบไหน?

ปรกติหลักการตัดสินใจ ผมจะคำนึงระหว่าง 2 สิ่งคือ ประสิทธิภาพ (efficiency) กับ ประสิทธิผล (effectiveness)

ใน ประสิทธิภาพ ผมหมายถึงใช้เวลานานแค่ไหนในการตัดสินใจ ถ้าตามคำนิยามนี้ วิธีการโหวตโดยใช้เสียงข้างมาก มีประสิทธิภาพสูงมากเพราะแปปเดียวได้คำตอบ

ส่วนประสิทธิผล ผมหมายถึง ผู้ร่วมตัดสินใจรู้สึกอินกับการตัดสินใจนี้แค่ไหน จากที่ผมสังเกตการตัดสินใจที่ผมเคยทำมา สิ่งที่ตัดสินใจแล้วเกิดผลหมายถึงถูกเอาไปทำต่อให้เกิดขึ้นจริง เป็นการตัดสินใจที่ผมอิน รู้สึกเชื่อมโยงกับผลการตัดสินใจครั้งนี้ หรือรู้สึกมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ

ต้องใช้เวลาเยอะ ๆ เหรอ ถึงจะอิน

ไม่จำเป็น ทีมที่เชื่อใจกัน รู้ใจกัน รู้จักนิสัยใจคอกัน ไม่ต้องพูดกันเยอะก็ตัดสินใจร่วมกัน และรู้สึกผูกพันกับการตัดสินใจของทีมได้ จริงอยู่ว่าเวลาที่ผมไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของทีม ถ้าผมมีโอกาสได้แสดงความคิดเห็นว่าผมกังวลเรื่องอะไรถึงไม่เห็นด้วย และได้ฟังเพื่อน ๆ ในทีมว่าทำไมเค้าถึงอยากทำวิธีนี้ ทำให้ความรู้สึกผูกพันกับการตัดสินใจนี้สูงขึ้นมาก แต่สำหรับทีมที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาจนเข้าขากันแล้ว บางครั้งเราก็ละการสื่อสารเหล่านี้ไว้ในฐานที่เข้าใจได้ แต่บางครั้งปรากฏว่าเราละไว้ในฐานที่ไม่เข้าใจก็มี :D

ผมนึกถึง 7 level นี้ตลอดเวลาที่ตัดสินใจ เพราะ เวลาผมเลือกคนตัดสินใจผิด ผลการตัดสินใจก็ไม่มีความหมาย แม้ว่าบางครั้ง ผลการตัดสินใจของผมกับของทีมจะออกมาเหมือนกันก็ตาม

Credits

Thanks Anna for introducing me to delegation poker! I find it very useful. :)

--

--