Empathic listening การฟังด้วยหัวใจ

Chokchai Phatharamalai
odds.team
Published in
2 min readFeb 19, 2020

ย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปีที่แล้ว เป็นตอนที่ผมเรียนการสื่อสารเพื่อสานสัมพันธ์ (Non Voilent Communication) มาถึงขั้น 2 และผมก็ตัดสินใจจะเรียน NVC กับอาจารย์หลิ่งให้สุดสาย เรียกว่าปีนั้น พี่เค้าเปิดอะไรมา ผมลงเรียนทุกรายการ

สรุปแล้วคอร์สที่ได้เรียนไปมีดังนี้

  1. การสื่อสารเพื่อสานสัมพันธ์ขั้นพื้นฐาน
  2. การสื่อสารเพื่อสานสัมพันธ์ ขั้น 2
  3. Family Constellation & Attachment Theory
  4. Self Sabotage
  5. NVC TIP (แบ่งเป็น 3 ครั้ง ครั้งละ 4 วัน รวม 12 วัน)
ภาพจาก www.ccithailand.com

ตอนเรียน NVC TIP ครั้งที่ 2 ตอนจบคอร์ส ผมไปไหว้อาจารย์หลิ่งแล้วก็ขอบคุณทั้งน้ำตา ตอนนั้นผมบอกอาจารย์ว่า ก่อนเรียนกับพี่หลิ่ง ความสัมพันธ์สำหรับผมเปรียบเหมือนแก้วน้ำ ผมไม่รู้เลยว่าวันไหนจะมีสถานการณ์มากระทบมัน ผมใช้ชีวิตด้วยความกังวล เพราะกลัวว่าวันหนึ่งสถานการณ์จะทำให้แก้วที่สำคัญมันร้าวไป เพราะแก้วที่ร้าวแล้ว มันไม่มีวันกลับมาเป็นเหมือนเดิมอีก แก้วบางใบที่ร้าวมาก ๆ แล้ว ผมได้แต่เอามันตั้งไว้บนหิ้ง หันด้านไม่ร้าวออกมาโชว์ แล้วตั้งมันทิ้งไว้อย่างนั้นจนหยากไย่ขึ้น แม้จะเอามาขัดมาเช็ดยังไม่กล้า เพราะกลัวว่ามันจะแตกสลายคามือไป

วันนี้ที่ได้ทักษะการสื่อสารเพื่อสานสัมพันธ์ติดตัวมา ความสัมพันธ์ทั้งหมดก็เปลี่ยนไป วันนี้เข้าใจแล้วว่าทำไมอาจารย์ถึงสอนว่าความสัมพันธ์เป็นเหมือนสะพานเชื่อมจากใจถึงใจ และเราจะโปะดินไปบนสะพานได้อย่างไร

พอรู้ดังนี้ ผมก็เริ่มโปะดินไปบนสะพานที่สำคัญ ๆ เช่นสะพานของผมกับพ่อและแม่ สะพานระหว่างผมกับภรรยา สะพานของผมกับลูก มันใช้พลังงานและเวลาเยอะมาก ๆ เลย ในการค่อย ๆ เสริมความแข็งแรงให้กับสะพานเหล่านี้ แต่ถ้าถามว่าคุ้มไหม ผมตอบอย่างไม่ลังเลว่าคุ้มที่สุด เพราะคนเหล่านี้คือคนสำคัญสำหรับผม

ทุกวันนี้ผมไม่ต้องคอยอยู่อย่างหวาดระแวงว่าวันไหนความสัมพันธ์ที่สำคัญ ๆ จะแตกสลายไปโดยที่ผมทำอะไรไม่ได้เลยอีกแล้ว ชีวิตผมดีขึ้นมาก พอหลังบ้านเราแข็งแรง จะทำงาน จะสร้างสรรค์คุณค่าให้สังคมก็ง่ายขึ้นมาก

ทักษะหนึ่งที่ได้จากการฝึกในตอนเรียน NVC TIP คือ Empathic listening ซึ่งผมเรียกมันว่าการฟังด้วยใจ

ตอนเรียน NVC TIP เราจะมีการจับคู่เพื่อเป็น empathy buddy กัน โดยคู่ buddy นี้ต้องโทรคุยกันสัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง ผลัดกันเล่าเรื่องและให้อีกฝ่ายสะท้อนความรู้สึกและความต้องการที่สัมผัสได้เป็นเวลา 25 นาที แล้วก็เก็บ feedback กัน 5 นาที เสร็จแล้วก็ผลัดตากัน

คนเราผิดหวังได้

เพราะเราโตแล้ว เรารู้ดีว่าเราจะไม่สมหวังเสมอไป เมื่อไหร่ที่ความต้องการของเรามันไม่ได้รับการตอบสนอง เราก็จะปั่นป่วน และเริ่มครองสติได้ยากขึ้น ในสภาวะนั้น ความสามารถในการสร้างสรรค์ หรือตัดสินใจก็จะแย่ลงไปหมด ยิ่งความต้องการที่ไม่ได้รับการตอบสนองยิ่งสำคัญเท่าไหร่ อารมณ์ก็จะยิ่งรุนแรงตามเท่านั้น สภาวะนี้บางครั้งถูกเรียกว่า amygdala hijack

วิธีหนึ่งที่จะทำให้เราหายปั่นป่วนคือการตอบสนองความต้องการนั้น เหมือนเด็กลงไปนอนดิ้น ๆ กับพื้นจะเอาของเล่น พอได้ของเล่นก็สงบ แต่การตอบสนองด้วยวิธีนี้เราทำไม่ได้ทุกครั้งไป

อีกวิธีการหนึ่งที่ทำให้เราสงบได้ในสภาวะแบบนั้นคือการที่มีคนมารับรู้ว่าเรารู้สึกอย่างไร และต้องการอะไร ถ้ามีคนมา name ถูกว่าผมรู้สึกอย่างไร amygdala ของผมก็จะสงบลงครึ่งนึง และถ้า name ได้ด้วยความต้องการที่ไม่ได้รับการตอบสนองนั้นคืออะไร บางครั้งผมจะสงบลง 100% เลย ผมจะทำใจได้ และข้ามสภาวะปั่นป่วนนั้นไป

เพราะแบบนี้ เวลาคนเราปั่นป่วน เราจึงมักจะโทรหาเพื่อนคนที่จะรับฟังเรา เข้าอกเข้าใจเรา เพราะการที่ความต้องการที่ไม่ได้รับการตอบสนองถูกใครซักคนรับรู้ มันเป็นการยืนยันตัวตนของเรา เป็นการยืนยันถึงการมีอยู่ของจิตใจเราและความต้องการของเรา

ความมหัศจรรย์ของการ name ความต้องการ

คนบางคนก็สามารถ name ความรู้สึกและความต้องการของตัวเองได้ คนบางคนก็ยังทำไม่ได้ เพราะตอนเราเกิด ทุกคนไม่มีทักษะนี้ ทักษะนี้ไม่สามารถฝึกฝนด้วยตัวเองได้ เป็นทักษะที่ต้องรับมาเท่านั้น

ปรกติแล้ว เด็กจะได้รับทักษะนี้มาจากผู้เลี้ยงดู ทุกครั้งที่ พ่อแม่สะท้อนความรู้สึกและความต้องการของลูกได้ตรงใจ วงจรในสมองที่ชื่อ attachment circuit ก็จะวนหนึ่งรอบ เมื่อถูกกระตุ้น วงจรนี้ก็จะแข็งแรงขึ้นนิดนึง หากแข็งแรงพอ คน ๆ นั้นจะสามารถสะท้อนความรู้สึกและความต้องการของตัวเองได้ในที่สุด

บางคนอาจจะไม่ได้โชคดีได้รับทักษะนี้จากสิ่งแวดล้อมที่เติบโตมา แต่ก็ยังมีโอกาสพัฒนาทักษะนี้ได้ตอนโต โดยการโทรปรึกษาเพื่อนตอนกลุ้มใจ พอเพื่อนสะท้อนความรู้สึกและความต้องการเราได้โดนใจ เราก็จะได้พัฒนาทักษะนี้ และสงบลงอีกนิดนึง

สรุปแล้ว การ name ความรู้สึกและความต้องการได้โดนใจ นอกจากจะทำให้เราสงบลงได้แล้ว ยังช่วยพัฒนา attachment circuit ในสมองเราอีกด้วย

ผมกับ empathy buddy ก็ฝึกกันแบบนี้แหละ สัปดาห์ละ 25 นาที และเก็บ feedback 5 นาที แล้วก็ผลัดกัน ฝึกทุกสัปดาห์จนมันเป็นธรรมชาติ เป็นเนื้อเป็นตัวของเรา

บ่ายวันเสาร์เม๊ากับจั๊วะ

จั๊วะรู้สึกโชคดีมากที่ได้รับโอกาสพัฒนาทักษะนี้จากเพื่อนร่วมคอร์สที่อาจารย์หลิ่งสอน และอยากจะส่งต่อโอกาสนี้ให้กับคนอื่นบ้าง เลยตัดสินใจเอาเวลาส่วนตัวทุกเย็นวันเสาร์มาทำแคมเปญ “บ่ายวันเสาร์เม๊ากับจั๊วะ” เพื่อให้ใครก็ได้โทรคุยกับจั๊วะครึ่งชั่วโมง และครึ่งชั่วโมงนั้นจั๊วะตั้งใจจะใช้ทักษะ empathic listening ที่ผมมีสะท้อนความรู้สึกและความต้องการให้ ซึ่งถ้าวันไหนจั๊วะฟอร์มดี คนโทรมาน่าจะได้รับ empathic listening คือการฟังอย่างเข้าอกเข้าใจ ถ้าวันไหนฟอร์มตก อาจจะได้แค่ active listening คือการฟังอย่างตั้งอกตั้งใจแทน :P

อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ที่ผมฝึกกับ empathy buddy มา ผมพบว่าเวลา buddy สะท้อนความรู้สึกหรือความต้องการมาแล้วไม่ตรง แต่การที่ผมได้รู้ว่าอันนี้ไม่ใช่ก็มีประโยชน์อยู่ดีเพราะมันช่วยให้ผมชัดเจนขึ้น

ผมตั้งใจจะทำสิ่งนี้ไปจนกว่าจะหมดแรงหรือไม่มีใครสนใจมาเม๊ากับผมแล้ว หากคุณสนใจ สามารถลงชื่อได้ที่ลิงค์ด้านล่างนะครับ แล้วผมจะรีบติดต่อกลับไปครับ

https://forms.gle/8mhhzL3gwXBKe4729

ผมขออุทิศบุญกุศลนี้ให้พ่อแม่และครูบาอาจารย์ที่ช่วยทำให้ผมมีวันนี้ครับ

ขอบคุณที่สละเวลาอ่านครับ

Credits

สุดท้ายนี้ขอขอบคุณ หมอปีย์, น้องดุ๊ก, พี่มอลลี่, พี่เต๋า, จิ๊บ, น้องพัท, พี่แบงค์, ชิงชิง, น้องท็อป, เสียะ ที่ไว้วางใจมาเป็น alpha และ beta tester ให้ feedback จากพวกคุณ ทำให้กิจกรรมนี้ออกมาในรูปที่ดีกว่าที่ผมคาดฝันไว้มาก ขอบคุณจากใจครับ

ขอบคุณอาจารย์หลิ่งครับ ผมเอาบทความนี้ให้พี่หลิ่งอ่านเพื่อขออนุญาตเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนในบทเรียน นอกจากพี่หลิ่งจะอนุญาตและให้กำลังใจแล้ว พี่ยังช่วยตรวจทานและทักตรงที่ผมใช้คำแตกต่างจากที่พี่สอน เพื่อให้ผมเลือกอีกว่าอยากใช้แบบไหน ถ้าความเข้าใจที่ผมแบ่งปันตรงนี้ ผิดเพี้ยนไปจากที่พี่หลิ่งสอน ผมขอรับผิดชอบเองนะครับ ผมเขียนจากการตีความของผม และเลือกคำที่จะใช้เอง

Reference

Further reads

--

--